"Giant Squid" สัตว์ยักษ์ใหญ่ผู้ลึกลับแห่งท้องทะเล

 

 

 

 

 

 

หมึกยักษ์ (Giant squid) เป็นสัตว์ลึกลับที่พบเห็นได้ยากมากเพราะส่วนใหญ่มันจะอยู่แต่ใต้ทะเลลึกไม่ค่อยขึ้นมาบนผิวน้ำ ทำให้เรารู้เรื่องเกี่ยวกับหมึกชนิดนี้น้อยมาก มีบางครั้งที่มีการจับหมึกขนาดใหญ่นี้ได้หรือมีการพบซากมันโดนพัดมาเกยบนชายฝั่ง แต่แทบไม่เคยมีใครเห็นหมึกชนิดนี้ตอนยังมีชีวิตอยู่ ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของมันยังคงเป็นปริศนาอยู่จนถึงทุกวันนี้

 

หมึกยักษ์ขนาด 9 เมตร ที่ถูกพัดมาเกยฝั่งประเทศนอร์เวย์เมื่อปี ค.ศ.1954

 

ชาวประมงจับหมึกยักษ์ได้ที่บริเวณมหาสมุทรแอนตาร์กติกา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ.2007
หมึกตัวนี้หนัก 450 กิโลกรัม

ที่มาภาพ Dailymail

 

หมึกยักษ์ (Giant squid) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในตระกูล Architeuthidae ซึ่งแบ่งออกเป็นได้อีก 8 สายพันธุ์ เป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นสายพันธุ์หมึกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของ โลก (อันดับ 1 คือหมึก Colossal Squid) และเป็นสัตว์ที่มีลูกตาใหญ่ที่สุดในโลกคือ ขนาดประมาณลูกบาสเกตบอล

หมึกยักษ์ที่เคยจับได้และวัดขนาดกันมาเฉลี่ยแล้ว ขนาดโดยไม่รวมหนวดคือ 5 เมตร ถ้าวัดรวมหนวดด้วยตัวเมียจะมีขนาดประมาณ 13 เมตร และตัวผู้จะมีขนาด 10 เมตร (ตัวผู้เล็กกว่าตัวเมีย) แต่เชื่อกันว่าจริงๆ แล้วอาจจะมีขนาดใหญ่ได้ถึง 20 เมตร แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน และเหมือนกับหมึกทั่วๆ ไป หมึกยักษ์มีแขน(หนวดสำหรับว่ายน้ำ) 8 เส้น และหนวดยาวที่ใช้ป้อนอาหารอีก 2 เส้น ซึ่งยาวกว่าขนาดตัวของมันเสียอีก ทำให้ถึงแม้หมึกนี้จะมีขนาดใหญ่มากแต่ด้วยความที่ส่วนใหญ่เป็นหนวดทำให้มันมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 400-900 กิโลกรัมเท่านั้น

การคาดการณ์ขนาดของหมึกยักษ์และญาติใกล้เคียงของมัน หมึก Colossal Squid
ซึ่งเชื่อว่ามีขนาดใหญ่กว่าหมึกยักษ์เสียอีก

ที่มาภาพ ferrebeekeeper

 

เรื่องเล่าและตำนานเกี่ยวกับหมึกยักษ์มีมานานมากแล้ว ตั้งแต่สมัยของอริสโตเติล (Aristotle) ผู้มีชีวิตอยู่ก่อนคริสต์ศักราชก็มีการบันทึกเกี่ยวกับหมึกขนาดใหญ่ที่เขาเรียกว่า teuthus ซึ่งใหญ่กว่าหมึกทั่วไปมาก สำหรับชาวเรือแล้วเรื่องเล่าเกี่ยวกับหมึกยักษ์น่าจะมีมานานกว่านั้นเสียอีก เชื่อกันว่าตัวจริงของสัตว์ประหลาดแห่งท้องทะเล คราเคน (Kraken) ที่ว่ากันว่ามีขนาดตัวใหญ่เท่ากับเกาะ หนวดยาวเหมือนปลาหมึกและสามารถจมเรือได้ ความจริงแล้วก็อาจจะเป็นหมึกยักษ์นี่เอง

สัตว์ประหลาดแห่งท้องทะเล คราเคน (Kraken)

ที่มาภาพ mysterycasebook

ในช่วงปี ค.ศ.1850 Japetus Steenstrup นักสัตววิทยาชาวนอร์เวย์ได้เขียนเอกสารเกี่ยวกับหมึกยักษ์ขึ้นหลายฉบับโดยอ้างจากหลักฐานการพบเห็นหมึกยักษ์จากหลายๆ แหล่งในสมัยก่อน จนกระทั่งในช่วงปี ค.ศ.1870-1880 หมึกยักษ์หลายตัวถูกพัดขึ้นมาเกยฝั่ง Newfoundland ประเทศแคนาดา เช่น ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1878 ที่อ่าว Thimble Tickle Bay มีการพบหมึกยักษ์ขนาดตัวยาว 6.1 เมตร และมีหนวดยาว 10.7 เมตร เกยตื้นบนชายฝั่ง

