จากรายงานประจำปีของ เดอะ แบงก์เกอร์ นิตยสารด้านการเงิน ระบุว่า ธนาคารของจีนคว้าอันดับ 1 ธนาคารชั้นนำของโลก จากทั้งหมด 1,000 อันดับ เป็นครั้งแรกในปีนี้
โดยอินดัสเทรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า หรือ ธนาคารไอซีบีซีของจีน ขยับจากอันดับ 3 ในปีที่แล้ว ขึ้นมาอยู่อันดับ 1 ทำให้แบงก์ ออฟ อเมริกา แชมป์ปีที่แล้วตกมาอยู่อันดับ 3 แทน ส่วนเจพี มอร์แกนยังรักษาอันดับ ที่ 2 ไว้ได้
โดยพิจารณาจาก เงินทุนชั้นที่ 1 ของธนาคาร ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการวัดความแข็งแกร่งโดยธนาคารไอซีบีซี ขยับขึ้นเป็นธนาคารชั้นนำอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากมีเงินทุนเพิ่มถึง 15% เป็น 160,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4,818,000 ล้านบาท ขณะที่ไชน่า คอนสตรั๊ก แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของจีน มีเงินทุนเพิ่ม 15% เป็น 137,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4,128,000 ล้านบาท และคว้าอันดับ 5 จากซิติกรุ๊ป มาครอง นอกจากนั้น มีธนาคารจีนถึง 96 ราย ที่ติดใน 1,000 อันดับ และติดอันดับท็อปเทนถึง 4 ราย
สหรัฐฯ มั่นใจรับมืออิหร่านลดส่งออกน้ำมันได้
นายเออร์เนสต์ โมนิส รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ กล่าวว่า ตลาดน้ำมันโลกสามารถรับมือได้ หากน้ำมันจากอิหร่านลดลง ผลจากมาตรการคว่ำบาตร ที่เข้มงวดขึ้น เพราะมีซัพพลายจากสหรัฐฯ และอิรักมาชดเชย
โดยผลผลิตน้ำมันที่เพิ่ม ขึ้นของสหรัฐฯ และอิรัก หมายความว่า อิหร่านไม่ใช่ "ผู้ครอบครองตลาด" ในขณะนี้ นอกจากนี้ สมาชิกโอเปคอย่างซาอุดีอาระเบีย ก็มีศักยภาพการผลิตสำรองอยู่มาก
ดังนั้น หากมีการคว่ำบาตรเพิ่มเติม ตลาดก็น่ารับมือได้ เพราะในมุมมองด้านเทคนิคแล้ว สามารถรับมือกับการลดการส่งออกน้ำมันของอิหร่านได้อย่างแน่นอน
หลังข้อมูล อุตสาหกรรมระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสกัด รายได้จากน้ำมันเข้าสู่ประเทศอิหร่าน และบีบให้รัฐบาลอิหร่านเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์นั้น ทำให้การส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านลดเหลือ 7 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปี