แมรี เซอร์แรทท์ สตรีคนแรกที่ถูกประหาร ในสหรัฐอเมริกา

 

นางแมรี เซอร์แรทท์

 

"ขอร้องเถอะ อย่าปล่อยฉันตกลงไป"

เป็นคำพูดสุดท้ายที่หลุดออกจากปากของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ที่ถูกลงโทษตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

ผู้หญิงที่คงไม่อยากได้รับเกียรติให้จารึกชื่อเป็นเบอร์หนึ่งคนนี้คือ นางแมรี เซอร์แรทท์ แมรีถูกพิพากษาว่ามีความผิดใหญ่หลวง ฐานเป็นผู้สมคบคิดกันลอบสังหารอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีผู้โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา!!

 

 

การประหารนางแมรี และผู้สมรู้ร่วมคิด

 

เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่า อับราฮัม ลินคอล์น ถูกลอบสังหารโดยนํ้ามือของ จอห์น วิลค์ส บูธ เมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1865 หลังจากที่ลินคอล์นได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐฝ่ายเหนือกับสมาพันฝ่ายใต้ที่มีความเห็นไม่ลงรอยกัน โดยเฉพาะเรื่องระบบทาส ผิวสีในสหรัฐฯ ซึ่งท่านประธานาธิบดีต้องการเลิกให้หมดไป แต่ฝ่ายใต้ไม่เห็นด้วยจนเกิดการสู้รบกันพักใหญ่

แต่ในที่สุดฝ่ายใต้ซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่าก็ยอมวางอาวุธ แต่ความไม่พอใจที่ยังคงอยู่ก็นำมาซึ่งการวางแผนลอบสังหาร ซึ่ง จอห์น วิลค์ส บูธ ผู้ลั่นกระสุนบันลือโลกตะโกนก้องว่า ฝ่ายใต้แก้แค้นได้สำเร็จแล้ว ก่อนจะหนีไปแต่ต่อมาไม่นานนักก็ถูกจับตาย

 

การลอบสังหารประธานาธิบดีลินคอล์น

 

จอห์น วิลค์ส บูธ ไม่ได้เป็นคนเดียวในแผนการลอบสังหาร มีพลพรรคอีกหลายคนที่ร่วมอยู่ในขบวนการวางแผนปลิดชีพ ลินคอล์น ซึ่งเป้าหมายของการสืบสวนทั้งหมดพุ่งตรงไปที่บ้าน 2 หลัง ที่แรกคือบ้านในชนบทของครอบครัวเซอร์แรทท์ ที่อยู่ในเขตปรินซ์จอร์จ ห่างจากวอชิงตันไม่มากนัก คือใช้เวลาขี่ม้าไปราวๆ 2 ชั่วโมง เป็นสถานที่ซึ่ง จอห์นและแมรี เซอร์แรทท์ คู่สามี-ภรรยาซื้อที่ดินผืนใหญ่ไว้ สร้างเป็นโรงแรม และพื้นที่นี้ก็รู้จักกันดีในนาม เซอร์แรทท์วิลล์ เป็นที่ซึ่งลูกๆของทั้งคู่เติบโตขึ้น โดยเฉพาะลูกคนหัวปีของครอบครัวคือ จอห์น จูเนียร์

 

               จอห์น วิลค์ส บูธ (John Wilkes Booth)   จอห์น จูเนียร์ เซอร์แรทท์ (John Surratt)

                         ผู้ลั่นกระสุนสังหาร                          ลูกชายของนางแมรี

 

บ้านอีกหลังหนึ่งที่ตำรวจสืบเสาะไปถึงก็ยังเป็นบ้านของ แมรี เซอร์แรทท์ ที่ถนนไฮด์ในวอชิงตัน เป็นบ้านที่เธอย้ายมาอยู่หลังสามีเสียชีวิตและเปิดธุรกิจห้องเช่า ส่วนบ้านในชนบทที่เซอร์แรทท์วิลล์นั้น ได้ปล่อยให้อดีตนายตำรวจที่ชื่อ  จอห์น ลอยด์ เช่าอยู่