 
ภาพวาดเมื่อปี ค.ศ.1861 แสดงภาพเรือ Alecton กำลังพยายามจับหมึกยักษ์

 ที่มาภาพ Wikipedia

 

ภาพถ่ายหมึกยักษ์ตัวเต็มวัยที่ยังมีชีวิตอยู่ภาพแรกถ่ายขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ.2002 ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มันถูกจับบริเวณใกล้ๆ ผิวน้ำหลังจากนั้นก็ถูกนำมาผูกติดไว้ใกล้ๆ ท่าเรือ แต่มันก็ตายลงในวันรุ่งขี้น หมึกยักษ์ตัวนี้มีขนาดประมาณ 4 เมตร และปัจจุบันก็ถูกนำมาตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ National Science Museum of Japan

 
ภาพถ่ายหมึกยักษ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ภาพแรก

ที่มาภาพ Wikipedia

 

ในปี ค.ศ.2004 หมึกยักษ์อีกตัวซึ่งภายหลังถูกตั้งชื่อว่า “Archie” ก็ถูกเรือประมงจับขึ้นมาได้ มันมีขนาด 8.62 เมตร และถูกส่งไปที่พิพิธภัณฑ์ Natural History Museum เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ๆ มันถูกนำไปศึกษาและเก็บรักษาไว้ มันถูกนำมาตั้งแสดงให้สาธารณชนได้ชมในวันที่ 1 มีนาคม ปี ค.ศ.2006

Archie ถือเป็นตัวอย่างหมึกยักษ์ที่สมบูรณ์และอยู่ในสภาพดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งหาได้ยากมากๆ เพราะหมึกยักษ์ส่วนใหญ่ที่เจอถูกเกยมาบนฝั่งหรือได้มาจากในท้องของวาฬหัวทุย (Sperm whale) จะตายมานานและมีสภาพเปื่อยหมดแล้ว

 “Archie”  หมึกยักษ์ที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Natural History Museum เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ที่มาภาพ Show Me , Dailymail

 

ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2004 ทีมนักวิจัยของ Tsunemi Kubodera นักสัตววิทยาชาวญีุ่ปุ่น ได้ถ่ายภาพหมึกยักษ์ที่มีใช้ชีวิตอยู่ในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของมันได้เป็นครั้งแรก โดยใช้วิธีตามรอยเส้นทางของวาฬหัวทุยซึ่งกินหมึกชนิดนี้เป็นอาหาร

เบ็ดและเหยื่อถูกหย่อนลงไปในทะเลลึก 900 เมตร พร้อมกับกล้องแบบพิเศษที่ตั้งให้ถ่ายภาพทุกๆ 30 วินาที เมื่อหมึกมากินเหยื่อและติดเบ็ดกล้องสามารถถ่ายภาพของมันไว้ได้ 556 ภาพ ก่อนที่มันจะดิ้นหนีจนหลุดออกจากเบ็ดหลังจากนั้น 4 ชั่วโมง โดยทิ้งหนวดข้างหนึ่งของมันติดไว้กับเบ็ดด้วย และตอนที่ดึงกล้องขึ้นมาหนวดนี้ก็ยังขยับได้อยู่ สร้างความตื่นเต้นให้กับเหล่านักวิจัยมาก และปีถัดมาภาพนี้ก็ถูกนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชน

จากภาพชุดนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจพฤติกรรมของหมึกยักษ์มากขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการล่าเหยื่อซึ่งมีการโจมตีอย่างดุร้ายกว่าที่นักวิทยาศาตร์คาดการณ์ไว้

ที่มา Youtube

ภาพจากวิดีโอ หมึกยักษ์ขณะกำลังโจมตีเหยื่อ

ที่มาภาพ Real World Creatures

 

และในปี ค.ศ.2006 หมึกยักษ์อีกตัวก็ถูกถ่ายวิดีโอเก็บไว้ได้ใกล้ๆ กับเกาะ Ogasawara Islands โดยทีมนักวิจัยเดิมของ Tsunemi Kubodera มันมีขนาดเล็กคือ 3.5 เมตร หนัก 50 กิโลกรัม มันมาติดเบ็ดที่มีเหยื่อล่ออยู่และถูกดึงขึ้นมาโดยตั้งใจจะเก็บเอาไว้เพื่อการศึกษา แต่มันก็ตายลงหลังจากนั้นไม่นาน

Credit: http://board.postjung.com/692680.html
#Giant #Squid
hanachoi
Screenwriter
สมาชิก VIPสมาชิก VIP
23 ก.ค. 56 เวลา 14:50 2,352 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...