เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3
ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้กรมชลประทานจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้กับชาวบ้านบางระกำ จ.นครปฐม 24 ราย รวมกว่า 8 ล้านบาท ชี้ประมาทเลินเล่อในการบริหารจัดการน้ำ เมื่อปี 2549
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาสั่งให้กรมชลประทานชดใช้ค่าเสียหายให้กับเกษตรกร รวม 24 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 8,261,211 บาท จากเหตุจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการบริหารจัดการน้ำ กรณีเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาบรรลือ คลองพระพิมล คลองมหาสวัสดิ์ และคลองอื่น ๆ ที่อยู่ทางทิศเหนือของ ต.บางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม พร้อมกัน จนทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านเสียหายเมื่อปี พ.ศ. 2549
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก นายชนะพล การดำริห์ และพวกรวม 24 คน ซึ่งเป็นเกษตรกรปลูกพืชสวนในพื้นที่ ต.บางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม ยื่นฟ้องกรมชลประทานต่อศาลปกครองกลาง หลังกรมชลประทานยอมเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาบรรลือ คลองพระพิมล คลองมหาสวัสดิ์ ตามที่ถูกชาวบ้านซึ่งอยู่ด้านเหนือ อ.บางเลน ประกอบด้วยพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี กดดัน เพื่อระบายน้ำท่วมขังเมื่อครั้งมหาอุทกภัยใหญ่เมื่อปี 2549
ศาลปกครองเห็นว่า กรมชลประทานมีหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2549 ที่เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ กรมชลประทานอ้างว่า มีแนวทางการปฏิบัติในการระบายน้ำรวมทั้งหมด 8 ขั้นตอน แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรมชลประทานไม่ได้ใช้แนวทางการปฏิบัติดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเมื่อมีน้ำปริมาณมหาศาลค้างอยู่ด้านเหนือ ต.บางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม นานถึง 2-3 เดือน กรมชลฯ ควรเร่งระบายน้ำ ด้วยการเปิดประตูระบายน้ำตามแผนการระบายน้ำอย่างเหมาะสม พร้อมใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ขุดลอกคูคลองในเขตรับผิดชอบ และบริหารจัดการน้ำไปยังด้านที่มีอุปกรณ์ในการระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ด้านตะวันออก คือ แม่น้ำบางปะกง
แต่กรมชลประทาน กลับระบายน้ำลงมาด้านตะวันออกที่ไม่มีอุปกรณ์พร้อม ในปริมาณน้ำที่ใกล้เคียงกันหรือมากกว่าในทิศตะวันตก ทั้งยังพบว่า ไม่มีการแจ้งเตือนประชาชนผู้อยู่อาศัยในเส้นทางน้ำไหลผ่านให้เฝ้าระวัง และไม่เตรียมแผนรองรับน้ำไหลบ่าอย่างเหมาะสม ดังนั้นเมื่อไม่สามารถบริหารจัดการน้ำค้างทุ่งได้ เพราะถูกกดดันจากผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วม จึงมีการเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมดในคราวเดียวกัน
จนเป็นเหตุให้น้ำไหลบ่าเข้าที่ดินทำกินของชาวบ้าน ทั้ง 24 คน ภายใน 2 วัน และท่วมขังอยู่นาน 60 วัน ทั้งที่พื้นที่ของผู้ฟ้องทั้งหมดไม่เคยประสบภาวะน้ำท่วมเลย แม้แต่ในปี 2538 ที่มีเหตุน้ำท่วมใหญ่ ประกอบกับพบว่า กรมชลไม่เคยมีหนังสือแจ้งเตือนภัยไปยังผู้ว่าฯ จ.นครปฐม ให้ระวังภัยน้ำท่วม อันเนื่องมาจากการปล่อยน้ำดังกล่าวด้วย
ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่า กรมชลประทานได้กระทำการโดยประมาท ปราศจากความระมัดระวัง ทั้งที่เป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีความรู้ในการบริหารจัดการน้ำโดยตรงของประเทศ แต่กลับไม่ใช้ความเป็นมืออาชีพบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กลุ่มผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อนจริง ดังนั้นจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องร้อง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ของเงินต้นของแต่ละคนนับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 อันเป็นวันทำละเมิด เป็นต้นไป ซึ่งกรมชลประทานต้องชำระเงินให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา
อย่างไรก็ตาม สำหรับยอดเงินความเสียหายที่ศาลมีคำสั่งให้กรมชลประทานชดใช้ทั้ง 24 คนนั้นพบว่า ยอดต่ำสุดอยู่ที่ 7,571 บาท สูงสุดอยู่ที่ 1,949,580 บาท รวมเป็นเงินที่ชาวบ้านทั้ง 24 คน จะได้รับ คือ 8,261,211 บาท
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก