เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก กรณี น.ส.หม่า อ้ายหลุน แอร์โฮสเตสสาวชาวจีน วัย 23 ปี โดนกระแสไฟฟ้าดูดหรือชอร์ตดับสยอง ขณะกำลังหยิบโทรศัพท์สมาร์ตโฟนยี่ห้อดัง "ไอโฟน 4" ขึ้นมาโทร. ทั้งๆ ที่ยังเสียบสายชาร์จแบตเตอรี่คาเอาไว้
ในเบื้องต้น ผู้เชี่ยวชาญจีนสันนิษฐานว่า แอร์สาวเคราะห์ร้ายอาจใช้สายชาร์จที่ไม่ได้มาตรฐาน หรืออาจไปซื้อสายชาร์จที่ใช้สำหรับกระแสไฟฟ้าแค่ 110 โวลต์ แต่เมืองจีนใช้ไฟ 220 โวลต์จึงเกิดเหตุขึ้น
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายครอบครัวน.ส.หม่ายืนยันว่า ผู้ตายซื้อไอโฟนและอุปกรณ์ส่วนควบอื่นๆ จากร้านแอปเปิ้ลสโตร์ของแท้แน่นอน และประกาศยื่นฟ้องร้องบริษัทแอปเปิ้ล อิงก์ ในฐานะผู้ผลิตด้วย
ด้านแอปเปิ้ล อิงก์ สาขาใหญ่ในสหรัฐ อเมริกา ก็ไม่นิ่งนอนใจ แสดงความรับผิดชอบด้วยการระบุว่าจะร่วมมือกับทางการจีนหาสาเหตุที่แน่ชัด พร้อมออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการเสียชีวิตของน.ส.หม่า
สำหรับการวิเคราะห์ต้นเหตุ รวมถึงวิธีการป้องกันตัวเองไม่ให้โดนไฟชอร์ตขณะใช้มือถือนั้น
ผู้เชี่ยวชาญ-นักวิชาการของไทย ได้ให้ความรู้ผ่าน "ข่าวสดหลาก&หลาย" ดังนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำอีก!
จากกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศจีน รศ.ดร.พิสิฐ บุญศรีเมือง รองอธิการบดี สถาบันเทค โนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ตั้งข้อสังเกตว่า
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ผู้เคราะห์ร้ายใช้โทร ศัพท์ "ยี่ห้อ" อะไร
แต่อยู่ที่ "ตัวชาร์จ" โทรศัพท์มือถือ ซึ่งสื่อทั้งในและต่างประเทศไม่ค่อยหยิบยกประเด็นนี้มากล่าวถึง
ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม สจล. อธิบายต่อไปว่า
โดยหลักการแล้ว "อะแดปเตอร์" (ตัวแปลงกระแสไฟฟ้า) ของโทรศัพท์มือถือจะแปลงไฟบ้านจาก 220v (โวลต์) เป็นไฟแรงดันต่ำ 5v ซึ่งเป็นกระแสไฟที่ไม่ส่งผลอันตรายถึงชีวิต
อย่างไรก็ดี การชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ กับอะแดปเตอร์ที่เสียบอยู่กับ "เต้ารับไฟบ้าน" พร้อมๆ กับสนทนาควบคู่ไปด้วย ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ
เพราะนอกจากโทรศัพท์จะใช้พลังงานมากกว่าการชาร์จแบตเตอรี่ปกติแล้ว อะแดปเตอร์อาจโอเวอร์โหลดจนเกิดความเสียหายได้
สําหรับความเสียหายของ อะแดปเตอร์ที่สามารถส่งผลต่อชีวิตมนุษย์นั้น รศ.ดร.พิสิฐระบุว่า
หากเสียหายที่ตัวอะแดปเตอร์เฉยๆ ผู้ใช้จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
แต่หากเสียหายในลักษณะที่อะแดปเตอร์เกิดการ "โอเวอร์โหลด" จนอุปกรณ์ตัวนำกระแสไฟฟ้าทะลุถึงกัน แน่นอนว่ากระแสไฟที่เคยอยู่ในระดับต่ำ 5v กลายเป็นกระแสไฟบ้าน 220v วิ่งตรงสู่ร่างกายผู้ที่สัมผัสโทรศัพท์จนได้รับอันตรายทันที
"ไฟบ้าน 220v ก็เหมือนท่อน้ำขนาดใหญ่ ตัวอะแดปเตอร์คือวาล์วน้ำที่ทำหน้าที่บีบให้น้ำไหลน้อยหรือเบาลง ฉะนั้นหากวาล์วน้ำล็อกจนน้ำไม่สามารถไหลต่อได้ เปรียบเสมือนเสียหายเฉพาะที่ตัวอะแดปเตอร์จนขาดออกจากกันไม่สามารถนำกระแสไฟฟ้ามาที่โทรศัพท์ได้ แต่หากวาล์วน้ำเสียในลักษณะไม่สามารถกั้นน้ำได้ น้ำก็จะไหลได้เต็มที่ ซึ่งกรณีนี้หากเปลี่ยนจากน้ำเป็นไฟฟ้า แล้วอะแดปเตอร์เกิดโอเวอร์โหลดจนนำกระแสไฟฟ้าทะลุถึงกัน ผู้ที่สัมผัสไปโดนวัสดุที่เป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าจะถูกไฟดูดทันที" รองอธิการบดี สจล.กล่าว
อาจารย์พิสิฐยืนยันว่า ประเด็นการเสียชีวิตในครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวโทรศัพท์ แต่อยู่ที่พยานแวดล้อมอื่นๆ
