รู้ไหม "คว่ำบาตร" และ “บอยคอต(Boycott)” เป็นมาอย่างไร
เมื่อพูดถึงการ "คว่ำบาตร" หรือ “บอยคอต(Boycott)” นับเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างหนึ่งของผู้บริโภคในการแสดงให้เห็นว่า การปฏิเสธสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่งของผู้บริโภคแต่ละคนนั้น เมื่อรวมกันมาก ๆ เข้าก็สามารถส่งผลสะเทือนถึงบริษัทผู้ผลิต หรือผู้ค้าได้
คำว่า ”คว่ำบาตร” นั้น มีที่มาจากการที่พระสงฆ์ลงโทษบุคคลผู้มีปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีความผิดอยู่ 8 ประการ คือ
1. ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแก่สงฆ์
2. ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แก่สงฆ์
3. ขวนขวายเพื่อให้พระอยู่ไม่ได้
4. ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย
5. ยุยงให้สงฆ์แตกกัน
6. ตำหนิติเตียนพระพุทธเจ้า
7. ตำหนิติเตียนพระธรรม
8. ตำหนิติเตียนพระสงฆ์
ฆารวาส ผู้ใดมีพฤติกรรมดังกล่าวมา พระสงฆ์จะประชุมกันแล้วประกาศไม่ให้ภิกษุทั้งหลายคบค้าสมาคมด้วย คือ ไม่รับบิณฑบาต ไม่รับนิมนต์ ไม่รับเครื่องใช้ อาหารหวานคาวที่บุคคลผู้นั้นนำมาถวาย แต่หากต่อมาคนผู้นั้นสำนึกรู้สึกตน กลับมาประพฤติดี คณะสงฆ์ก็จะประกาศเลิก “คว่ำบาตร” ยอมให้ภิกษุทั้งหลายคบค้าสมาคมรับบิณฑบาต รับนิมนต์ รับเครื่องถวายไทยธรรม ได้เรียกว่า “หงายบาตร” เป็นสำนวนคู่กัน
ส่วนคำว่า บอยคอต (Boycott) ความจริงเป็นนามสกุลของกระทาชายนายหนึ่งซึ่งเป็นคนแรกที่ถูกคว่ำบาตร ไม่คบหาสมาคมด้วย ชายผู้นี้คือกัปตันชาร์ลส์ คันนิ่งแฮม บอยคอต
เหตุที่เขาเป็นคนแรกในโลกที่ถูกบอยคอต ก็เพราะเขาเป็นเจ้าของที่ดินให้เช่ารายใหญ่ในไอร์แลนด์ แต่ว่ากันว่า นายคนนี้โหดสุด ๆ ไล่ผู้เช่าที่ดินทำกินออกจากที่อย่างไร้เมตตา ชาวบ้านชาวเมืองรวมทั้งลูกจ้างจึงรวมตัวกันประท้วงไม่ยอมทำงานให้ ไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ ทั้งสิ้นและไม่คบหาสมาคมกับครอบครัวนี้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1880 แล้ว แต่ชื่อของเขาก็ยังถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องยาวนานจนกลายเป็นศัพท์เฉพาะไปแล้ว
การบอยคอตถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทั้งในทางการเมืองและในความขัดแย้งทางสีผิว ตัวอย่างการบอยคอตในอดีตที่สำคัญ ๆ ก็เช่น การที่คนอเมริกันยุคตั้งถิ่นฐานบอยคอตไม่ซื้อสินค้าจากอังกฤษในปี 1765 คนจีนบอยคอตไม่ซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกาในปี 1905 เพราะชาวอเมริกันปฏิบัติต่อชาวจีนในอเมริกาไม่ดี หรือการที่ชาวอินเดียและลูกศิษย์ลูกหาตลอดจนผู้ติดตามคานธีไม่ซื้อสินค้าอังกฤษ เหล่านี้เป็นต้น
ในแง่นี้ ผู้บริโภคมีพลังมหาศาล เพราะความขัดแย้งใหญ่โตทั้งหลายนั้น ผู้ถูกกระทำมักแสดงออกด้วยการไม่ซื้อสินค้าเป็นการตอบโต้ และก็ส่งผลสะเทือนทุกทีไปเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น การบอยคอตสินค้าอเมริกัน เพื่อประท้วงสงครามที่ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ บุกอิรัก หรือเมื่อหลายปีก่อน ที่ชาวโลกพากันบอยคอตฝรั่งเศสเนื่องจากการทดลองนิวเคลียร์ของประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัก ไม่เพียงแต่ไม่ซื้อสินค้าฝรั่งเศส แต่บางประเทศรุนแรงขนาดเรียกฑูต กลับอย่างนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย เพราะการกระทำของฝรั่งเศสถือเป็นการคุกคามสันติภาพของชาวโลกเนื่องจากจะนำไปสู่การแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้น
นอกจากนี้ก็มีเหตุผลมากมายในการรณรงค์ให้บอยคอตสินค้า ผู้ประกอบการ หรือผู้ค้ารายใดรายหนึ่ง เป็นต้นว่า ทารุณสัตว์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำลายสภาพแวดล้อม กดขี่แรงงาน เหยียดผิว ไร้จริยธรรมในการประกอบธุรกิจ