ช่วงนี้มีข่าวการระบาดของโรคไข้เลือดออกหลายพื้นที่ในเมืองไทย ล่าสุดตัวเลขอย่างเป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุข (ข้อมูล 16 ก.ค.) เผยยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-16 กรกฎาคม 2556 มีผู้ป่วยรวม 73,902 ราย เสียชีวิต 73 ราย ถือว่าสูงกว่าปีที่แล้วราว 3 เท่า ส่วนจังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ เชียงใหม่ กทม. สงขลา เชียงราย นครราชสีมา นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และนครพนม
การที่ไข้เลือดออกระบาด มีผู้ป่วย และมีผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อย สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะโรคไข้เลือดออก ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษาเฉพาะ เมื่อป่วยแพทย์จะรักษาตามอาการ ซึ่งช่วงที่อันตรายของโรค คือ ช่วงที่ไข้ลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่เข้าสู่ระยะช็อก หากรักษาไม่ทันจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายใน 1 วัน อย่างไรก็ตาม ฤดูฝนก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาด เพราะยุงลาย สัตว์พาหะนำโรค เพาะพันธุ์ได้ดีในช่วงที่ฝนตกมีน้ำขังเช่นนี้
สำหรับหนทางลดการระบาด คงหนีไม่พ้นการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค เผยนวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยในการกำจัดลูกน้ำและยุงลายตัวเต็มวัย มีทั้งหมด 11 อย่าง
เริ่มจาก "มะกรูด" บากผิวใส่ลงในภาชนะขังน้ำ 1 ลูกต่อพื้นที่น้ำ 40 ตารางนิ้ว ป้องกันได้ 2 วัน "ปูนแดง หรือปูนกินกับหมาก" ปั้นให้ได้ขนาดเท่าลูกปิงปอง ตากแห้ง 3 วัน 1 ก้อนต่อโอ่งมังกร 1 ใบ หากเป็นใบใหญ่ อาจใช้ 4-5 ก้อน มีฤทธิ์ 3 เดือน ทั้งนี้หากผสมกับน้ำขิงด้วยจะทำให้ลูกน้ำตายในเวลา 5 ชั่วโมง
"อิฐมอญ" นำอิฐมอญไปเผาให้ร้อนจัดจนเป็นสีแดง จากนั้นคีบใส่ในโอ่งน้ำ 1 ก้อน ต่อ 1 โอ่ง ป้องกันยุงลายวางไข่ได้ 1 เดือน "ปลาหางนกยูง" สามารถนำมาเลี้ยงในอ่างต้นไม้น้ำ เพื่อให้ปลาหางนกยูงช่วยกินลูกน้ำยุงลาย โดยเลี้ยงราว 2-10 ตัว พิจารณาตามขนาดของภาชนะ
"กาลักน้ำ" เป็นวิธีการดูดน้ำออก โดยใช้สายยางยาว 2 เท่าของความสูงภาชนะ เติมน้ำให้เต็มตลอดสายยาง จากนั้นใช้มือกวนน้ำในภาชนะ แล้วกวาดตะกอนให้รวมตัวอยู่ตรงกลางแล้วนำสายยางดูดตะกอน ลูกน้ำ ตัวโม่งออกให้หมด เมื่อภาชนะนั้นสะอาด จะสามารถป้องกันได้นาน 7 วัน
นอกจากนี้ยังมี "เกลือแกง" เติมเกลือแกลง 1 ช้อนชา ลงในแหล่งน้ำขนาดเล็ก เช่น ขารองตู้กับข้าว จนกว่าจะพบลูกน้ำอีกครั้ง จึงนำลูกน้ำออกแล้วเติมเกลือซ้ำ "ตาข่ายไนล่อน หรือผ้าขาวบางปิดโอ่ง" โดยตัดให้ได้ขนาดพอดีกับปากโอ่งแล้วรัดหุ้งปิดปากโอ่งให้เรียบร้อย ป้องกันยุงลายมาวางไข่ "ตะไคร้หอม" นำตะไคร้หอมใส่ภาชนะหรือถุง นำไปวางในที่อับ เช่น ตู้เสื้อผ้า ห้องน้ำ กลิ่นของตะไคร้จะช่วยไล่ยุงไม่ให้มารบกวน
สำหรับ "ผงซักฟอก" ใช้ได้ 2 วิธี คือ ใช้ผงซักฟอก 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1-2 ลิตร ค่อยๆ คนอย่าให้เป็นฟอง จากนั้นนำไปใส่ในที่ฉีดน้ำรีดผ้า ฉีดพ่นใส่ยุงให้เปียกแล้วจะทำให้ยุงตายภายใน 10-20 วินาที อีกวิธีคือโรยผงซักฟอกบริเวณที่มีน้ำขัง ใช้ประมาณ 1 ช้อนเกลือแกงต่อปริมาณน้ำไม่เกิน 2 ลิตร ป้องกันได้ 1 เดือน
"น้ำยาล้างจาน" นำน้ำยาล้างจานมาเจือจางกับน้ำ ในอัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ลิตร แล้วฉีดพ่นกำจัดยุงที่มาเกาะพักบริเวณแหล่งน้ำ-ที่อับชื้น หรือเจือจาง 1 ส่วนต่อน้ำ 4 ส่วน เพื่อฉีดพุ่นกำจัดยุงที่มาเกาะพักบริเวณซอกมุมของบ้านหรือตามกองผ้า
สุดท้าย "ปี๊บดักยุง" ใช้ปี๊บสภาพสมบรณ์ที่ปลดระวางจากการใส่ขนม นำผ้าสีดำใส่เข้าไปภายใน เปิดฝาทิ้งไว้ แล้วนำไปวางบริเวณที่อับของบ้านเพื่อล่อยุงเข้าไปในตอนกลางคืน กระทั่งรุ่งเช้ารีบนำฝาปิดปี๊บ แล้วนำปี๊บไปตากแดด 1-2 ชั่วโมงให้แสงและความร้อนกำจัดยุงลายในปี๊บ เมื่อยุงตายสามารถนำไปเป็นอาหารปลาได้
เหล่านี้เป็นวิธีกำจัดยุงลายด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ทำได้ง่ายๆ และประหยัด หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม คลิกดูได้ที่http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/