มนุษย์คนแรกในห้วงอวกาศเป็น "รัสเซียน" มนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ เป็น "อเมริกัน" ด้วยเหตุที่ว่า ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านหุ่นยนต์สูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โยริชิกะ นิชิจิมะ ถึงอยากให้ "หุ่นยนต์นักบินอวกาศ" ตัวแรกนั้นมาจากประเทศนี้
นิชิจิมะ เป็นผู้จัดการโครงการ "คิโรโบะ" โครงการเพื่อการพัฒนาหุ่นยนต์นักบินอวกาศ หรือ "โรบอต แอสโตรนอท" ที่มีศักยภาพในการสื่อสารแบบโต้ตอบได้เป็นตัวแรกของโลก หุ่นยนต์ตัวนี้ ไม่เพียงจะเปิดฉาก "สนทนา" ระหว่างห้วงอวกาศกับพื้นโลกเป็นครั้งแรกเท่านั้น มันยังมี "คู่สนทนา" ที่เป็นมนุษย์อย่างเป็นงานเป็นการด้วยอีกต่างหาก
หุ่นนักบินอวกาศ คิโรโบะ สูงเพียง 34 เซนติเมตร ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อการทำหน้าที่ในห้วงอวกาศโดยเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ มันจึงจำเป็นต้องผ่านการทดสอบการ "ทำงาน" ในสภาวะแวดล้อมไร้น้ำหนักและข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในการทำหน้าที่อยู่ในห้วงอวกาศมาเป็นชุดๆ เพื่อให้แน่ใจจริงๆ ว่าคิโรโบะสามารถใช้งานได้จริงๆ เมื่อถูกส่งขึ้นไปประจำ "คิโบะ แลบอราทอรี" ห้องปฏิบัติการลอยฟ้าของญี่ปุ่นที่ติดตั้งเป็นส่วนหนึ่งของสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ในวงโคจร
คิโรโบะ ติดตั้งอุปกรณ์ที่เพิ่มขีดความสามารถสำคัญๆ ของมันไว้ในตัวหลายชิ้น ประกอบด้วย "วอยซ์ รีค็อกนิชั่น"
เทคโนโลยีที่ทำให้มันสามารถจำแนกและประมวลผลข้อมูลที่ป้อนเข้ามาในรูปแบบของเสียงได้, เทคโนโลยีประมวลผลภาษาธรรมชาติ (แนทเชอรัล แลงเกวจ โปรเซสซิง เทคโนโลยี), เฟซ รีค็อกนิชั่น เทคโนโลยีที่ทำให้หุ่นยนต์สามารถจำแนกและจดจำอัตลักษณ์บุคคลด้วยคุณลักษณะของใบหน้า, กล้องถ่ายภาพ (ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว) อีโมชั่น รีค็อกนิชั่น อันเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่เพื่อให้หุ่นยนต์ (หรือเครื่องจักร)สามารถจดจำและจำแนกคุณลักษณะเชิงอารมณ์ของมนุษย์ได้ แน่นอน ในชั้นแรกนี้ ภาษาที่คิโรโบะสามารถประมวลผลเพื่อโต้ตอบสนทนาได้ย่อมเป็น ภาษาญี่ปุ่น เท่านั้น
ชื่อ "คิโรโบะ" เป็นคำผสมผสาน ระหว่างคำว่า "คิโบะ" ที่เป็นชื่อเดียวกันกับชื่อห้องปฏิบัติการ
ซึ่งหมายถึง "ความหวัง" (โฮป) กับคำว่า "โรบอต" ในภาษาอังกฤษ เป็นชื่อที่ทาง "คิโรโบะ โปรเจ็กต์" คัดเลือกมาใช้จากชื่อที่ผู้สนใจเสนอส่งเข้ามาให้เลือกมากมายทั่วประเทศถึง 2,452 ชื่อ หุ่นยนต์นักบินอวกาศตัวแรกของโลกรายนี้มีกำหนดจะ "พูด" มาจากห้วงอวกาศเป็นครั้งแรกในราวเดือนสิงหาคมหรือกันยายนที่จะถึงนี้ แต่กำหนดการ "สนทนา" ระหว่างคิโรโบะกับนักบินอวกาศที่เป็นมนุษย์จริงๆ ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ของการสื่อสารแบบโต้ตอบระหว่างคนกับเครื่องจักรเป็นครั้งแรกนั้น จะเกิดขึ้นอีกหลายเดือนหลังจากนั้น เมื่อ นักบินอวกาศที่พูดภาษาญี่ปุ่น เดินทางขึ้นไปประจำการบนไอเอสเอส
โคอิชิ วากาตะ คือนักบินอวกาศรายนั้น วาตากะ เป็นนักบินอวกาศที่คร่ำหวอดชาวญี่ปุ่น กำหนดจะเดินทางถึงไอเอสเอสในราวเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมนี้ โดยมีกำหนดจะ "สนทนาโต้ตอบ" อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกกับ "คิโรโบะ" ในเดือนธันวาคม ก่อนที่ "คิโรโบะ" จะเดินทางกลับคืนสู่โลกในเดือนธันวาคมปี 2014
คิโรโบะ สร้างและพัฒนาขึ้นมาโดยทีมงานวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ของ "ศูนย์วิจัยเพื่อเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า" (อาร์ซีเอเอสที) ของมหาวิทยาลัยโตเกียว
ร่วมกับ โตโยตา มอเตอร์ คอร์ป., โรโบ การาจ และเดนท์สึ อิงค์. คิโรโบะ มี "มิราตะ" เป็นคู่แฝดเหมือนกันทุกประการอีกตัวหนึ่ง ซึ่งจะยังคงอยู่บนพื้นโลก ในขณะที่หุ่นยนต์นักบินอวกาศตัวแรกของโลกจะถูกส่งขึ้นไปยังวงโคจรเพื่อเดินทางไปยังไอเอสเอส ด้วย "เอช-2 ทีวี-4" อวกาศยานไร้นักบิน จากศูนย์อวกาศ ทาเนงะชิมะ ทางใต้ของญี่ปุ่น "มิราตะ" จะถูกใช้เป็นต้นแบบโดยวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ เพื่อแก้ไขหากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นกับการทำงานของคิโรโบะในห้วงอวกาศนั่นเอง
หน้า 9,มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2556