สมองเสื่อม ภาวะที่คนไทยเป็นกันมากขึ้น
“ภาวะสมองเสื่อม” เกิดจากความเสื่อมถอยของเซลล์สมองที่เกี่ยวกับความรอบรู้ พฤติกรรม บุคลิกภาพ ซึ่งไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด แต่เมื่อเป็นแล้วอาจมีความรุนแรงจนกระทบกระเทือนการใช้ชีวิตประจำวันได้ ภาวะสมองเสื่อมพบได้ร้อยละ 5 ในคนอายุ 65 ปีขึ้นไป และพบได้ร้อยละ 20 ในกลุ่มคนอายุ 80 ปีขึ้นไป ซึ่ง“โรคอัลไซเมอร์” เป็นโรคที่พบมากที่สุดถึงร้อยละ 50-70 จากกลุ่มโรคที่มีภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด รองลงมาคือ “สมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน”ย่างไรก็ตาม ภาวะสมองเสื่อมยังเกิดจากโรคและสาเหตุอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากการพัฒนาของโปรตีนที่ผิดปกติภายในเซลล์สมอง ความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่สมองด้านหน้าและด้านข้าง (Fronto-temporal) พันธุกรรม เนื้องอกในสมอง การติดเชื้อในสมอง การทำงานของต่อมไร้ท่อบางชนิดผิดปกติไป จากการใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อสมองเป็นเวลานานจากอุบัติเหตุ หรืออาจเกิดจากหลายสาเหตุรวมกัน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุที่น่าสนใจที่อาจนำมาซึ่งภาวะสมองเสื่อมได้อีกนั่นก็คือการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 1 บี 12 กรดโฟลิก พบได้มากในคนที่ ติดสุราเรื้อรัง คนที่กินอาหารมังสวิรัติติดต่อกันนานกว่า 10 ปี คนที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กออกไป เป็นต้น
ย้อนกลับมาที่โรคอัลไซเมอร์ซึ่งเป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบมากที่สุดและเราทุกคนก็มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ได้ร้อยละ 10–15 ด้วยเช่นกัน โรคอัลไซเมอร์ ส่วนใหญ่จะพบมากในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้นทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเป็นได้เท่าๆ กัน
เนื่องจากคนมีอายุยืนยาวขึ้น เมื่อเป็นโรคนี้เซลล์สมองจะถูกทำลาย โดยไม่มีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นทดแทน ส่งผลให้มีความบกพร่องทางสมอง ในส่วน ของสติปัญญา เช่น ความคิด ความจำ การใช้ภาษา การตัดสินใจ การประสานงานของกล้ามเนื้อเสียไป ฯลฯ เป็นการเสื่อมสลายของเซลล์สมองอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 3-20 ปี โดยเฉลี่ยที่ประมาณ 8 ปี ขึ้นกับระยะเมื่อได้รับการวินิจฉัยและภาวะสุขภาพทางกายโดยรวม ของแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม ภาวะสมองเสื่อมส่วนใหญ่ยังรักษาไม่ได้ แต่อาจชะลอการเสื่อม ได้ด้วยวิธีการรักษาทางการแพทย์และการดูแลตัวเอง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด ในการดูแลรักษาสมองของเราให้มีสุขภาพดีห่างไกลจากความเสื่อมให้ได้นาน ที่สุดก็คือการป้องกันไว้อย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ โดยขอแนะนำดังนี้
งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะส่งผลต่อสมองโดยตรง
ระวังเรื่องการใช้ยา ไม่ควรใช้ยาเอง แต่ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่ง และเมื่อป่วยควร นำยาที่รับประทานเป็นประจำไปให้แพทย์ดูด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงการสั่งยาซ้ำซ้อน
ระมัดระวังสารพิษและการเกิดอุบัติเหตุ ที่กระทบกระเทือนศีรษะ
ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากพบโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูงหรือความดัน โลหิตสูง ต้องรักษาและปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
ออกกำลังกายเป็นประจำ
ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ
กินอาหารที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสมอง และมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี ซิลีเนียม กรดไขมันดีเอชเอในกลุ่มโอเมก้า-3 ธาตุเหล็ก แป๊ะก๊วยและใบบัวบก ซึ่งมีผลการวิจัยพบสารสำคัญที่มีประโยชน์ ต่อสมอง เป็นต้น
ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้ความคิดสม่ำเสมอ เพื่อบริหารสมองและความจำ เช่น เล่นหมากรุก ซุโดกุ อ่านหนังสือ รวมถึง Brain Gym เป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหว ร่างกายท่าต่างๆ ที่จะช่วยให้สมองสองซีกทำงานประสานกันได้ดีขึ้น เพิ่ม ประสิทธิภาพการเรียนรู้ สมองตื่นตัว ช่วยเรื่องการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว อีกทั้งยังช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และทำให้จิตใจสงบ
“สมอง” ของเราเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ตรวจสอบได้ยาก กว่าจะรู้ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีอาการและสัญญาณต่างๆ แสดงให้เห็นแล้ว การหมั่นดูแล และป้องกันด้วยวิธีที่แนะนำต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีประโยชน์และไม่ควรมองข้าม เพื่อรักษาสมองปราดเปรื่องให้อยู่กับเราจนแก่เฒ่า
ที่มา..Nutrilite