คางคกยักษ์ การบุกรุกของสายพันธุ์ต่างด้าว

สวัสดีครับเพื่อนๆ เมื่อคืนได้อ่านเรื่องคางคกยักษ์บุกรุกน่านน้ำจระเข้พันธุ์แคระของออสเตเรีย สาเหตุเริ่มต้นจากการกำจัดสัตว์ศัตรูพืช ด้วยการนำสัตว์อีกสายพันธุ์เข้ามาจัดการด้วยวิธีธรรมชาติ จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เรื่องบางเรื่องก็พลาดได้ จนเป็นสาเหตุแห่งการตามล่าล้างเผ่าพันธุ์เจ้าคางคกยักษ์สัตว์ที่นำเข้ามาเสียเอง

เมื่อ 78 ปีก่อน วันที่ 18 สิงหาคม ปี 1935 คางคกยักษ์จำนวน 102 ตัวเดินทางออกจากฮาวายในสหรัฐอเมริกามาถึงทวีปออสเตรเลีย คางคกพวกนี้ถูกปล่อยในสวนอ้อยทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ เพื่อให้ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณความเสียหายที่เกิดจากเต่าทองอ้อย

แต่ ณ ปัจจุบันออสเตรเลียมีประชากรคางคกยักษ์กว่า 100 ล้านตัว พวกมันขยายพันธุ์ไปยังพื้นที่ต่างๆ เป็นบริเวณกว้างกว่าประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปนรวมกันซะอีก และพรมแดนที่อยู่อาศัยของพวกมันก็แผ่ขยายออกไปปีละกว่า 56 กิโลเมตร

เมื่อคิดจำนวนสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว นี่อาจจะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดี แต่คางคกยักษ์ไม่ใช่เป็นข่าวดีเลย เพราะพวกมันคือตัวอย่างของภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์พยายามเข้ามาควบคุมธรรมชาติ

คางคกยักษ์สายพันธุ์ Bufo Marinus นั้นมีพิษที่ร้ายแรงมาก สัตว์ส่วนใหญ่ที่กลืนพวกมันเข้าไปตอนเป็นไข่ ลูกอ๊อด หรือตัวเต็มวัย สามารถเกิดอาการภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ พิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียได้จัดแสดงงูหลายตัวที่ตายอย่างรวดเร็ว ขณะที่คางคกยังคาอยู่ในปาก แมวและกระรอกพื้นเมืองที่คุ้นเคยกับการกินกบประจำถิ่นเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ คางคกยักษ์สามารถโค่นได้แม้กระทั่งจระเข้ตัวเขื่อง พิษของมันร้ายกาจมากชนิดที่ว่าสุนัขอาจป่วยได้เพียงเพราะดื่มน้ำจากถ้วยที่พวกมันเดินผ่าน

 

พวกมันวางไข่ได้มากกว่ากบพื้นเมืองของออสเตรเลียถึง 4 เท่า และลูกอ๊อดของพวกมันไม่ใช่แค่เติบโตได้เร็วกว่า แต่ยังมีพิษจนไม่มีสัตว์ชนิดใดกล้ากิน คางคกที่ยังไม่โตเต็มวัยและโตเต็มวัยจะกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ตั้งแต่กบชนิดอื่นๆ ไปจนถึงอาหารในชามข้าวของสุนัขที่ไม่มีใครคอยดูแล ยิ่งพวกมันกินมากเท่าไหร่ ตัวมันก็ยิ่งโตขึ้นเท่านั้น บางตัวอาจมีน้ำหนักมากถึง 2.7 กิโลกรัม เรียกว่าไม่ต่างจากสุนัขตัวเล็กๆ เลย

ปัจจุบันพบว่าคางคกพิษยักษ์ซึ่งเป็นสัตว์ต่างถิ่นเข้ามารุกล้ำน่านน้ำมากขึ้น ส่งผลให้ประชากรจระเข้แคระพันธุ์หายากในแม่น้ำ บูลโล่ ทางตอนเหนือของออสเตรเลียมีจำนวนลดลง เนื่องด้วยพิษจากคางคกยักษ์ที่ปล่อยทวนกระแสน้ำมา นี่แค่พิษที่ลอยจากกระแสน้ำนะครับ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าเดิมคือ สภาพแวดล้อมของบ้านใหม่ทำให้พวกมันเปลี่ยนไปจากเดิม พวกมันขายาวขึ้น ตัวโตขึ้น จึงต้องมีความพยายามที่จะควบคุมการแพร่พันธุ์ของพวกมัน วิธีการควบคุมที่ได้ผลที่สุดคือการใช้หน่วย “ปราบคางคก” ในเวลากลางคืนซึ่งจะเข้าโจมตีโพรงใต้น้ำที่พวกมันรวมตัวกันอยู่ ความพยายามที่จะถอนรากถอนโคนในบางสัปดาห์อาจกำจัดพวกมันได้มากถึง 40,000 ตัว หลังจากนั้น พวกมันจะถูกรมแก๊สและแช่แข็งจนตาย และเปลี่ยนสภาพเป็นปุ๋ยเหลวที่เรียกว่า โทดจูส (ToadJus)

การแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางพันธุ์วิศวกรรมโดยปล่อยโรคที่ทำให้พวกมันเป็นหมัน ถูกต่อต้านจากนักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก เนื่องจากแนวคิดในการควบคุมสิ่งหนึ่งด้วยอีกสิ่งหนึ่งแบบนี้นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา

ถึงแม้จะมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างปฎิเสธไม่ได้ แต่คางคกยักษ์ก็ยังไม่เคยทำให้สิ่งมีชีวิตใดต้องสูญพันธุ์ นกบางชนิดและสัตว์ฟันแทะเรียนรู้ที่จะใช้วิธีหงายท้องคางคกและกินมันโดยไม่โดนต่อมพิษของมันได้ มีสัตว์มากมายหลายชนิดที่มีวิวัฒนาการจนสามารถรับมือกับคางคกได้ หนึ่งในนั้นคือแมลงเต่าทองอ้อยเจ้าตัวปัญหาที่ส่งเจ้าคางคกยักษ์มาปราบในตอนแรกนั่นเอง ซึ่งกลับมีจำนวนมากกว่าเมื่อปี 1935 เสียอีก

เป็นยังไงครับเพื่อนๆ ได้ข้อคิดนะครับว่า การจะจัดการกับสัตว์ด้วยการนำสัตว์อีกสายพันธุ์มาปราบ เราคงต้องศึกษาถึงอนาคตให้ดีว่า จะส่งผลร้ายแรงอย่างเช่นคางคกยักษ์นี่หรือเปล่า ขนาดพิษที่ลอยสู่กระแสน้ำยังสร้างปัญหาให้กับจระเข้ได้เลย แล้วพบกันใหม่ครับ...mata

เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)

ขอบคุณภาพจาก

 

http://whozoo.org/students/josphi/CompCroc.htm

http://play4post.com/yJmHDAs3e9.html
5 ก.ค. 56 เวลา 11:55 7,272 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...