เที่ยวชวา...ตะลุยก้นภูเขาไฟคาวาอีเจี้ยน


ทริปการเดินทางสู่กลุ่มประเทศอาเซียน อย่างประเทศอินโดนีเซีย ที่เรากำลังก้าวสู่การเดินทางผจญภัยสู่โลกกว้างบนเกาะชวาที่เต็มไปด้วยเทือกเขาสูงใหญ่อันเป็นกลุ่มภูเขาไฟที่ดับแล้ว และยังมีบางส่วนที่มีปฏิกิริยาระอุอยู่ใต้พื้นพิภพนอกเหนือจากกลุ่มภูเขาไฟที่โบรโม่ ซีเมรู บาตูร์ และอื่นๆ แล้ว เรายังคงได้ค้นพบดินแดนมหัศจรรย์ในกลุ่มภูเขาไฟ อย่างเช่น คาวาอีเจี้ยน (Kawah Ijen) เป็นภูเขาไฟที่ยังมีปฏิกิริยาพ่นควันออกมาตลอดเวลา พร้อมมีกำมะถันไหลออกมาจากใต้ดิน และยังค้นพบไฟเปลวไฟสีน้ำเงินของกำมะถันเหลวอันเป็นเรื่องราวแสนมหัศจรรย์ที่กำลังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เลื่องชื่ออีกแห่งหนึ่ง

 มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับการเฝ้าชมแสงมหัศจรรย์จากปากปล่องภูเขาไฟคาวาอีเจี้ยน เริ่มแรกเราต้องตื่นตั้งแต่ตีสอง นั่งรถเข้าไป แล้วต้องเดินเท้าขึ้นเขาไปจนถึงขอบปล่องก็พอมองเห็นแสงสีน้ำเงินอยู่ก้นปล่องภูเขาไฟ ถ้าจะให้เห็นได้อย่างใกล้ชิดก็ต้องฝ่าความมืดลงไปยังจุดที่กำมะถันไหลออกมา ซึ่งต้องเสี่ยงอันตรายจากควันกำมะถันมากๆ

 เริ่มต้นการเดินทางจากเมืองสุราบายา มายังเมืองโปรโบลิงโก (Probolinggo) อันเป็นที่ตั้งของกลุ่มภูเขาไฟโบรโม่ แล้วเดินทางถัดต่อไปทางตะวันออกไปยังเมืองบอนโดโวโซ (Bondowoso) ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟคาวาอีเจี้ยน ที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าลึก และมีระยะทางไกลมาก

 สำหรับการเดินทางไปยังคาวาอีเจี้ยนก็ต้องใช้เส้นทางชนบทขึ้นเขาผ่านป่าดงดิบชื้น มีเส้นทางรถขึ้นเขาสูง มองเห็นยอดเขาคาวาอีเจี้ยนยังอยู่ไกลลิบ จนมาถึงเขตหมู่บ้านในหุบเขา มีการเพาะปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลัก เราเข้ามาที่พัก Catimur Homestay ซึ่งอยู่ในบริเวณศูนย์ส่งเสริมการเกษตร

 สำหรับการเดินทางมาดินแดนที่ลึกลับแห่งนี้ ก็เพื่อค้นหาแสงสีน้ำเงินจากปล่องภูเขาไฟ หากเราต้องการจะพบเห็นภาพเช่นนั้น เราก็ต้องตื่นตั้งแต่ตีสอง แล้วนั่งรถเข้าไปยังเขตอุทยานฯ จากนั้นก็เดินขึ้นขอบปล่องภูเขาไฟ

 ไกด์บอกว่าระยะทางสองกิโลเมตรแรกจะถึงเป้าหมายกระท่อม แล้วจะมีทางแยกซ้ายขึ้นไปถึงปากปล่องอีกกิโลเมตรหนึ่ง สภาพเส้นทางสู่ขอบปล่องภูเขาไฟ Ijen เป็นทางค่อนข้างราบเดินสบาย แต่ได้กลิ่นอายกำมะถันแรงขึ้น จนกระทั่งเรามาถึงขอบปล่อง หรือ Ijen Crater มีระดับความสูงถึง 2,380 เมตร จากระดับน้ำทะเล ไกด์ได้พาเราไปตามแนวเส้นทางลงไปด้านล่าง พร้อมกับชี้ให้เราดูแสงไฟด้านล่างที่เห็นเป็นสีฟ้าอ่อนๆ กลมกลืนกับความมืดเมื่อเพ่งดูนิ่งๆ ก็รู้ว่าเป็นเปลวไฟสีน้ำเงิน ส่วนที่เห็นเป็นสีเหลืองส้ม ก็คือแสงไฟจากคบไฟของชาวบ้านที่ลงไปถึงด้านล่างกันแล้ว

