ขึ้นภู ดูฝน นับดาวหล่น ที่ภูสอยดาว

เราเคยย่ำเมืองอุตรดิตถ์เมื่อปลายฝนต้นหนาวคราวก่อน ด้วยการทำตัวเป็นคนหลงทางกลางเมืองลับแล ไปกินอยู่กับชาวบ้านที่ยึดเอาความเรียบง่ายเป็นหลักในการใช้ชีวิต จนคิดจะฝังรากไปกับชาวเมืองลับแลเพื่อหลีกหนีความวุ่นวายในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ก็ต้องทิ้งความทรงจำดีๆ ไว้ที่เมืองลับแลก่อนกลับเมืองกรุง

วันปีข้ามผ่านไป เหมือนมีอะไรดลใจให้เราได้กลับมายังอุตรดิตถ์อีกครั้ง คราวนี้ประสบการณ์จากเมืองลับแลที่น่าลุ่มหลงยังคงอยู่ในความถวิลหา แต่อุตรดิตถ์ยังมีความงดงามล้ำค่าของธรรมชาติให้เข้าไปเชยชมอีกมาก และถ้าอยากเปลี่ยนมุมมองของฤดูฝนที่เคยอึมครึมให้เป็นฤดูที่สวยที่สุดแล้ว เราได้รับคำแนะนำว่าครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมาที่นี่ให้ได้

ฝนพรำปีนี้เราจึงแวะมาเยือน "อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว" ที่เขาร่ำลือกันว่ามีป่าฝนธรรมชาติที่สวยที่สุด ดุจดังสวรรค์กลางดิน กินพื้นที่ครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ซึ่งอยู่ในพื้นที่สองจังหวัดคือพิษณุโลกและอุตรดิตถ์ และเป็นบ้านของน้ำตกภูสอยดาวอันงดงามนัก ฉะนั้นก็อย่าได้ชักช้า ต้องไปดูให้เห็นกับตาว่าภูสอยดาวในวันนี้จะยังมีดาวเด่นให้สอยมาชื่นชมไว้ในใจเหมือนในอดีตอยู่หรือไม่

พื้นที่วนอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีป่าภูสอยดาว ท้องที่อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ในวันนี้ยังคงสภาพป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เสน่ห์ของธรรมชาติบนพื้นที่สูงชันอย่างภู น้ำตก ยังคง "ขายได้" สำหรับใครที่ยังไม่เคยเยี่ยมเยียนมาก่อน กับกลุ่มที่รักธรรมชาติแบบเรียบง่ายเสพได้ทันที

เรามาเยี่ยมภูสอยดาวช่วงต้นของหน้าฝนเดือนมิถุนายน ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นช่วงที่สวยที่สุดของการขึ้นภูดูน้ำตกและดอกไม้ จังหวะที่ดีที่สุดของการมาเที่ยวภูสอยดาวจะอยู่ในช่วงเข้าฤดูฝนเต็มตัวราวเดือนสิงหาคม-กันยายน จะเป็นช่วงที่การเดินป่าพิชิตภูสอยดาวสนุกตื่นเต้นและท้าทายที่สุด แต่หากจุดหมายคือการได้มาสัมผัสความงามของธรรมชาติแบบใกล้ๆ ไม่ว่าจะมาฤดูไหน ภูสอยดาวก็สวยไม่เปลี่ยนเสมอ

 

แต่ถ้าคิดว่าร่างกายฟิตพร้อมมากพอ เราลองไปเดินขึ้นภูด้วยกันดีกว่า เส้นทางเดินป่าภูสอยดาวนั้นไม่มีอะไรที่เป็นอันตราย แต่ความโหดและความท้าทายคือความสูงชันที่ทุกคนก็หวังจะพิชิตให้ได้เพื่อไปยังลานสนสามใบ ด้วยความสูงที่ต้องไต่ไปให้ถึงในระดับกว่า 1,600 เมตร มีจุดให้หยุดพักไปเป็นชั้นๆ วัดใจและวัดสังขารของร่างกายว่าพร้อมจะไปต่อหรือจะขอยอมแพ้ เคล็ดลับที่หลายคนแนะนำให้ใช้ คืออย่าไปสนใจว่าเรากำลังไต่อยู่ ณ พื้นที่เหนือระดับน้ำทะเลที่เท่าไหร่ แต่ขอให้เพิลดเพลินกับป่าฝนรอบๆ ตัวไปเรื่อยๆ ระหว่างทางก็ยังมีของดีอย่างน้ำตกภูสอยดาว น้ำตก 5 ชั้นที่จะสวยสดหมดจดในหน้าฝน เพราะถือเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญสู่แม่น้ำปาด

ในชั้นแรกๆ ของการเดินขึ้นภู จึงยังคงมีสภาพเป็นป่าดิบเสียเป็นส่วนใหญ่ หากถอดใจไต่ลงเพราะรอไม่ไหวว่าเมื่อไหร่จะถึงชั้นบนที่เห็นทิวทัศน์สวยๆ เมื่อมองลงมายังเบื้องล่าง ก็ต้องบอกว่าน่าเสียดายแทน เนินช่วงแรกด้านล่างนี้มีชื่อเรียกตามป้ายว่า "เนินส่งญาติ" อยู่ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเล 650 เมตร หากใครท้อขอให้หยุดที่จุดนี้ โดยเฉพาะหากสภาพร่างกายไม่ฟิตพอหรือโดนทีมงานยัดเยียดให้เป็นฝ่ายเสบียง เพราะหากแบกของหนัก หรือเริ่มเกิดอาการไม่ดี ก็อาจมีอันตราย เพราะระยะทางในชั้นต่อไป สูงและชันกว่าที่คิดไว้หลายเท่า