เหตุผลที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองสืบเสาะไปถึงที่กบดาน ทั้ง 2 แห่งของตระกูลเซอร์แรทท์ ก็เพราะว่าได้พบ หลักฐานการสมคบคิดเพื่อวางแผนลอบสังหารโดยบุคคลหลายคน นอกจากจอห์น วิลค์ส บูธ แล้วก็ยังมีกลุ่มเพื่อนๆ เช่น  จอห์น จูเนียร์ เซอร์แรทท์ ลูกชายเจ้าของบ้าน รวมถึง เดวิด เฮอร์โรลด์, ลูอิส พาวเวลล์ หรือ ลูอิส เพน และจอห์จ แอทซีรอดท์ โดยเฉพาะจอห์น จูเนียร์ที่มีการสืบพบว่าตัวอยู่เหนือ แต่ใจเป็นฝ่ายใต้ ลอบทำตัวเป็นสายลับส่งข้อมูลให้ฝ่ายใต้อยู่เรื่อยๆ ก็ไม่แปลกหากจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารนี้ และยังพาเพื่อนๆ มาประชุมวางแผนกันที่บ้านแม่อยู่หลายครั้งก่อนลงมือ

 

             บ้านเช่าของนางแมรี ถ่ายในปี 1890        บ้านหลังนี้ปัจจุบันกลายเป็นร้านอาหารจีน

 

ปัญหาก็คือ ในการมาร่วมประชุมกันบ่อยๆนั้น ผู้เช่าบ้านรายหนึ่งซึ่งก็เป็นเพื่อนเกลอกันของพวกผู้ก่อการนี้ด้วย คือ หลุยส์ ไวช์แมน ได้พบเห็นอาการพิรุธของกลุ่มสมคบคิดนี้บ่อยครั้ง และเมื่อเกิดเหตุขึ้น ไวช์แมน ก็ตัดสินใจเป็นพยานให้ฝ่ายรัฐ ให้การปรักปรำคุณนายแมรีเจ้าของบ้านว่ารู้เห็นเป็นใจ และแถมยังน่าจะร่วมวางแผนด้วย โดยไวช์แมนให้การว่าเห็นแม่ม่ายเซอร์แรทท์กระซิบกระซาบกับมือปืน จอห์น วิลเคส บูธ อยู่บ่อยครั้ง


ไม่เพียงเท่านั้น ไวช์แมนยังมีคำให้การสำคัญว่า ก่อนเกิดการลอบสังหารไม่กี่ชั่วโมง คุณนายเซอร์แรทท์ได้ขอให้เขาช่วยว่าจ้างรถเพื่อเดินทางไปเซอร์แรทท์วิลล์ และตอนนั้นนั่นเองที่ ไวช์แมนอ้างว่าเห็นคุณนายพกห่อกระดาษยาวประมาณ 6 นิ้วไปด้วย จนเกิดการสันนิษฐานกันว่ามันอาจจะเป็นปืน และหลังจากกลับมา วอชิงตันแล้ว จอห์น วิลค์ส บูธ ก็ยังมาหาพูดคุยกับแมรี ซึ่งไวช์แมนก็ช่างสังเกต และให้การว่าหลังจากคุยกันแล้ว จู่ๆคุณนายเจ้าของบ้านก็เกิดอาการกระสับกระส่ายอยู่ไม่สุข และอีกไม่ถึง 7 ชั่วโมงหลังจากนั้น การลอบสังหารก็เกิดขึ้น

 

ปืนกระบอกที่ใช้สังหารประธานาธิบดีลินคอล์น

 

