นักวิทยาศาสตร์สหรัฐคาด มีดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตในกาแล็กซีเดียวกับโลกมากกว่า 60,000 ล้านดวง
นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐ เปิดเผยผลการสำรวจทางดาราศาสตร์ในวารสาร Astrophysical Journal Letters ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีดาวเคราะห์ที่สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้จำนวนมากถึง 60,000 ล้านดวงเฉพาะในกาแล็กซีทางช้างเผือก หรือระบบกาแล็กซีของเราเพียงแห่งเดียว
ข้อมูลเหล่านี้รวบรวมขึ้นจากยานเคปเลอร์ขององค์การนาซา
ซึ่งมีหน้าที่สำรวจและค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ จากผลการสำรวจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ได้ว่า มีดาวเคราะห์จำนวนมหาศาลที่โคจรรอบดาวฤกษ์ที่เปล่งแสงเหมือนดวงอาทิตย์ในระยะที่เหมาะสมเหมือนกับโลก
ดอเรียน แอ็บบอต ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่า ดาวเคราะห์เหล่านี้มีมวลเมฆที่สามารถสะท้อนแสงของดาวฤกษ์ ทำให้บรรยากาศของดาวเย็นลง อีกทั้งยังดูดกลืนการแผ่รังสีความร้อนจากพื้นดินจนก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต
การปรากฏตัวของเมฆหมายความว่าดาวดวงนั้นๆ จะต้องมีน้ำอยู่บนพื้นผิว อย่างไรก็ตาม หากมีวงโคจรที่ห่างจากดาวฤกษ์จนเกินไปน้ำจะแข็งตัว และหากอยู่ใกล้เกินไปน้ำจะระเหยจนหมด ไม่อาจเกิดปรากฏการณ์ก่อตัวเป็นกลุ่มเมฆได้
จากปัจจัยดังกล่าวทำให้คณะนักวิทยาศาสตร์ทำแบบจำลอง 3 มิติ เพื่อวิเคราะห์วงโคจรของดาวนับหมื่นล้านดวงที่ได้จากยานเคปเลอร์ ด้วยการสำรวจหาสัญญาณความเย็นที่พบในช่วงที่ดาวหันหน้าเข้าหาแสง หรือช่วงกลางวัน ซึ่งหากพบสัญญาณดังกล่าว ก็เท่ากับเป็นการยืนยันว่า มีกลุ่มเมฆหรือมีภาวะที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต
ทั้งนี้ แบบจำลองรวมถึงข้อมูลที่ได้ จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาระบบตรวจสอบน้ำบนพื้นผิวดาว ที่จะนำมาใช้กับหอดูดาวเจมส์ เวบบ์ (JWST) ซึ่งจะมีกำหนดเปิดทำการในปี 2018
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้มีดาวเคราะห์คล้ายโลกราว 10 กว่าดวงเท่านั้น ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถยืนยันได้อย่างเป็นทางการว่าสิ่งมีชีวิตสามารถอยู่อาศัยได้อย่างแน่นอน