"เนินปราบเซียน" เป็นเนินที่ชันที่สุด ความสูงนั้นมากกว่าเนินชั้นล่างราว 780 เมตร แม้จะมีบันไดให้ไต่พอไว้พักขา แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากเท่าไหร่ อาศัย "ใจ" ล้วนๆ ชวนสองขาให้พาไปยังเนินต่อไปที่เรียกว่า "เนินป่าก่อ" ถึงชั้นนี้ด้วยความทรหดของร่างกายบวกด้วยความรู้สึกของกำลังขาที่เริ่มชิน จะรู้สึกว่า เดินได้สบายขึ้น เมื่อบวกกับความชอุ่มเขียวขจีของป่ารายล้อมที่สมบูรณ์อยู่มาก จากที่เหนื่อยแทบขาดใจก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง ถึงจุดนี้ไปยังจุดต่อไปจะเป็นเสมือนกับการไต่ภูเพื่อการศึกษาไปในตัว เพราะบางเนินต่อไปจะขึ้นต่อไปอย่างเช่น "เนินเสือโคร่ง" ก็ตั้งชื่อตามกอของต้นกำลังพญาเสือโคร่งที่ขึ้นรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ ทางตำราแพทย์แผนโบราณเขาจัดให้เป็นพืชสมุนไพรทรงคุณค่า แต่ทุกวันนี้หากไปถึงเนินพญาเสือโคร่งคงพบแต่ความไม่งามตา เพราะแก่นของเปลือกต้นที่เขาว่าหอมและเป็นยาถูกควั่นถากจากนักท่องเที่ยวและคนเก็บของป่านำลงไปเป็นจำนวนมาก หากจะถามถึงความไม่ขลังของภูสอยดาว จุดนี้ก็น่าจะเป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่งที่ทำให้ดาวดูหมองและโรยราไปพอสมควร

 

ผ่านเนินแต่ละเนินมาจนถึงเนินสุดท้าย แม้ชื่อจะน่ากลัวแต่ก็คุ้มค่ามากหากพิชิตได้ นั่นคือ "เนินมรณะ" อยู่ที่ความสูง 1,410 เมตรจากระดับน้ำทะเล ความสูงชันและคดเคี้ยวชวนให้หวาดเสียว แต่เลยไปหน่อยเดียวคือรางวัลแห่งชีวิต "ผู้พิชิตลานสอยดาว" ไม่มีใครมาถึงจุดนี้แล้วไปถ่ายรูปสวยๆ กลับไปอวดคนที่ยังไม่เคยมา จุดนี้คือจุดที่จะมองเห็นทัศนียภาพรอบๆ และด้านล่างได้สุดลูกหูลูกตา โดยทั่วไปรอบๆ ลานจะเป็นป่าสน ได้อารมณ์โรแมนติกไปอีกแบบ แต่หากเป็นช่วงหน้าฝนที่ชุ่มชื่น กอหญ้าป่าสนจะเปลี่ยนเป็นดงดอกหญ้าหลากสีที่แซมด้วยเสน่ห์อันหลากหลาย เช่นดอกหงอนนาคสีม่วงกลีบบางเบานั่นก็ถือเป็นสัญลักษณ์ของภูสอยดาว และหากโชคดีก็จะได้ชื่นชมกับกล้วยไม้รองเท้านารีและสีใบเมเปิ้ลเปลี่ยนจากเหลืองเป็นแดงให้ชม

ไม่ว่าจะเดินทางมาจากฝั่งพิษณุโลกหรืออุตรดิตถ์ก็สามารถต่อมาถึงอุทยานแห่งชาติภูสอยดาวได้เช่นกัน หากมาจากทางพิษณุโลก ขับรถไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1246 ถึงบ้านแพะแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1143 ผ่านอำเภอชาติตระการ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1237 ผ่านบ้านบ่อภาคไปบรรจบกับเส้นทางแผ่นดินหมายเลข 1268 ถึงน้ำตกภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว รวมระยะทางประมาณ 188 กิโลเมตร และหากมาจากทางอุตรดิตถ์ ใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1047 (อุตรดิตถ์-น้ำปาด) จนถึงอำเภอน้ำปาดแล้วเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1239 ไปอีก 47 กิโลเมตร จึงเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1268 ไปอีก 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ รวมระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร

ภูสอยดาวยังคงให้บริการนักท่องเที่ยวแบบเปิด-ปิดตามเวลา คือ 8.00 - 14.00 น. หากมาเลยกำหนดก็สามารถสำรองที่พักกางเตนท์ได้ เพื่อรักษาสภาพป่าไม่ให้ถูกทำลายจากการค้างแรมแบบสถานที่เปิด...หากฝนนี้ยังไม่มีไอเดียบรรเจิด ลองเปิดประตูสู่โลกใบใหม่ๆ รับธรรมชาติเขียวขจีใส่ตัวบ้าง น่าจะล้างความเครียดและความขุ่นใจ ในช่วงชาร์จแบตเล็กๆ กลางปีให้มีพลังใช้ชีวิตกันต่อไปยาวๆ

Credit: http://travel.sanook.com/1390652/%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B9-%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%9D%E0%B8%99-%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A0%E0
2 ก.ค. 56 เวลา 16:58 1,022 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...