กลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามอง เมื่อราชวงศ์ทั่วทุกมุมโลกกำลังเดินเข้าสู่ยุคของการผลัดใบ เปลี่ยนถ่ายอำนาจจากเจเนอเรชั่นก่อนมาสู่เจเนอเรชั่นใหม่ ไล่ตั้งแต่การประกาศสละราชสมบัติของสมเด็จพระบรมราชินีเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ ตามมาด้วยการลงจากอำนาจของประมุขผู้ครองรัฐกาตาร์ และล่าสุด ถึงคิวของ “สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่สองแห่งเบลเยียม” ทรงเปิดทางให้พระราชโอรสองค์โต “เจ้าฟ้าชายฟิลิป” มกุฎราชกุมารเบลเยียม เสด็จฯขึ้นครองราชย์แทนในฐานะกษัตริย์องค์ที่เจ็ด โดยการสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 21 ก.ค. (ตามเวลาท้องถิ่น) ซึ่งตรงกับวันชาติของเบลเยียม
กษัตริย์อัลแบร์ที่สอง
หลังครองราชบัลลังก์มา 2 ทศวรรษ ซึ่งถือเป็นการครองราชย์ที่ยาวนานที่สุดของราชวงศ์เบลเยียม “สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่สอง” ทรงประกาศแผนการสละราชสมบัติ ขณะพระชนมายุ 79 พรรษา ผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยทรงมีพระราชดำรัสว่า ด้วยสุขภาพของข้าพเจ้า และอายุที่มากขึ้น ทำให้ไม่ เอื้อต่อการปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างที่ใจปรารถนา จึงเห็นสมควรว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเปิดทางให้พระราชโอรสองค์โต “เจ้าฟ้าชายฟิลิป” มกุฎราชกุมารเบลเยียม พระชนมายุ 53 พรรษา เสด็จฯขึ้นครองราชย์แทน ซึ่งทรงมั่นพระทัยว่า “เจ้าฟ้าชายฟิลิป” ได้เตรียมพระองค์พร้อมแล้วสำหรับการรับพระราชภารกิจหนักอึ้ง และจะทรงรับใช้ประเทศชาติได้อย่างดีเยี่ยม ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรเบลเยียมหลังได้รับอิสรภาพจากเนเธอร์แลนด์ ที่กษัตริย์ทรงประกาศสละราชสมบัติ
กษัตริย์ฟิลิป
ตลอดเวลา 2 ทศวรรษของการครองราชย์ ต้องยอมรับว่า “กษัตริย์อัลแบร์ที่สอง” ทรงเป็นที่รักใคร่ของประชาชนอย่างมาก ทรงได้รับการขนานนามให้เป็น “กษัตริย์ผู้มีแต่รอยยิ้ม” เพราะทรงติดดิน อารมณ์ดี และเป็นกันเองกับทุกคน ขณะเดียวกัน ก็ทรงทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศ ที่คอยสร้างภาพลักษณ์อันดีงามให้เบลเยียม และส่งเสริมความสัมพันธ์ ทางการค้ากับนานาชาติ อีกหนึ่งบทบาทสำคัญยังรวมถึงการเป็นกาวใจสร้างความปรองดองภายในชาติ ทรงเคยทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อปี 2010-2011 โดยทรงเป็นที่ปรึกษาในการก่อตั้งรัฐบาล
ช่วงที่เบลเยียมตกอยู่ในสภาพสุญญากาศทางการเมือง เป็นเวลานานถึง 541 วัน เนื่องจากผลการเลือกตั้งทั่วไปไม่สามารถชี้ขาดผู้ชนะเสียงข้างมาก ผลจากการยื่นมือช่วยเหลือ ทำให้สามารถฝ่าวิกฤติความชะงักงันทางการเมืองไปได้
กระนั้น การประกาศสละราชสมบัติของ “สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่สอง” ในครั้งนี้ ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้ประชาชนมากนัก เพราะตลอดหลายปีมานี้ ได้เกิดข่าววุ่นวายมากมาย โดยเฉพาะข่าวฉาวที่มีหญิงสาวมาอ้างตัวว่า เป็นบุตรนอกสมรสของกษัตริย์เบลเยียม และได้ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์ความจริง ส่งผลให้ “สมเด็จพระราชินีเปาลา” สะเทือนพระทัยอย่างมาก