เช่น โดนไฟดูดเพราะไปสัมผัสสายพ่วง (ปลั๊กสามตา : Extension Socket)
หรือสายชาร์จที่เสียบจากอะแดปเตอร์ไปที่ตัวเครื่อง ชำรุดฉีกขาดอยู่
ตลอดจนอะแดปเตอร์ที่ใช้ ไม่ใช่อะแดปเตอร์ของโทรศัพท์ยี่ห้อนั้น เพราะหากอะแดปเตอร์ไม่มีคุณภาพพอ หรือเป็นอะแดปเตอร์ที่หาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด ก็อาจชำรุดเสียได้ง่ายกว่าอะแดปเตอร์ของบริษัทที่คุมเข้มเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า
ความเห็นของรศ.ดร.พิสิฐ สอดคล้องกับ ดร.บุญยัง ปลั่งกลาง รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ที่ร่วมให้ความรู้ว่า
อะแดปเตอร์โทรศัพท์ไอโฟนและโทรศัพท์ยี่ห้ออื่น ที่แปลงไฟ 220v เป็นไฟแรงดันต่ำ 5v หรือเทียบเท่ากับกำลังไฟของถ่ายไฟฉาย (1.5v) ประมาณ 4 ก้อนกว่าๆ ไม่สามารถเกิดอันตรายกับมนุษย์ได้
"สังเกตได้ง่ายๆ คนที่ถูกไฟฟ้าชอร์ตแล้วตายก็เพราะว่ากระแสไฟฟ้าวิ่งเข้าสู่หัวใจโดยตรง ขณะที่บางคนพอรู้สึกตัวว่าถูกไฟชอร์ตก็รีบดึงอวัยวะส่วนนั้นออกจากตัวนำกระแสไฟนั้น จึงโชคดีไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่อาจมีบาดแผลไหม้บริเวณที่ไปสัมผัส ทั้งนี้เนื่องจากไฟฟ้ายังไหลไม่ครบวงจรนั่นเอง
"ดังนั้นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับหญิงชาวจีน ปัญหาน่าจะอยู่ที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง อะแดปเตอร์เกิดการชอร์ตจนไฟรั่ว ก่อนที่ไฟฟ้าจะวิ่งตามสายไฟอะแดปเตอร์เข้าโทรศัพท์สู่ร่างกายของผู้ที่ไปสัมผัสจนเสียชีวิต เพราะเหมือนเราเอามือไปสัมผัสตัวนำไฟฟ้า 220v โดยตรง ซึ่งมนุษย์เราแค่กระแสไฟระดับ 10mA วิ่งเข้าสู่หัวใจก็เสียชีวิตไปแล้ว" ดร.บุญยังกล่าว
อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ชี้ด้วยว่า ตัวโทรศัพท์ไม่ใช่ตัวการที่ทำให้แอร์โฮสเตสสาวชาวจีนจบชีวิตลง
เพราะหากอะแดปเตอร์ที่ใช้ชำรุดเสียหาย จะเป็นโทรศัพท์ค่ายไหนราคาแพงเท่าใด ก็อาจส่งผลถึงชีวิตของผู้ใช้ได้หากไปสัมผัสตรงจุดที่กระแสไฟฟ้าสามารถวิ่งไปถึงได้
ดังนั้นประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่ใช้โทร ศัพท์มือถือไอโฟนไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลใจ
เพราะไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ค่ายไหน หากอุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี่ชำรุด ก็สามารถชอร์ตได้ทั้งนั้น!
นอกจากนั้น ดร.บุญยังยังฝากให้ประชาชนหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด
โดยเฉพาะอะแดปเตอร์โทรศัพท์มือถือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
โดยสังเกตว่ามีรอยไหม้ชอร์ตเป็นเขม่าดำๆ หรือมีความร้อนผิดปกติ ตลอดจนมีกลิ่นเหม็นไหม้หรือไม่
หากพบปัญหาลักษณะดังกล่าว แนะนำว่าควรซื้อใหม่
และยอมลงทุนซื้อสินค้าที่มีมาตรฐานรองรับ หรือเป็นสินค้าที่ผลิตมาจากค่ายโทรศัพท์ที่ใช้ เพราะราคาไม่กี่พันบาท เทียบไม่ได้เลยกับชีวิตของเรา
"ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ธรรมดาหรือสมาร์ตโฟน การใช้แบตเตอรี่สำรองหรือเพาเวอร์แบงก์ขณะที่ติดต่อสื่อสาร ย่อมดีและปลอดภัยกว่าการเสียบอะแดปเตอร์กับเต้ารับเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ไปพร้อมๆ กับการพูดคุยสนทนา
"เพราะหากเมนบอร์ดได้รับความเสียหายในพิสัยที่ไม่ได้พังแล้วขาดไปเลย แต่พังแล้วเปิดทางให้กระแสไฟวิ่งเข้าสู่โทรศัพท์โดยตรง ไม่จำเป็นต้องรับโทรศัพท์แค่มือไปสัมผัสตัวนำกระแสไฟฟ้า เราก็ได้รับอันตรายแล้ว" ดร.บุญยังกล่าวทิ้งท้าย