เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ ตามตำนานกล่าวว่า มีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลาย เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมายได้แก่
พระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปรฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลูเช่นกัน ฐานเป็นบัวลูกแก้ว ส่วนองค์เป็นทรงกลมแบบล้าน ภายนอกบุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีลายสลักดุน เป็นลวดลายประจำยามแบบต่าง ๆ ลักษณะเจดีย์แบบนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อพระธาตุหริภุญไชย และพระบรมธาตุจอมทอง ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศา และพระอัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระธาตุมีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่
วิหารหลวง วิหารขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2019 โดยเจ้าหมื่นคำเป๊ก ภายในมีซุ้มปราสาททองเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ด้านหลังเปนที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ บนแผงไม้คอสองมีภาพจิตรกรรมเก่าแก่งดงามเรื่องทศชาติและพรหมจักร
วิหารพระพุทธ ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี เดิมเป็นวิหารเปิดโล่งหน้าบันเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่เต็มอาคาร ก่ออิฐถือปูน ศิลปะเชียงแสน และยังปรากฏเงาพระธาตุภายในวิหารอีกด้วย
เมื่อหันหน้าเข้าหาวิหารหลวง ด้านขวามือ คือ วิหารน้ำแต้ม หรือวิหารภาพเขียนสี (“แต้ม” แปลว่า ภาพเขียน) สร้างเมื่อ พ.ศ.2044 เป็นวิหารเปิดโล่งที่เก่าแก่ที่สุดอีกหลังหนึ่งทางภาคเหนือ ภายในเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม ไม่มีฝ้าเพดาน กำแพงด้านพระประธานเขียนภาพลายทองบนพื้นรักแดง มีภาพจิตรกรรมศิลปะล้านนาบนแผงไม้คอสองที่กล่าวกันว่าเก่าแก่ที่สุด และหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา แต่ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมาก และประดิษฐานพระพุทธรูปสัมริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.25 เมตร สูง 1.25 เมตร
ซุ้มพระบาท สร้างครอบพระพุทธบาทไว้ ฐานก่อขึ้นเป็นชั้นคล้ายฐานเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 1992 ภายในมองเห็นแสงหักเหปรากฏเป็นเงาพระธาตุและพระวิหารในด้านมุมกลับ แต่มีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้น
กุฏิพระแก้ว เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างเมื่อใด แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปีมาแล้ว
วิหารพระเจ้าศิลา เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าศิลาซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้ เมื่อ พ.ศ. 1275 พระบิดาของพระนางจามเทวีมอบให้ประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้
พิพิธภัณฑ์ รวบรวมศิลปวัตถุจากที่ต่าง ๆ ที่หาชมได้ยาก เช่นสังเค็ด ธรรมาสน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น
นอกจากนี้วัดพระธาตุลำปางหลวงยังเป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า (พระแก้วมรกต) พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะล้านนาสลักด้วยหยกสีเขียว ทุกปีจะมีงานนมัสการพระแก้วดอนเต้าในวันเพ็ญเดือน 12 ตามคติความเชื่อของการไหว้พระธาตุปีเกิด พระธาตุลำปางหลวงเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีฉลู นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมวัดพระธาตุลำปางหลวงได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 07.30-17.00 น.
การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 18 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายลำปาง-เถิน ถึงหลักกิโลเมตรที่ 586 เลี้ยวเข้าไปจนถึงที่ว่าการอำเภอเกาะคา จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าอีก 1 กิโลเมตร หรือหากเดินทางโดย รถโดยสารประจำทาง สามารถใช้บริการรถสองแถวสีฟ้าที่ถนนรอบเวียงใกล้ตลาดออมสิน
ข้อมูลจาก: thai.tourismthailand
ขอบคุณภาพจาก siamfreestyle / และ huanjung