ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เบนีกโน อะคีโน จูเนียร์ (Benigno Aquino Junior) ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ร่วมกับผู้บัญชาการทหารอากาศ พลโทลอโร คาตาลิโน ดี ลา ครูซ (Lauro Catalino de la Cruz) เนื่องในโอกาสวันครบรอบปีที่ 66 การก่อตั้งกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ พิธีจัดขึ้นที่ฐานทัพอากาศคลาร์ก เมืองปัมปังกา (Pampanga City) ใกล้กับกรุงมะนิลา วันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้นำฟิลิปปินส์ถือโอกาสนี้ประกาศแผนพัฒนาทัพฟ้าให้ทัดเทียมกับเพื่อนบ้านภายในปี 2539 ขณะที่การหยั่งเสียงโดยสำนักข่าวของทางการพบว่านักบินกองทัพอากาศส่วนใหญ่เทใจให้กับ JAS-39 กริพเพน. -- Philippines Star/Willy Perez.
ซาบแถลงในวันพุธ 3 ก.ค.ว่า ได้เริ่มประกอบกริพเพ่นยุคใหม่ หรือ “กริพเพน E” (กริพเพนยุคใหม่/Next Generation) ซึ่งมีขั้นตอนที่สลับซับซ้อน โดยใช้เครื่องมือ และวิธีการทันสมัยที่สุด และหลังจาก “การวิจัยและพัฒนาอันเข้มงวด” ซาบใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ กว่า 1,000 คน ในการพัฒนา สร้างและประกอบกริพเพน-อี บริษัทผู้ผลิตกล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกจากสำนักงานใหญ่ในกรุงสตอกโฮล์ม
เครื่องต้นแบบที่ใช้รหัสเรียก “39-8” ผลิตออกมาเพื่อแสดงความสมบูรณ์แบบก่อนจะเริ่มเดินสายการผลิตออกสู่ตลาด และ กริพเพน-อี สมบูรณ์แบบลำแรกนี้ จะเป็นเครื่องที่ติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ ยุคใหม่ทั้งหมด รวมทั้งระบบเชื่อมโยงการสื่อสารใหม่ ระบบควบคุมการบินที่ล้ำยุค ติดเครื่องยนต์ที่ให้แรงบิดสูงขึ้น ประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น ทำให้บินได้ระยะทางไกลขึ้น นอกจากนั้น ยังมีจุดติดอาวุธมากขึ้น บรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้น ห้องนักบินเป็นระบบดิจิตอลที่ใช้จอแสดงผลแบบ “เฮด-อัป” (Head-Up Display) รวมทั้งติดตั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ล่าสุด กลุ่มซาบกล่าว
เครื่องต้นแบบ “39-8” ออกแบบขึ้นจากกริพเพนรุ่นเดิม แต่จะเป็นเครื่องบินรบที่แสดงฟีเจอร์ใหม่ๆ และขีดความสามารถต่างๆ ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งใหม่ๆ อันเป็น “การก้าวกระโดดทางเทคนิค” หลังจากที่กลุ่มซาบนำกริพเพ่น อี/เอฟ ซึ่งเป็นเครื่องสาธิต ออกแสดงให้เป็นที่ประจักษ์มาแล้วตั้งแต่ต้นปีจน ปัจจุบันมีชั่วโมงบินรวมกว่า 250 ชั่วโมง
กลุ่มซาบออกแถลงเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ว่า การทดลองยิงจรวดมีทีออร์ (Meteor) “ผีพุ่งไต้” จาก JAS-39 ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยร่วมกับองค์การวัสดุอุปกรณ์กลาโหมของสวีเดน และได้เริ่มผลิตจรวดต่อสู้อากาศยานควบคุมด้วยเรดาร์ แบบยิงจากอากาศสู่อากาศรุ่นนี้แล้ว
“กริพเพนจึงเป็นเครื่องบินรบรุ่นแรกในโลกที่มีขีดความสามารถในการยิงจรวดมีทีออร์เวอร์ชันนี้” ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้กับกริพเพน ยูโรไฟเตอร์ (อังกฤษ) และราเฟล (ฝรั่งเศส) กลุ่มซาบกล่าว
