ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่เรียกติดปากกันว่า ภาคอีสาน เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมประเพณี ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง วิถีชีวิต ความเชื่อ อาหารการกิน ดนตรีหมอลำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกลักษณ์ทางภาษา ซึ่งนอกจากสำเนียงการพูดในแบบฉบับอีสานบ้านเฮาแล้ว ยังมีศิลปะทางภาษาที่เรียกว่า ผญาอีสาน อันสะท้อนแนวคิดคำสอนของพี่น้องชาวที่ราบสูง
"ผญา" หรือ "ผญาอีสาน" คืออะไร
ผญา หรือ ผะหยา มีความหมายว่า ปรัชญา, ปัญญา, ความรู้, ความฉลาด, ไหวพริบ มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ปรัชญา แต่ภาษาอีสานจะออกเสียง "ปร" เป็น "ผ" ดังนั้นคำว่า ปรัชญา อาจเปลี่ยนเป็น ผัชญา แล้วกลายมาเป็น ผญา ในที่สุด เนื่องจากเป็นภูมิปัญญาที่มีเอกลักษณ์ของชาวอีสาน ในบางครั้งจึงเรียกว่า "ผญาอีสาน"
คําผญาอีสานพร้อมความหมาย
ในด้านคำจำกัดความหรือคำนิยาม ผญา มีความหมายครอบคลุมทั้ง คำคม สุภาษิต ที่เป็นปริศนา ต้องนำมาวิเคราะห์ต่อเพื่อหาคำตอบที่แท้จริง คำพญาอีสานเป็นคำพูดที่สละสลวยคล้องจอง อาจไม่ต้องสัมผัสเสมอไป การพูดอาจขึ้นอยู่กับการออกเสียงหนักเบา หรือเป็นการพูดคมคาย ที่ต้องใช้ไหวพริบ สติปัญญา เป็นประโยคสั้น ๆ แต่บางครั้งสามารถตีความออกมาได้หลายความหมายเลยทีเดียว
การพูดผญาอีสานนั้น ต้องใช้ไหวพริบ เชาวน์ปัญญา เป็นการนำเสนอความคิดผ่านคำพูดอันมีความไพเราะ คมคาย กินใจ สร้างความเพลิดเพลิน ความรู้และคติสอนใจให้แก่ผู้รับฟังผญาอีสานยังเกี่ยวข้องกับความรักหนุ่มสาวด้วย เนื่องในสมัยก่อนการพูดคำผญาเป็นที่นิยมมาก เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า การจ่ายผญา หรือการแก้ผญา บางทีเรียกเป็น ผญาเกี้ยวพาราสีโต้ตอบหนุ่มสาว เหมือนเป็นผญาอีสานจีบสาว หรือผญาอีสานความรัก คือการใช้ไหวพริบโต้ตอบพญาต่อกัน การประชันเชาวน์ปัญญาดังกล่าว ช่วยทำให้หนุ่มสาวมีความรู้สึกแน่นแฟ้นต่อกันมากขึ้น จนบางครั้งก่อเกิดเป็นความรักอีกด้วย
ตัวอย่าง การจ่ายหรือแก้ผญา (เหมือนเป็นการจีบกันของหนุ่มสาว หรือผญาอีสานจีบสาว นั่นเอง)
ชาย : สุขซำบายหมั้นเสมอมันเครือเก่าบ่นอ เทิงพ่อแม่พี่น้องซำบายถ้วนอยู่สู่คนบ่เด
หญิง : น้องนี้ สุขซำบายหมั้น เสมอมันเครือเก่าอยู่ดอกอ้าย เทิงพ่อแม่พี่น้องซำบาย พร้อมสู่คน
ประเภทของผญา แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 4 ประเภท ดังนี้
1. ประเภทคำสอน เรียกว่า ผญาคำสอนหรือผญาภาษิต
2. ประเภทเกี้ยวพาราสี เรียกว่า ผญาเครือ, ผญาย่อย หรือผญา โต้ตอบ, การจ่ายผญา หรือการแก้ผญา
3. ประเภทปริศนา เรียกว่า ผญาปริศนา-ปัญหาภาษิต
4. ประเภทอวยพร เรียกว่า ผญาอวยพร
อย่างไรก็ตาม ผญาอีสาน อาจจำแนกแยกย่อยตามความต่างเล็กน้อยได้อีกเป็น 7 ประเภทดังนี้
1.ผญาคำสอน
2.ผญาปริศนา
3.ผญาภาษิตสะกิดใจ
4.ผญาเกี้ยวพาราสีทั่วไป
5.ผญาเกี้ยวพาราสีโต้ตอบหนุ่มสาว
6.ผญาหมวดภาษิตคำเปรียบเปรยต่าง ๆ
7.ผญาปัญหาภาษิต
ตัวอย่าง ผญาคำสอน
"ใจประสงค์สร้าง กลางดงกะว่าท่ง ใจขี้คร้าน กลางบ้านกะว่าดง"
ความหมาย : ถ้าใจสู้ (ขยัน) อยู่กลางป่าดงก็เหมือนกลางทุ่ง ถ้าเกียจคร้านแม้อยู่กลางหมู่บ้านก็เหมือนในกลางป่า
"ตีเจ็บแล้วแสนสิออยกะปานด่า แม่นว่าเว้าจ้อยจ้อยกะปานไม้แดกตา"
ความหมาย : เมื่อถูกตีเจ็บแล้วจะปลอบประโลมปานใดก็ไม่หายเจ็บ
ตัวอย่าง ผญาประเภทปริศนา