 เรากดชัดเตอร์ได้ไม่กี่ภาพ ก็ต้องเร่งรีบลงไปด้านล่างเพื่อถ่ายแสงไฟสีน้ำเงินอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเวลาใกล้สว่างเต็มที หากฟ้าเริ่มสว่างเมื่อใด แสงสีน้ำเงินจะค่อยๆ จางหายไป

 เมื่อเราลงไปทางขวา จนถึงด้านล่างก็เห็นคนกำลังเก็บกำมะถันท่ามกลางความมืด มีแค่แสงสว่างจากคบไฟ มุมแสงไฟสีน้ำเงินที่เราเห็นนั้นจะเป็นมุมต่ำ ควันกำมะถันจะลอยกลบบดบังแสงไฟ จนแทบมองไม่เห็น

 พอฟ้าเริ่มสว่างก็จะได้เห็นว่าใครเป็นใคร อยู่ตรงไหนกันบ้าง เราได้เห็นภาพชีวิตคนเก็บกำมะถันในก้นปล่องภูเขาแห่งนี้ได้กันชัดๆ ในบริเวณจุดแสงไฟสีน้ำเงินได้เลือนหายไป คงเหลือแต่ควันสีขาวที่ลอยขึ้นมาจากบริเวณปลายท่อเหล็ก จะเป็นตำแหน่งที่กำมะถันเหลวจะไหลออกมา เมื่อสัมผัสกับอากาศภายนอกก็จะแข็งตัว ชาวบ้านก็นำเหล็กชะแลงเข้าไปกระทุ้งให้กำมะถันแตกและหลุดออกมา พร้อมกับหยิบมากองไว้ด้านนอก

 การเข้าไปกระทุ้งกำมะถัน ชาวบ้านแค่เอาผ้าพันหน้าบังจมูกเอาไว้ แล้วมุดเข้าไปในดงควันกำมะถันแค่กลิ่นมัน เราก็แย่แล้ว แต่ชาวบ้านบางจังหวะก็มุดหายไปท่ามกลางควันไปเลย ไม่รู้ว่าทำได้อย่างไร แต่ก็เป็นอาชีพของพวกเขา แบกขึ้นมาทีหนึ่งประมาณ 70-80 กก. ค่าแบกเฉลี่ย กก.ละ 2 บาท โดยต้องแบกจากก้นปล่องภูเขาไฟ ไปถึงปลายทางก็เกือบ 4 กิโลเมตร

 ก้นปล่องภูเขาไฟ Ijen ไม่ใช่แค่มีเรื่องราวของไฟสีน้ำเงินที่เกิดจากกำมะถันเหลว หรือกิจกรรมของคนเก็บกำมะถันเท่านั้น ถัดไปตอนล่างของบ่อกำมะถันห่างสัก 100 เมตร ก็พบทะเลสาบสีเขียวมรกตที่อยู่กลางก้นปล่องภูเขาไฟ

 เรากลับขึ้นมาขอบปล่องภูเขาไฟด้านบน ก็พบนักท่องเที่ยวเป็นฝรั่งเริ่มทยอยเข้ามาเที่ยวมากขึ้นนั่งชมปล่องภูเขาไฟและบ่อกำมะถันเหลว แต่ไม่ได้ลงไปก้นปล่องด้านล่าง บางคนก็เดินเที่ยวไปตามของปล่องที่สามารถชมวิวได้รอบด้าน

 ภูเขาไฟ Kawah Ijen แห่งนี้จัดว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย จุดเด่นของสถานที่ท่องเที่ยวนี้ คือ เปลวไฟสีน้ำเงิน เราต้องดูในช่วงกลางคืน ซึ่งจะได้เห็นความมหัศจรรย์ของแสงไฟจากใต้พื้นพิภพ ที่มีความงดงามน่าทึ่งอีกแห่งหนึ่ง พร้อมกับเรื่องราวของคนเก็บกำมะถันที่มีชีวิตอยู่บนความเสี่ยงมากมาย
 

 

Credit: http://www.siamdara.com/Entertain.asp?eid=2796
18 ก.ค. 56 เวลา 06:56 3,042 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...