สภาผู้แทนราษฎรไอร์แลนด์มีมติรับรองร่างกฎหมายอนุญาตการทำแท้ง"ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะ"เป็นครั้งแรก
หลังการอภิปรายตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรไอร์แลนด์ มีมติเสียงข้างมาก 127-31 รับรองร่างกฎหมายปกป้องชีวิตมารดาขณะตั้งครรภ์ ที่อนุญาตให้มารดาทำแท้งได้เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่า สภาพร่างกายของมารดาอ่อนแอจนอาจถึงแก่ชีวิตจนไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อได้แล้วเท่านั้น
ด้านฝ่ายค้าน แสดงความเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวที่ยังต้องรอผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา อาจนำไปสู่การทำแท้งที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนกลุ่มอื่นๆแย้งว่าร่างกฎหมายมีข้อจำกัดมากเกินไป เนื่องจากไม่อนุญาตให้ทำแท้งในกรณีที่สตรีถูกข่มขืน หรือการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว หรือในกรณีที่ตัวอ่อนมีความผิดปกติ หรือในกรณีที่ตัวอ่อนไม่สามารถมีชีวิตรอดนอกมดลูกได้
ด้านกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการทำแท้ง กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะยินยอมให้เกิดการฆ่าทารกที่ยังไม่ถือกำเนิดโดยเจตนา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไอร์แลนด์ มิใช่เฉพาะประเด็นด้านศาสนาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงกับประเด็นสิทธิมนุษยชน ที่กลุ่มเชื่อว่าในการตั้งครรภ์ มารดาและทารกในครรภ์มีสิทธิที่จะมีชีวิตเท่าเทียมกัน
ร่างกฎหมายฉบับนี้ ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนฯไอร์แลนด์ หลังเที่ยงคืนที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น หลังผ่านการอภิปรายอย่างดุเดือดถึง 2 รอบ แต่ถึงกระนั้น ผู้ที่สนับสนุนการเข้าถึงการทำแท้งกล่าวว่า ร่างกฎหมายเพิกเฉยต่อความจริงที่ว่า มีผู้หญิงไอริชเฉลี่ย 11 ราย ที่เดินทางไปทำแท้งในอังกฤษต่อวัน
นับตั้งแต่ที่ศาลฎีกาไอร์แลนด์ มีคำตัดสินชี้ขาดเมื่อปี 1992 ที่รู้จักกันในชื่อกรณี "X" การทำแท้งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่การตั้งครรภ์อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมารดา หลังจากเกิดกรณีการฆ่าตัวตายของเด็กหญิงวัย 14 ปีที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากโดนเพื่อนบ้านข่มขืน เพราะโดนสั่งห้ามมิให้ไปทำแท้งในอังกฤษ
ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เกิดกรณีที่นางสาวิตา ฮาลัปปานาวาร์ หญิงชาวไอริชเชื้อสายอินเดีย วัย 31 ปี เดินทางมาขอรับการทำแท้งที่โรงพยาบาลในเมืองกัลเวย์ เนื่องจากมีอาการตกเลือด ทว่าสูตินรีแพทย์กลับปฏิเสธจะทำแท้งให้ โดยให้เหตุผลว่า สภาพร่างกายของเธอยังดูสมบูรณ์แข็งแรงในเวลานั้น ซึ่งเธอเสียชีวิตเพียงไม่กี่วันถัดมา ด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต