รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ พร้อมด้วย นางนงลักษณ์ เทศนา รอง ผอ.สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 6 ร่วมกันแถลงข่าวผลการตรวจสอบคนไข้ที่เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกหลังจากเข้ารับการรักษากับทางโรงพยาบาล เพียง 1 อาทิตย์ ก่อนเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งจากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า มีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดและป่วยด้วยไข้เลือดออกชนิดรุนแรงซึ่งพบได้ยากในประเทศไทย
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวว่า ผู้ป่วยที่พบเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีที่ 1 อายุ 18 ปี เพศหญิง ศึกษาอยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งถูกส่งต่อเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยอาการมีไข้สูงมา 5 วัน ซึ่งทันทีที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทีมแพทย์ยืนยันชัดเจนว่าคนไข้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ที่มีลักษณะอาการไม่ตรงไปตรงมา เนื่องจากมีอาการไข้สูงลอยตลอดเวลา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ผู้ป่วยป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกชนิดกลายพันธุ์ที่มีการแทรกซ้อนด้วยการติดเชื้อแบคทีเรียรวมอยู่ด้วย ทำให้มีอาการที่รุนแรงขึ้นคนไข้มีภาวะอาการช๊อค ตับวาย สมองอักเสบและระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและที่สำคัญคือผู้ป่วยมีเลือดออกมาก
ในเวลาต่อมาแม้ทีมแพทย์จะได้ให้เกร็ดเลือด พลาสมาและเม็ดเลือดแดงทดแทน แต่อาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น ก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจสอบและวินิจฉัยโรคอย่างละเอียดยืนยันว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนที่พบไม่บ่อยนักของอาการผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาการที่ถูกส่งต่อถึงมือแพทย์ที่ผู้ป่วยมีภาวะตับอักเสบ สมองอักเสบ และมีเลือดออกอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตามได้ส่งทีมวินิจฉัยโรคลงพื้นที่สืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงเนื่องจากเป็นโรคไข้เลือดออกที่อาจจะกลายพันธุ์เพราะพบน้อยมากในไทย ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า นักศึกษารายดังกล่าวจะพักประจำที่หอพัก 9 หลัง และทำกิจกรรมร่วมกับคณะฯ เนื่องจากเป็นน้องใหม่ของปีการศึกษา 2556 ขณะที่วันหยุด เสาร์-อาทิตย์ นั้นจะกลับไปพักที่บ้านในเขต อ.เมืองขอนแก่น ทำให้แนวทางสืบสวนให้น้ำหนักไปที่การทำกิจกรรมต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจถูกยุงลายกัดและสะสมเชื้อเป็นเวลานาน ทั้งนี้จะเร่งติดตามตัวนักศึกษาที่พักอยู่ร่วมห้องที่อาจจะเกิดภาวะของการติดเชื้อรวมไปถึงการพ่นยาฆ่ายุงในพื้นที่จุดเสี่ยง 3 คณะและโรงเรียนสาธิต ม.ขอนแก่นอีก 2 จุดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในภาพรวมทั้งนี้จะต้องแล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง