แพทยสภา ลุยตรวจสอบกรณี นศ.ม.รามฯถูกควักลูกตา ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ ยันอาการฟันผุแล้วอักเสบจนถึงขั้นลามขึ้นตา จนต้องควักลูกตาสามารถเกิดขึ้นได้ หากมีการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด...
กรณีนางลีนา จังจรรจา ประธานมูลนิธิลีน่าจัง พานักศึกษาสาวมหาวิทยาลัยรามคำแหงเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง
ในความผิดฐานกระทำการโดยประมาทจากการวินิจฉัยผิดส่งผลให้ตาขวาบอด จนต้องควักลูกตาออกนั้น ล่าสุด นพ. นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ได้มอบหมายให้กองการประกอบโรคศิลปะ เข้าไปตรวจสอบแล้ว ซึ่งในส่วนของกองการประกอบโรคศิลปะ จะเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานของสถานพยาบาลว่ามีมาตรฐานตามที่กำหนดหรือไม่
สำหรับแพทย์ที่ทำการรักษาทางราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย จะเข้าไปตรวจสอบ
หากพบว่ามีการรักษาที่ไม่ถูกต้องก็จะดำเนินการยึดใบประกอบโรคศิลปะต่อไป ส่วนการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายนั้นทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีกองทุนที่คอยให้การช่วยเหลืออยู่
พญ. สุดารัตน์ ใหญ่สว่าง ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามข่าวที่ระบุว่าผู้ป่วยมีอาการมาจากโรคฟันผุ ติดเชื้อในช่องปากทำให้ตาบวมนั้น
การที่จะเกิดความรุนแรงลามไปถึงขั้นต้องควักดวงตาออกมานั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะหากมีการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด แพทย์ก็เกรงว่าจะลามไปยังดวงตาอีกข้าง จึงจำเป็นที่จะต้องควักลูกตาออก แต่โอกาสเกิดขึ้นถือว่าน้อยมาก ยิ่งเกิดจากการติดเชื้อรายิ่งยาก และอันตรายมาก เพราะเชื้อราส่วนใหญ่ติดแล้วมักจะดื้อยา ส่วนสาเหตุจะเกิดจากโรงพยาบาลรักษาช้าหรือไม่ ต้องขอดูประวัติการรักษาของผู้ป่วยก่อน
ด้าน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัดว่า กรณีดังกล่าวเกิดจากการวินิจฉัยผิดของแพทย์หรือไม่
ดังนั้นจำเป็นต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน หากพบว่าผิดจริงก็จะดำเนินการด้านจริยธรรมกับแพทย์ผู้รักษาทันที อย่างไรก็ตาม อาการฟันผุขั้นรุนแรงจนถึงขั้นลุกลามติดเชื้อในดวงตา สามารถพบได้ เนื่องจากหากมีอาการฟันผุบริเวณฟันกรามด้านในมากๆ และไม่รีบไปพบแพทย์ก็จะเกิดการอักเสบไปถึงไซนัส และจะลุกลามไปยังดวงตา จนเกิดเป็นฝีเป็นหนองในเบ้าตา ทำให้ตาบอดได้ ซึ่งที่ผ่านมาตนเคยรักษาอาการลักษณะนี้ในเด็กเล็กราว 40-50 คน แต่รักษาทัน ปัจจุบันสามารถมองเห็นได้ ส่วนกรณีผู้เสียหายรายนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เกิดจากสาเหตุใด