นอกจากไวช์แมนแล้ว คนเช่าบ้านที่เซอร์แรทท์วิลล์ คือ จอห์น ลอยด์ ก็เป็นอีกคนที่ให้การปรักปรำคุณนาย โดยลอยด์ให้การว่า เจ้าลูกชายตัวดีของแมรี ได้นำข้าวของมาทิ้งไว้จำนวนมาก เช่น เชือกยาว ปืนพร้อมเครื่องกระสุน ซึ่งเมื่อนำมาแล้วก็เอาไปเก็บซ่อนไว้ที่ชั้น 2 และก่อนการลอบสังหารจะเกิดขึ้น 3 วัน คุณนายเซอร์แรทท์ก็ยังมาเล่าให้ฟังเป็นนัยๆเรื่องแผนการลอบสังหารด้วย


และในวันเกิดเหตุหลังมรณกรรมของประธานาธิบดีลินคอล์นไม่นาน เดวิด เฮอร์โรลด์  หนึ่งในแก๊งสมคบคิดก็เดินทางมาเอาปืนแถมยังปากโป้งบอกลอยด์อีกว่า ไปร่วมขบวนการลอบสังหารประธานาธิบดีมา และเฮอร์โรลด์คนนี้นี่เองที่ได้หลบหนีไปพร้อมมือปืนสะท้านโลกก่อนจะไปจนมุมพร้อมกัน แต่เฮอร์โรลด์ชิงมอบตัวก่อนถูกวิสามัญ


คำให้การของไวช์แมนและลอยด์ ต่างเป็นคำให้การที่ปรักปรำคุณนายแมรีว่า มีส่วนสมคบคิดวางแผน และจัดการให้มีการลอบสังหารประธานาธิบดีแน่ๆ เจอแบบนี้ต้องเรียกว่างานเข้าเต็มๆ แถมคุณนายแมรียังต้องเจอกระแสเกรี้ยวกราดจากประชาชนผู้โกรธแค้น ในขณะที่รัฐบาลที่รับหน้าที่สืบต่อจากประธานาธิบดีลินคอล์นก็กำลังถูกมหาชนกดดันอย่างหนัก เพื่อให้หาคนผิดมาลงโทษโดยเร็ว

 

ใบประกาศจับผู้ร่วมขบวนการ

 

ดังนั้นแม้ทนายความของนางแมรีจะพยายามแก้ต่างอย่างสุดความสามารถ และตอกย้ำถึงคำให้การของพยานว่าไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะลอยด์ ซึ่งเป็นคนขี้เหล้าเมายา ที่สำคัญหากเราวิเคราะห์จากคำให้การต่างๆของลอยด์แล้ว ก็ดูจะไม่สมเหตุผลที่ผู้สมคบคิดทำการใหญ่จะมาเล่าโน่นเล่านี่ให้ขี้เมาคนหนึ่งฟัง

แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีอะไรยืนยันได้เลยว่า แมรีรู้เห็นเป็นใจด้วยหรือเปล่า และจะว่าไปผู้หญิงส่วนใหญ่ในยุคนั้นก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่องการเมืองสักเท่าไร จึงชวนสงสัยว่า แมรีจะเป็นเพียงคุณนายบ้านเช่าที่บังเอิญดวงซวยมีคณะผู้ก่อการร้ายมาประชุมกันอยู่ใต้หลังคาบ้านเท่านั้นเอง

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร ด้วยแรงกดดันของพลเมืองอเมริกัน รัฐบาลต้องเร่งคลายความขุ่นแค้นของสาธารณชนด้วยการลงโทษใครสักคนโดยเร็วที่สุด คำแก้ต่างของ แมรี เซอร์แรทท์ จึงถูกละเลย คณะผู้ตัดสินประกาศว่า นางแมรีเป็นผู้ผิดโทษถึงประหารชีวิต!