"อัศจรรย์ใจแข้ หางยาว ๆ สังบ่ได้ฮองนั่ง บาดกระต่ายหางแป ๆ กระต่ายหางก้อม ๆ สังมาได้นั่งฮอง"
ความหมาย : อัศจรรย์ใจ ที่ผู้มีความรู้มามาก ๆ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ผู้ร่ำเรียนมาน้อยกลับมีความสามารถประกอบอาชีพการงานได้สำเร็จและมั่นคงในชีวิต
ตัวอย่าง ผญาภาษิตสะกิดใจ
"บ่มีความฮู้อย่าเว้าการเมือง บ่นุ่งผ้าเหลืองอย่าเว้าการวัด"
ความหมาย : อย่าพูดในสิ่งที่ไม่รู้จริง
ตัวอย่าง ผญาเกี้ยวพาราสีทั่วไป
"อย่าให้เสียแฮงอ้ายเดินทางหิวหอด คือดั่งม้าอยากน้ำเดือนห้าหอดหิว
คันบ่กูร์ณาอ้าย เห็นสิตายม้อยระแหม่ง เห็นสิตายหอดแห้งหิวน้ำหอดแฮง"
ความหมาย : อย่าให้เสียแรงที่พี่ต้องดั้นด้นมาหา ได้โปรดกรุณารับไมตรีพี่ไว้อย่าแล้งน้ำใจนักเลย
ตัวอย่าง ผญาเกี้ยวพาราสีโต้ตอบหนุ่มสาว
(ชาย).... สุขซำบายหมั้นเสมอมันเครือเก่าบ่นอ เทิงพ่อแม่พี่น้องซำบายถ้วนอยู่สู่คนบ่เด
(หญิง) .... น้องนี้ สุขซำบายหมั้น เสมอมันเครือเก่าอยู่ดอกอ้าย เทิงพ่อแม่พี่น้องซำบาย พร้อมสู่คน
(ชาย).... อ้ายนี่อยากถามข่าวน้ำ ถามข่าวเถิงปลา ถามข่าวนา อยากถามข่าวเถิงเข้า อ้ายอยากถามข่าวน้องว่ามีผัวแล้วหรือบ่ หรือว่ามีแต่ซู้ ผัวสิซ้อนหากบ่มี
(หญิง).... โอนอ อ้ายเอย น้องนี้ปอดอ้อยซ้อยเสมอดั่งตองตัด พัดแต่เป็นหญิงมาบ่มี ซายสิมาเกี้ยว ผัดแต่สอนลอนขึ้นบ่มี เครือสิเกี้ยวพุ่ม พผัดแต่เป็นตุ่มไม้เครือสิเกี้ยวกะบ่มี
ความหมาย : เป็นการทักทายถามทุกข์สุข แล้วมีการหยอกล้อกันตามประสาคนรู้จัก
ตัวอย่าง ผญาหมวดภาษิตคำเปรียบเปรยต่าง ๆ
"มีเป็นคน จนเป็นหมา"
ความหมาย : ยามมีคนก็ให้ความสำคัญ ยามไม่มีก็หมดความสำคัญ
"เสือตายเพราะหนัง ช้างตายเพราะงา พระยาตายเพราะสมบัติ"
ความหมาย : ของล้ำค่าที่ครอบครอง จักนำภัยมาถึงตัว
ตัวอย่าง ผญาปัญหาภาษิต
"ตาดีไปคล้องซ้างสามคืนมาเปล่า ตาบอดไปคล้องคราวมื้อขี่มา"
ความหมาย : ถอดรหัสคือช้างหมายถึงสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ต้องการ นั่นคือ อบรมธรรม นิพพานธรรม วิสังขารธรรม หรือวิมุติหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง คนตาดีหมายถึงผู้มีความรู้ทางโลกหลายสาขาวิชา มีปริญญาหลายใบ แต่โง่ต่อสังขาร คือกิเลสปรุงแต่งจิต เขาจึงฟุ้งซ่านบังคับตัวเองไม่ได้ เพราะเหตุนี้เขาจึงคล้องช้างไม่ได้ แม้จะใช้เวลาไปมากมายก็ตาม ซึ่งต่างกับคนตาบอด คนตาบอดหมายถึงผู้รู้แจ้งในสังขารทั้งปวงว่าเป็นของไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงได้ จึงไม่เข้าไปยึดมั่นในสิ่งใดๆ เอามาเป็นตัวของกู แต่กลับมีสติที่สงบนิ่งคล้ายคนตาบอด ไม่สนใจในสังขารเหล่านั้น จึงสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา สู่วิสังขาร ด้วยเหตุนี้จึงขี่ช้างกลับมาในคราวมื้อเดียวนั้น
บทบาทสำคัญของผญาต่อสังคมอีสาน
ผญา หรือผญาอีสานมีความสำคัญต่อสังคมอีสานอย่างมาก เป็นเหมือนเครื่องมือส่งต่อคำสั่งสอนของผู้เฒ่าผู้แก่ มายังคนรุ่นหลัง มีบทบาทต่อความบันเทิงในท้องถิ่น จะเห็นได้จากการประยุกษ์มาเป็นการจ่ายหรือแก้ผญา ต่อยอดไปเป็นคณะหมอลำผญาเลยก็มาก มีความสำคัญในด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้อนถิ่นอีสาน สรุปคือ ผญา เป็นเหมือนสิ่งที่ผูกสายสัมพันธ์ของคนอีสานเอาไว้ด้วยกันอย่างแนบแน่น ไม่ว่าจะจากรุ่นสู่รุ่น หรือจากคนรุ่นเดียวกันก็ตาม
ขอขอบคุณ ความคิดดีดี จาก คุณ Min Min ที่ได้ส่งคอมเม้น มาเป็นกลอนผญาอีสาน ทำให้ได้กระทู้ดีดี จร้า ...