การทดลองยิงจรวดมีทีออร์ 2 ลูกจากกริพเพน จัดขึ้นวันที่ 30 มิ.ย.2556 จรวดทำลายเป้าหมายที่อยู่ห่างไกลออกไปอย่างแม่นยำ “ซึ่งแสดงให้เห็นประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยมในการเชื่อมสัญญาณติดต่อกันระหว่างเครื่องบินกับจรวด ตลอดจนขีดความสามารถในการล็อกเป้าหมายของจรวด”
นอกจากนั้น ยังเป็นการทดลองอุปกรณ์ควบคุมใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับนักบินของกริพเพน กับระบบเรดาร์ PS05 ของซาบ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถติดตั้งบนกริพเพนซีและดี ได้ทันที นายไมเคิล โอสเตอร์เกรน ผู้อำนวยการโครงการทดลองนี้กล่าวในคำแถลงของซาบ
มีทีออร์ เป็นจรวด BVRAAM (Beyond Visual Range Air-to-Air Missile) ใช้ยิงทำลายเป้าหมายที่อยู่พ้นระยะสายตาในระยะไกลออกไป ระบบจรวดมีทีออร์เกิดจากการวิจัยและทดลองร่วมกันของหน่วยงานกลาโหมของหลายประเทศยุโรปคือ สวีเดน ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เยอรมนี และอังกฤษ
กริพเพน NG ติดจรวด IRIS-T, Meteor และ จรวด GBU-10 เครื่องบินรบของสวีเดนติดอาวุธได้หลายสิบชนิด ปฏิบัติการได้ทั้งเชิงเดี่ยวและฝังตัวในระบบป้องกันที่ใหญ่โตโดยการสื่อข้อมูลระหว่างกันด้วยระบบอันล้ำยุค.
กริพเพน Next Generation ในภาพจากคอมพิวเตอร์ ถ้าหากกองทัพอากาศฟิลิปปินส์เลือกเครื่องบินรบของสวีเดนก็คงจะไม่พ้นเวอร์ชั่นล่าสุดที่กำลังประกอบอยู่ในขณะนี้ คือ กริพเพน-อี ที่ก่อเกิดมาพร้อมกับจรวดมีทีออร์ล้ำสมัย.
หมายเลข 101 ของกองทัพอากาศสวีเดนมีข้อความติดเอาไว้ที่แพนหางว่า Gripen-Meteor บอกให้รู้ว่าสองสิ่งนี้เป็นของคู่กัน กองทัพอากาศสวีเดนเป็นแห่งแรกที่นำจรวด AAM ล้ำยุครุ่นนี้เข้าประจำการตั้งแต่ปี 2556 "ไต้ฝุ่น" ของอังกฤษ กับ "ลาฟาล" ฝรั่งเศสเริ่มติดตั้งในปี 2558.
จรวดมีทีออร์ไปออกงานกับยูโรไฟเตอร์ไต้ฝุ่นของอังกฤษ ข้อความโฆษณาบอกว่าเป็นจรวดยิงเป้าหมายที่อยู่ไกลลับสายตา ร่วมกันพัฒนาโดยหลายประเทศเพื่อติดตั้งใน JAS-39 กริพเพน "ไต้ฝุ่น" กับราฟาล ของดาสซอลต์ แห่งฝรั่งเศส ขณะที่กองทัพอากาศเนเธอร์แลนด์ประกาศจะนำจรวด AAM รุ่นนี้ไปติดตั้งใน F-35 ที่ซื้อจากสหรัฐ.
กริพเพน-อี หรือ กริเพนเอ็นจี (Next Generation) ตัวใหม่ที่อยู่ระหว่างประกอบเครื่องทดสอบ งามหมดจด ติดตั้งอุปกรณ์ยุคใหม่ทุกชิ้น ซาบกล่าวว่ากริพเพนรุ่นปัจจุบันราคาลำละ 60 ล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่ยังไม่มีการประกาศราคาของกริพเพน-อี ที่จะตามออกมา.
หุ้นส่วน 6 ประเทศที่ร่วมกันพัฒนากล่าวว่าทันทีที่ยิงออกไป จรวดมีทีออร์จะทำให้เกิด No Escape Zone (เขตหมดโอกาสหลบหนี) ขึ้น อันเป็นมาตรฐานที่เหนือกว่า AIM-120 AMRAAM ของเรย์ธีออนแห่งสหรัฐ ระยะปฏิบัติการของมีทีออร์ยังเป็นความลับ แต่เชื่อกันว่าเป็นระยะลับสายตา 100 กิโลเมตรขึ้นไป เคล็ดลับอยู่ที่การสามารถควบคุมระบบจรวดขับดันได้ ซึ่งเมื่อเข้าใกล้เป้าหมายจะบังคับให้ "ผีพุ่งใต้" พุ่งเข้าหาด้วยความเร็วสูงถึง 4 เท่าเสียงหมดโอกาสที่จะยิงสะกัด.