กษัตริย์"อัลแบร์ที่ 2"แห่งเบลเยียม จะทรงสละราชสมบัติ

 

 

 

 

 

  

สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 แห่งเบลเยียม จะทรงมีพระราชดำรัสต่อประชาชนทั่วประเทศ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าพระองค์ทรงสละพระราชบัลลังก์

สถานีโทรทัศน์อาร์ทีบีเอฟของเบลเยียม รายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 แห่งเบลเยียม พระชนมายุ 79 พรรษา จะทรงมีพระราชดำรัสเผยแพร่ผ่านเครือข่ายสื่อหลักในเวลา 18.00 น. วันนี้ (3 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ส่วนมกุฏราชกุมารฟิลิปป์ พระราชโอรส ทรงอยู่ในฐานะรัชทายาทอันดับที่หนึ่ง

 

ทั้งนี้ ในระหว่างช่วงภาวะชะงักงันทางการเมืองของเบลเยี่ยม ในช่วงระหว่างปี 2010-2011 สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 ซึ่งจะทรงครองราชย์ครบ 20 ปี ในเดือนหน้า พระองค์ทรงวางพระองค์ในบทบาทผู้ไกล่เกลี่ยทางการเมือง พระองค์จะทรงสละราชสมบัติในวันที่ 21 ก.ค.นี้ ซึ่งตรงกับวันชาติเบลเยียม

สถานีโทรทัศน์อาร์ทีบีเอฟรายงานว่า นับเป็นการสละราชสมบัติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเบลเยียม ซึ่งได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์เมื่อปีค.ศ.1831 ซึ่งตั้งแต่นั้น พระราชวงศ์ซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา ได้ปกครองเบลเยียมมาตลอดในฐานะองค์ประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

สถานีโทรทัศน์รัฐบาลรายงานว่า ในช่วงเช้าวันนี้ พระองค์ทรงเข้าหารือกับคณะรัฐมนตรีเบลเยียม เพื่อแจ้งการตัดสินพระทัยของพระองค์ ขณะที่สำนักพระราชวังเบลเยียมเปิดเผยแถลงการณ์ใจความว่า คณะรัฐมนตรีได้ร่วมหารือกับกษัตริย์เบลเยียม และพระองค์จะทรงมีพระราชดำรัสต่อประชาชนในเวลา 18.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุ โดยหลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีเอลิโอ ดิ รูโป จะได้กล่าวแถลงการณ์ต่อประชาชนเป็นลำดับต่อไป

สมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2 แห่งเบลเยียม เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ปี 1993 หลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง พระเชษฐา ขณะมีพระชนมายุ 62 พรรษา พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 3 (ค.ศ.1901-1983) กับเจ้าหญิงอัสตริดแห่งสวีเดน (ค.ศ.1905-1935) 

พระองค์ทรงเคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงปี 2010-2011 และทรงเป็นที่ปรึกษาในการก่อตั้งรัฐบาลในช่วงที่เบลเยี่ยมตกอยู่ในสภาพไร้รัฐบาล เป็นเวลานานถึง 541 วัน หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปไม่สามารถหาผู้ชนะที่แท้จริงได้ ระหว่างพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่พูดภาษาเฟลมิชและฝรั่งเศส ที่มักทำให้รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาขาดความมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ดี ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ขั้วทางการเมืองทั้งสองกลุ่มสามารถประสานกันได้ในที่สุด 

Credit: http://board.postjung.com/689017.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...