ในสมัยดึกดำบรรพ์ หญิงโสเภณีไม่มีราคาหรือไม่ถือว่าต่ำช้า เพราะในสมัยนั้นไม่ถือธรรมเนียมหรือคุณค่าทางพรหมจารี การสมสู่เป็นไปโดยเสรีและสะดวก ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่า ชาวสลาฟโบราณถือว่า หญิงดีมีค่านั้นจะต้องมีชายรักใคร่เสน่หาร่วมประเวณีมาก่อนสมรส ถ้าสามีตรวจพบว่าภริยาของตนมีพรหมจารีที่ยังไม่ถูกทำลายก็มักไม่พอใจ บางรายถึงขนาดขับไล่ไสส่งภริยาไปก็มี เนื่องจากอุดมคติในเรื่องพรหมจารีมีอยู่เช่นนี้ จึงทำให้ผู้หญิงบางหมู่แสวงหาเครื่องหมายจากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของชายคู่รักเพื่อเก็บไว้อวดชายที่มาเป็นสามี เมื่อเสรีภาพในการร่วมประเวณีมีอยู่เช่นนั้น หญิงโสเภณีในยุคแรกเริ่มเดิมทีก็นับว่าไม่มี
จากการศึกษาพบว่า หญิงโสเภณีมีกำเนิดมาจากพิธีการทางศาสนา ปฏิบัติกันอยู่ในเอเชียตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ คือหญิงสาวจะต้องกระทำพิธีสละพรหมจารีของตนเพื่อบูชาเทวีผู้ซึ่งมีชื่อเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ของอินเดียได้แก่พิธีบูชาพระแม่กาลีซึ่งบางทีก็เรียก "ทุรคาบูชา" (ฮินดี: Durgapuja) พิธีเช่นว่านี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีความรู้สึกฝังใจอยู่กับชายคนแรกที่เธอร่วมประเวณีด้วย การสละพรหมจารีดังกล่าวจึงกระทำเพื่อบูชาเทวีเบื้องบนเสีย และชายผู้ร่วมประเวณีด้วยนั้นก็มักจะเป็นแขกแปลกหน้าที่หญิงนั้นไม่รู้จัก โดยถือกันว่าชายแปลกถิ่นเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะนำโชคลาภมาสู่ตน
การสละพรหมจารีด้วยการร่วมประเวณีกับชายแปลกหน้านั้นบางแห่งก็มีสิ่งตอบแทน หญิงชาวบาบิโลนโบราณพากันมานั่งคอยชาวแปลกหน้าในวิหารเจ้าแม่อิชตาร์ (Ishtar) เพื่อเข้าสู่พิธีสละพรหมจารีกับชายแปลกหน้า ถ้าชายพึงใจในหญิงคนใดก็จะโยนเหรียญมาที่ตักของเธอ หญิงที่ได้รับเหรียญจะต้องลุกตามเขาไปทันทีเพื่อประกอบพิธี โดยไม่ว่าเงินที่ชายโยนให้นั้นจะมากน้อยเพียงไร เมื่อได้พลีพรหมจารีแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่ หญิงนั้นจะได้กลับไปบ้านเมืองและครองชีวิตอย่างมีเกียรติพร้อมกับตั้งหน้าคอยโชคลาภต่อไป หญิงที่รูปไม่งามอาจต้องนั่งรอชายแปลกหน้าเป็นเวลาหลายปี บางท้องที่ก็มีพิธีกรรมทางโสเภณีเพื่อการศาสนา เช่น นักบวชหญิงร่วมกันจัดพิธีกรรมต่าง ๆ ทางโสเภณีซึ่งถือว่าเป็นการพลีกายเพื่อศาสนา เงินที่ได้จากพิธีกรรมทางเพศดังกล่าวจะส่งเข้าบำรุงศาสนา บางแห่งหญิงสาวต้องไปวัดเพื่อขอให้นักบวชชายเบิกพรหมจารีให้ โดยถือว่านักบวชเป็นตัวแทนของพระเจ้า บางแห่งหญิงสาวอุทิศตนเป็นนางบำเรอประจำวัด เพื่อร้องรำทำเพลงบำเรอพวกนักบวชและพวกธุดงค์ที่มาสักการะเทพเจ้าในสำนักตน ทั้งหมดนี้เป็นจุดกำเนิดของหญิงโสเภณีในปัจจุบัน แต่โสเภณีทางศาสนาดังกล่าวมาแล้วกระทำในคลองจารีตประเพณีของศาสนา ไม่อื้ออึงหรืออุจาดนัก
ต่อมาเกิดมีธรรมเนียมใหม่คือ หญิงสาวหันมาเป็นโสเภณีเพื่อสะสมทุนทรัพย์สำหรับสมรส ชายที่สมสู่ไม่ต้องวางเงินบนแท่นบูชาแต่ให้ใส่ลงในเสื้อของหญิง ภายหลังหาเงินได้สองสามปีก็จะกลับบ้านเพื่อแต่งงาน และถือกันว่าหญิงที่ได้ผ่านการเป็นโสเภณีมาแล้วเป็นแบบอย่างของเมียและแม่ที่ดี การปฏิบัติของหญิงโสเภณีประเภทหลังนี้ บางคนก็กระทำไปโดยมิได้เกี่ยวข้องกับพิธีทางศาสนาเลย
ครั้นกาลเวลาล่วงมา อารยธรรมในทางวัตถุนิยมเพิ่มมากขึ้น การโสเภณีทางศาสนาค่อยเลือนลางจางไป โดยมีโสเภณีทางโลกเข้ามาแทนที่ โรงหญิงโสเภณีโรงแรกจึงถือกำเนิดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ โดยเป็นโรงหญิงโสเภณีสาธารณะ เก็บเงินรายได้บำรุงการกุศล ผู้จัดตั้งชื่อ "โซลอน" (Solon) เป็นนักกฎหมายและนักปฏิรูป วัตถุประสงค์ในการตั้งโรงหญิงโสเภณีดังกล่าวมีสองประการ คือ 1) เพื่อคุ้มครองอารักขาความบริสุทธิ์ให้แก่ครอบครัวของประชาชน มิให้มีการซ่องเสพชนิดลักลอบและมีชู้ และ 2) เพื่อหารายได้บำรุงการกุศลต่าง ๆ
จากนั้นโสเภณีก็ได้คลี่คลายขยายตัวเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นอยู่อย่างปัจจุบัน