ปวดหัวที ก็หยิบกินที ปวดนิดปวดหน่อย ก็หยิบใส่ปากกินเอาง่ายๆ
ยาครอบจักรวาล “พาราเซตามอล” ที่กินกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน น้อยคนนักที่รู้ว่าเป็นยาอันตราย
ผลข้างเคียงจากยาสามัญประจำบ้านชนิดนี้ คือ การเป็นพิษต่อตับ บางรายหนักเข้าถึงขั้นตับวาย
ตับวาย ตับอักเสบเฉียบพลันและภาวะตับวาย หากไม่ได้รับการรักษาหรือเปลี่ยนตับอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้ ส่วนตับเป็นพิษ แม้อาการจะเบาลงหน่อย แต่ในระยะยาวมีโอกาสเข้าสู่ภาวะตับวายได้
ดังข้อจำกัดหรือเพดานขั้นสูงของการกินยาพาราเซตามอล คือ ไม่ควรเกิน 8 เม็ดต่อวัน หรือ 4 กรัม นั่นเพราะผลการศึกษาของประเทศสหรัฐ พบว่า ผู้ที่กินพาราเซตามอลเกิน 4 กรัมต่อวัน กว่า 50% ป่วยเป็นโรคตับวาย
ความอันตรายที่เกิดขึ้น ถึงขั้นที่องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐ (U.S.Food and Drug Administration หรือ USFDA) ออกประกาศในปี 2554 ให้บริษัทยาที่ผลิตยาแก้ปวดสูตรผสมที่มีพาราเซตามอล ลดปริมาณยาพาราเซตามอลลงจากเดิม จากขนาด 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด เป็น 325 มิลลิกรัมต่อเม็ด
สำหรับฉลากยาในประเทศไทย มีการเขียนติดไว้ว่ารับประทานครั้งละ 12 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าผิด!!
นั่นเพราะหากผู้ป่วยมีอาการมากๆ แล้วกินตามที่ฉลากแนะนำ อาจถึงขั้นกิน 12 เม็ด ซึ่งแน่นอนว่าอันตรายเป็นอย่างมาก ยิ่งหากกินติดต่อกัน 3-4 วัน มีโอกาสเกิดพิษต่อตับสูง
ความเชื่อเดิมๆ โดยเฉพาะที่เข้าใจกันว่า กินยาพาราเซตามอลตามอาการ ปวดมากกินมาก ปวดน้อยกินน้อย เด็กน้ำหนักน้อยกินน้อย ผู้ใหญ่น้ำหนักมากกินมาก นั้นจึงเป็นความเชื่อที่ผิดอีกเช่นกัน
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือความเคยชินของการซื้อยา บางครอบครัวมีการซื้อยาพาราเซตามอลเป็นกระปุก กระปุกละ 100 เม็ด ทุกคนในครอบครัวสามารถหยิบกินได้ง่าย มองเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่บางอาการปวดสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องกินยา แต่หากกินครั้งหรือสองครั้งไม่เป็นไร ยังอยู่ในระดับปลอดภัย แต่เมื่อเริ่มกินติดต่อกันนั่นเท่ากับกำลังเข้าสู่ความอันตราย
อย่างไรก็ตาม ในบางอาการ อาทิ ปวดท้อง ท้องเสีย ลำไส้บิด ไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยาพาราเซตามอล ดังนั้นจึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสม
นอกจากนี้ ในการกินยาพาราเซตามอลร่วมกับยาอื่นๆ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อซึ่งมีส่วนผสมของพาราเซตามอลด้วยเช่นกัน อาจส่งให้ร่างกายได้รับยาเกินขนาดได้