 

แมรี่ถูกจับโดยที่อาจจะไม่รู้เรื่องกับการลอบสังหารเลย

(ภาพจากภาพยนต์เรื่อง The Conspirator)

 

อย่างไรก็ตาม 5 ใน 9 ของคณะผู้พิพากษาเห็นว่า เธอเป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็กๆ แถมอายุก็เยอะแล้วสำหรับยุคนั้น คือ 45 ปี ดังนั้นจึงเสนอลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่แอนดรู จอห์นสัน รองประธานาธิบดีผู้ก้าวมารับตำแหน่งแทนประธานาธิบดีลินคอล์น กลับไม่ยอมลงนามลดโทษให้ แมรี เซอร์แรทท์ จึงถูกแขวนคอเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ.1865 หรือไม่ถึง 3 เดือน

หลังมรณกรรมของท่านประธานาธิบดีลินคอล์น เรียกว่าเป็นคดีที่รวดเร็วเป็นอย่างยิ่งเธอถูกประ

หารพร้อมๆกับคณะผู้ก่อการอีก 3 คน คือ จอร์จ แอทซีรอดท์, ลูอิส พาวเวลล์ หรือ ลูอิส เพน และเดวิด เฮอร์โรลด์ ในขณะ ที่จอห์น จูเนียร์ ลูกชายตัวดีผู้ชักศึกเข้าบ้านหลบหนีไปต่างประเทศ ก่อนจะถูกจับกลับมาดำเนินคดีในภายหลัง ที่สำคัญรอดไม่ได้รับการลงโทษอีกต่างหาก เลยยิ่งตอกย้ำคำถามที่ว่า การพิจารณาคดีครั้งแรกทำกันเร็วเกินไปหรือเปล่า ถูกกดดันมากไปหรือไม่

 

      จอห์จ แอทซีรอดท์    แมรี เซอร์แรทท์          ลูอิส เพน         เดวิด เอด็ดการ์ เฮอร์โรลด์

                 (George Atzerodt)          (Mary Surratt)                (Lewis Paine)                  (David E. Herold)

ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอทั้ง 4 คน

 

 

                 แซมมวล อาร์โนลด์    ไมเคิล โอลาฟเลน         ด็อกเตอร์แซมมวล มัดด์

                   (Samuel Arnold)           (Michael O'Laughlen)             (Dr.Samuel Mudd)

ผู้สมรู้ร่วมคิด 3 คน ถูกตัดสินจำคุกและทำงานหนักเป็นเวลา 6 ปี

 

จอห์น เซอร์แรทท์ (John Surratt) ลูกชาย

ถูกตัดสินให้พ้นโทษในที่สุด 

 

นักประวัติศาสตร์และนักกฎหมายรุ่นหลังๆ นำคดีของแมรี เซอร์แรทท์ มาศึกษากันอย่างกว้างขวาง รวมถึงมี การนำเรื่องราวการต่อสู้ในศาลมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Conspirator ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์และสภาพสังคมในขณะนั้น ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเลยที่ฟันธงว่า นางแมรีเป็นเพียงเหยื่อของขบวนการที่เรียกร้องความยุติธรรม แต่ไม่ได้มีความยุติธรรมในตัวเอง

 

แมรี เซอร์แรทท์ จึงเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกแขวนคอด้วยความยุติธรรม อันเป็นข้อสงสัยและไม่สามารถพิสูจน์ได้ มีเพียงคำพูดสุดท้ายที่บ่งบอกได้ว่า แมรีไม่ใช่ผู้หญิงใจแข็งอะไรนัก เมื่อเธอวิงวอนว่า "ขอร้องเถอะ อย่่าปล่อยฉันตกลงไป"

 

แต่ในที่สุดร่างของเธอก็ตกลงไป ทิ้งไว้เพียง

รอยด่างของกระบวนการยุติธรรมสหรัฐฯตลอดกาล...

 

ที่มา : ทีมงานนิตยสารต่วยตูน   ***************************************
Credit: http://www.krajeab.com/variety/view.php?id=252516
23 ก.ค. 56 เวลา 17:56 2,442 1 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...