เครือข่ายต่อต้านสารเคมีฯ เผยการซาวข้าวไม่ได้ล้างสารเมทิลตกค้างในข้าว


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม 
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          เครือข่ายต่อต้านสารเคมีฯ  เผยข้าวมีสารเมทิลตกค้างการซาวข้าวสารช่วยไม่ได้ เพราะสารจะแทรกอยู่ตามช่องว่างของโบรไมด์ไอออนซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย

          ปัญหาข้าวถุงยังคงเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทย ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2556  น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานมูลนิธิชีววิถี เครือข่ายต่อต้านสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าวถึงการตรวจสอบคุณภาพข้าวสารบรรจุถุงว่า การตรวจสอบสารเมทิลโบรไมด์ตกค้างในข้าวสารบรรจุถุงนั้น จะทดสอบโดยการวัดปริมาณของโบรไมด์ไอออน (Bromide Ion) ซึ่งแตกตัวมาจากสารเมทิลโบรไมด์ (Methyl Bromide) อีกที
 
          ทั้งนี้  น.ส.ปรกชล กล่าวว่า โบรไมด์ไอออนไม่ได้ตกค้างอยู่ที่ผิวเมล็ดข้าวด้านนอกทั่วไป แต่จะซึมลึกอยู่ในระดับโมเลกุลของข้าว ดังนั้น การที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตรวจเจอโบรไมด์ไอออนเกินกว่าค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) นั้น หมายความว่าจะต้องมีการรมข้าวซ้ำหลายครั้งมาก ถึงจะมีการตกค้างจำนวนมากขนาดนี้
 
          พร้อมกันนี้ น.ส.ปรกชล  ยังกล่าวว่า มูลนิธิฯ ตรวจพบโบรไมด์ไอออนในโมเลกุลข้าว 67.4 ppm ส่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจเจอถึง 94.2 ppm แบบนี้ถือว่าอันตราย เพราะเกินกว่าค่ามาตรฐาน 50 ppm ซึ่งเป็นปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit: MRL) ที่องค์การอนามัยโลกยอมรับว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ที่สำคัญโบรไมด์ไอออนที่ตรวจเจอจำนวนมากเช่นนี้ ไม่มีทางที่จะเป็นโบรไมด์ไอออนตามธรรมชาติ เนื่องจากมีข้าวถุง 12 ตัวอย่างที่ตรวจพบว่า ไม่มีการตกค้างของโบรไมด์ไอออนเลย จึงหมายความได้ว่าต้องเป็นโบรไมด์ไอออนที่มาจากการแตกตัวของสารเมทิลโบรไมด์เท่านั้น
 
          "แม้โบรไมด์ไอออนจะยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าจะก่ออันตรายอะไรต่อร่างกาย แต่โบรไมด์ไอออนที่แตกตัวมาจากสารเมทิลโบรไมด์ จะมีตัวเมทิลแทรกอยู่ตามช่องว่างของโบรไมด์ไอออนด้วย ซึ่งตัวเมทิลนี้ที่เป็นสารอันตรายต่อร่างกาย ด้วยเหตุนี้การพบโบรไมด์ไอออนเกินค่ามาตรฐานจึงถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง" น.ส.ปรกชล กล่าว

          น.ส.ปรกชล ยังเปิดเผยว่า การแนะนำให้ประชาชนป้องกันตัวเองด้วยการล้างข้าวหรือซาวข้าวนั้น ไม่สามารถขจัดโบรไมด์ไอออนได้แน่ เพราะมันซึมลึกอยู่ในระดับโมเลกุล ซึ่งการตรวจสอบยังต้องเอาเมล็ดข้าวไปเผาเพื่อสกัดโบรไมด์ไอออนออกมา ดังนั้น การซาวข้าวจึงไม่สามารถช่วยล้างโบรไมด์ไอออนออกไปจากข้าวได้
 
          ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ อย.เตรียมแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 2) โดยกำหนดค่า MRL ของสารเมทิลโบรไมด์ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมของสารต่อ 1 กิโลกรัมอาหาร หรือเท่ากับโบรไมด์ไอออนไม่เกิน 50 ppm ตามค่ามาตรฐานนั้น น.ส.ปรกชล กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะหน่วยมิลลิกรัมของสารต่อ 1 กิโลกรัมอาหารก็คือหน่วย ppm เช่นกัน เพราะ ppm ย่อมาจาก part per million หรือ 1 ส่วนต่อ 1 ล้านส่วน ซึ่ง 1 กิโลกรัมก็คือเท่ากับ 1 ล้านมิลลิกรัมนั่นเอง จึงเป็นในลักษณะของ 1 ส่วนต่อ 1 ล้านส่วน ดังนั้น การกำหนดค่า MRL อยู่ที่ 0.01 ppm จึงไม่มีทางเท่ากับ 50 ppm ตามที่ อย.อธิบายแน่นอน
 
          น.ส.ปรกชล กล่าวด้วยว่า การกำหนดค่า MRL อยู่ที่ 0.01 ppm ซึ่งถือว่าน้อยกว่าค่ามาตรฐานโลกมาก ถือเป็นเรื่องดี แต่ในความเป็นจริงคงเป็นไปได้ยากในการควบคุมสารตกค้างไม่เกิน 0.01 ppm ซึ่งเท่ากับเป็นการกำหนดค่า MRL ที่น้อยที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะขนาดจีนยังกำหนดอยู่ที่ 5 ppm เท่านั้น และไม่แน่ใจว่าไทยมีเทคโนโลยีรองรับการตรวจถึงระดับ 0.01 ppm แล้วหรือยัง ซึ่งประเทศไทยใช้ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 ppm ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาภายในประเทศ ว่าการตกค้างของสารในระดับใดจึงจะเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างไรก็ตาม บางประเทศมีการตั้งค่ามาตรฐานที่สูงกว่านี้ ซึ่งการส่งออกต้องทำให้ได้ตามที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ตรงนี้คนในประเทศก็ย่อมอยากบริโภคข้าวที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าการส่งออกเช่นกัน
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

Credit: http://hilight.kapook.com/view/88934
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...