เทคโนโลยีการบูรณะฟันแบบเซรามิกมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ปัจจุบันเซอร์โคเนียจัดเป็นเซรามิกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการนำมาใช้ในการผลิตเป็นครอบฟัน หรือ สะพานฟัน เนื่องจากมีคุณสมบัติที่โดดเด่นทางด้านความแข็งแรง และความสวยงาม แต่มีข้อเสีย คือ ไม่สามารถขึ้นรูปด้วยวิธีปกติทั่วไปได้
ทีมวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป จึงพัฒนาเทคโนโลยีการขึ้นรูปชิ้นงานทันตกรรมด้วยคอม พิวเตอร์ทั้งระบบ (Dental CAD/CAM/CNC) ชนิดระบบที่มีการเคลื่อนที่แบบ 4 แกน และ 5 แกน เข้ามาช่วยในการผลิตครอบฟัน และสะพานฟัน จากเซรามิกเซอร์โคเนีย ที่เน้นการใช้งานง่ายสำหรับช่างเทคนิคทันตกรรม และชิ้นงานที่ได้มีคุณภาพและความเที่ยงตรงสูงมากเมื่อเทียบกับกรรมวิธีดั้งเดิม
ดร.กฤษณ์ไกรพ์ บอกว่า สำหรับการทำครอบฟัน จะต้องมีค่าใช้จ่ายซี่ละ 16,000-17,000 บาท ทำให้การครอบฟันส่วนใหญ่ยังใช้วิธีเดิม คือ การปั้นแต่งขี้ผึ้งด้วยมือบนแบบพิมพ์ปูนปลาสเตอร์จากปากคนไข้ เพื่อใช้ในการหล่อเหวี่ยงเป็นฐานโลหะ จากนั้นจึงเคลือบเซรามิกที่ผิวหน้าทำให้ต้องใช้ช่างผู้ชำนาญมาช่วยในการผลิต ซึ่งการผลิตแต่ละครั้งจะไม่ได้มาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนไม่สามารถผลิตได้จำนวนมาก และต้องใช้เวลานานในการผลิตครอบฟันเพียง 1 ซี่
ทีมวิจัยจึงพัฒนาเครื่องจักรสำหรับงานทันตกรรม เรียกว่า “Dental CAD/CAM/CNC” โดยเป็นเทคโนโลยีการขึ้นรูปชิ้นงานด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งระบบ เพื่อช่วยในการผลิตครอบฟัน สะพานฟัน และมีประสิทธิภาพในการผลิตวัสดุเทียบเท่าต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการครอบฟันให้ถูกลงกว่าเดิมอีกประมาณ 30-40%
ทั้งนี้ประสิทธิภาพของเครื่องที่พัฒนาขึ้น จะมีความคงทน แม่นยำสูง และผลิตได้จำนวนมาก ประมาณ 30 ซี่ ในเวลา 8 ชั่วโมง ช่วยประหยัดเวลา
โดยใช้เวลาออกแบบด้วยซอฟต์แวร์ เดนทัล แคด (Dental CAD) เพียง 5 นาที จากนั้นส่งเข้าเครื่อง เดนทัล แคม (Dental CAM) ที่เปรียบเสมือนไดร์ฟเวอร์ปรินเตอร์ ซึ่งในที่นี้ปรินเตอร์ก็คือ เครื่อง เดนทัล ซีเอ็นซี ( Dental CNC) ที่จะใช้ในการผลิตครอบฟันหรือสะพานฟันออกมา
ซึ่งเดนทัล ซีเอ็นซี คือเครื่องจักรที่ใช้เทคนิคการขึ้นรูปด้วยการเคลื่อนที่แบบ 4 แกน คือ x y z และแกนหมุนรอบแกน x ทั้งนี้ใช้เวลาในกระบวนการผลิตทั้งหมด 10 ชั่วโมง โดย 7 ชั่วโมงคือขั้นตอนการเผาเซรามิกให้ได้ชิ้นงาน ซึ่งเตาเผาเซรามิกสามารถเผาเซรามิกได้พร้อมกันสูงสุด 80 ซี่
ดร.กฤษณ์ไกรพ์ บอกว่า เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมามีโครงการจากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาติดต่อทีมวิจัยเกี่ยวกับการทำครอบฟันเซรามิก ซึ่งคณะทำงานมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องจักรซีเอ็นซี จึงทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการขึ้นและได้รับทุนสนับสนุนจาก สวทช. โดยกรณีที่เป็นการทำครอบฟันจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้เครื่อง ซีเอ็นซี ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่ควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ แต่เป็นการย่อสัดส่วนกัดชิ้นงานเซรามิกลงมาเพื่อใช้ในงานทันตกรรม โดยทีมวิจัยได้พัฒนาเครื่องครอบฟันรวมถึงพัฒนาส่วนอื่น ๆ ทั้งระบบเพื่อให้สามารถนำมาใช้งานได้อย่างเกิดประสิทธิภาพ
นักวิจัย บอกอีกว่า สำหรับเครื่องลักษณะดังกล่าว ยังใช้ไม่แพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีไม่ถึง 10 แห่ง ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทั้งระบบค่อนข้างสูง ทีมวิจัยจึงเน้นการพัฒนาทั้งระบบ เพื่อทดแทนการนำเทค โนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศ
ระบบดังกล่าว ได้มีการทดสอบในระดับคลินิกที่บริษัท สุธาสินี เด็นทัล จำกัด ซึ่งมีห้องปฏิบัติการทันตกรรมและคลินิกรักษาฟันและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ของคณะกรรมการจริยธรรมการทดลองในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยของรัฐ
ปัจจุบันมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนและมีผู้มารับบริการดังกล่าวแล้วหลายร้อยราย ซึ่งอายุการใช้งานของครอบฟันดังกล่าวนั้นจะขึ้นอยู่กับการใช้ฟันของแต่ละคน เหมือนฟันที่สึกหรอไป โดยอาจมีอายุประมาณ 5-10 ปี
ซึ่งทีมวิจัยกำลังพัฒนากระบวนดังกล่าวให้ก้าวสู่มาตรฐานมากยิ่งขึ้นต่อไป.