สำหรับกษัตริย์องค์ใหม่ของเบลเยียม “สมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิป” ประสูติเมื่อวันที่ 15 เม.ย.1960 ปัจจุบันมีพระชนมพรรษา 53 พรรษา ทรงสำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิชาการทหารแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม และทรงศึกษาต่อปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย ทรงอภิเษกสมรสกับ “เจ้าหญิงมาทิลด์” ทายาทตระกูลขุนนางเก่าของเบลเยียม เมื่อ 13 ปีก่อน และมีทายาทด้วยกัน 4 พระองค์ เป็นพระโอรสและพระ ธิดาอย่างละ 2 พระองค์ โดยพระธิดาองค์โตคือ “เจ้าหญิงเอลิซาเบธ” พระชนม์ย่าง 12 ชันษา ทรงเป็นรัชทายาทหญิงพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ของเบลเยียม
หากจะเปรียบเทียบกษัตริย์องค์ก่อนกับกษัตริย์องค์ใหม่ ทั้งสองพระองค์ทรงมีบุคลิกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ด้วยความที่ “กษัตริย์ฟิลิป” ทรงเจริญชันษาขึ้นจากการเลี้ยงดูของพระปิตุลา “สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง” กษัตริย์ผู้เสด็จสวรรคตโดยไร้รัชทายาทสืบราชบัลลังก์ จึงส่งผลให้ทรงมีบุคลิกเคร่งขรึมและเอาจริงเอาจังมากกว่าพระราชบิดา ก่อนหน้านี้ “เจ้าฟ้าชายฟิลิป” ก็ทรงถูกวางตัวให้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์มาแล้วครั้งหนึ่ง หลังการเสด็จสวรรคตของ “สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง” กระนั้น ด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ระบุว่า พระองค์ยังทรงไม่พร้อมรับพระภารกิจอันหนักอึ้ง โดยขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 33 พรรษา และยังทรงครองพระองค์เป็นโสด ราชบัลลังก์เบลเยียมจึงตกทอดสู่ “สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่สอง” ผู้มีราชศักดิ์เป็นพระอนุชาของกษัตริย์โบดวง
ตลอดเวลาของการรับหน้าที่องค์รัชทายาทอันดับหนึ่ง “เจ้าฟ้าชายฟิลิป” ทรงแสดงบทบาทสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะทูตการค้าของเบลเยียม โดยในแต่ละปีจะเสด็จฯไปเยือนประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ขณะที่พระชายา “เจ้าหญิงมาทิลด์” ก็ทรงทำหน้าที่สนับสนุนพระสวามี นอกจากจะตามเสด็จฯไปทุกหนแห่ง และทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ ประเทศเบลเยียม ยังทรงเข้าร่วมการประชุมระดับโลกมาแล้วหลายเวที รวมถึงการประชุมประจำปีของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม
ก่อนที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะเปิดฉากขึ้นในเวลาเที่ยงตรงของวันที่ 21 ก.ค. (ตามเวลาท้องถิ่น) กษัตริย์องค์ใหม่ของเบลเยียมเปิดพระทัยเป็นครั้งแรกถึงพระราชภารกิจหนักอึ้งที่รอคอยอยู่ข้างหน้าว่า “ข้าพเจ้าตระหนักดีถึงภารกิจหน้าที่มากมายที่ต้องรับผิดชอบ ข้าพเจ้าขออุทิศทั้งกายและใจเพื่อแผ่นดิน”