เดิมคนไทยไม่ได้มีนามสกุล จะมีเพียงชื่อเรียกเท่านั้น ในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงโปรดให้มีการตั้งนามสกุลเหมือนกับประเทศอื่นๆ โดยให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 หลายครอบครัวก็ตั้งนามสกุลตามชื่อของผู้นำของครอบครัวนั้น หรือตามถิ่นที่อยู่อาศัยของครอบครัวนั้น ดังที่จะขอกล่าวถึงนามสกุลดังต่อไปนี้โดยไม่เรียงลำดับความเก่าแก่ของแต่ละนามสกุล แต่จะเป็นนามสกุลที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ถึงตัวตนของบรรพบุรุษแต่ละสกุล โดยส่วนมากจะเป็นตระกูลของเจ้าเมือง ขุนนางในราชสำนัก และคหบดี มาแต่ครั้งกรุงเก่า เป็นต้น
1 บุนนาค นับว่าเป็นตระกูลที่เก่าแก่ บรรพชนของสกุลบุนนาคสืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) มีนามว่า เฉกอะหฺมัด ที่เข้ามารับราชการในกรุงพระนครศรีอยุธยา ในสมัยรัตนโกสินทร์ยังได้เป็นราชินิกุลอีกด้วย
2 ณ บางช้าง ซึ่งเป็นพระญาติวงศ์ในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช. นอกจากนั้น สกุล ณ บางช้าง ยังเป็นราชสกุลหนึ่งที่สืบเชื้อสายจากราชวงศ์สุโขทัยแห่งอาณาจักรอยุธยา
3 วัชโรทัย สืบสกุลมาจากพระยาอุทัยธรรม เจ้ากรมภูษามาลาในรัชกาลที่หนึ่งนั้น ท่านเคยรับราชกาลเป็นภูษามาลาในสมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้ว เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นปราบดาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ จึงเข้ามาถวายตัวเพื่อทำตำแหน่งสืบตระกูลภูษามาลาอย่างต่อเนื่องจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
4 สุจริตกุล ต้นตระกูลสุจริตกุล คือหลวงอาสาสำแดง (แตง) สืบเชื้อสายมาจากขุนนางในราชสำนักกรุงเก่า กับท้าวสุจริตธำรง (นาค) เป็นนายวิเสทกลางหวานในพระบรมมหาราชวัง ตำแหน่งเดิมท้าวทองพยศ ตราตระกูลจึงเป็นรูปพญานาคพันแตง
5 ณ ป้อมเพชร เป็นตระกูลเก่าแก่ที่สืบทอดมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และพระสมุทบุรานุรักษ์ (ขำ) ต้นสกุลนั้น ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา" (ขำ ณ ป้อมเพชร์) อธิบดีกรมราชทันฑ์คนแรกของประเทศไทย
6 โรจนกุล ตระกูลของเจ้าพระยาพิษณุโลก สืบเชื้อสายมาจากบิดาซึ่งเป็นพราหมณ์ชื่อ พราหมณ์ศิริวัฒนะ ราชปุโรหิตในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 แห่งราชวงศ์ปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา
7 อมาตยกุล ตระกูลนี้สืบเชื้อสายมาจากขุนนางเก่าแก่ของกรุงศรีอยุธยา และเป็นขุนนางสืบต่อกันมาเรื่อยโดยไม่เว้นช่อง ตั้งแต่แผ่นดินพอเจ้าประสาททอง จนถึงกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ ๖ รัชกาลถึง ๑๕ แผ่นดิน เป็นถึงชั้นพระยามีมากหลายท่านที่เป็นขุนหลวงพระแตกสาขาออกไปอีกนับร้อย
8 ณ นคร สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช แห่งราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงนายสิทธิ์นายเวรมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นปลัดเมืองนครศรีธรรมราช
9 บุรณศิริ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) ต้นตระกูล “บุรณศิริ” ที่สืบเชื้อสายจากพราหมณ์เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย เข้ารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ต้นตระกูล “บุรณศิริ” ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยาธรรมกรณาธิบดี” เสนาบดีกระทรวงวัง ต่อมาเมื่อชราได้รับพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯเปลี่ยนราชทินนามเป็น “เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี”
10 ราชตระกูลสายสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีพระคลังในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นออกพระวิสุทธสุนทร และได้เดินทางไปถวายพระราชสาส์นของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อ พ.ศ. 2228 มีดังนี้ นรินทรางกูร เทพหัสดิน มนตรีกุล อิศรางกูร เจษฎางกูร นรินทรกุล
ปล. ยังมีนามสกุลเก่าแก่ที่สืบเชื้อสายมาแต่ครั้งกรุงเก่าอีกมาก จะขออนุญาต ยกมาเพียงนามสกุลที่กล่าวไว้ข้างต้นเพื่อเป็นปฐม