ในโลกนี้มีชนเผ่าต่างๆ ที่ยังคงวิถีการดำเนินชีวิตเหมือนกับในยุคโบราณ บางเผ่าก็ยังหลบซ่อนอยู่ในป่าลึกที่ยังไม่มีใครค้นพบ แต่บางเผ่าที่ถูกค้นพบแล้วส่วนมากก็จะมีคนภายนอกเข้าไปในชุมชนเพื่อพยายามนำความเจริญเข้าไปให้ ชนเผ่าที่ถูกค้นพบเหล่านี้ ไม่มีใครเหมือนกับ ชาว Sentinelese ที่ได้ชื่อว่า เป็นกลุ่มคนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ติดต่อกับโลกภายนอกมากที่สุด
เกาะ North Sentinel Island
ที่มาภาพ ferrebeekeeper
ชาว Sentinelese อาศัยอยู่บนเกาะ North Sentinel Island ในหมู่เกาะอันดามัน บริเวณอ่าวเบงกอล ประเทศอินเดีย พวกเขาใช้ชีวิตเหมือนกับที่เคยเป็นมาในอดีตโดยไม่ได้รับอิทธิพลจากความเจริญภายนอกเกาะเลยแม้แต่น้อย ไม่ใช่เพราะไม่มีใครสนใจเข้าไปสร้างความเจริญให้ แต่เป็นเพราะชาวเกาะนี้แสดงเจตจำนงค์อย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการติดต่อกับโลกภายนอก ผู้ที่เคยพยายามเข้าไปติดต่อจะไม่ได้รับการต้อนรับและโดนตอบโต้กลับอย่างเกี้ยวกราด
ภาพถ่ายชาว Sentinelese จากบนเรือ
ที่มาภาพ Atlas Obscura
ชาว Sentinelese ถือธนูและพยายามยิงมายังเฮลิคอปเตอร์ที่ถ่ายภาพ
ที่มาภาพ ferrebeekeeper
เรื่องทั้งหมดที่เรารู้ตอนนี้เกี่ยวกับชาว Sentinelese ก็ได้มาจากการสำรวจจากที่ไกลๆ (โดยเฮลิคอปเตอร์) และจากการเปรียบเทียบกับชาวเกาะเผ่าอื่นๆ ที่อยู่บนหมู่เกาะใกล้ๆ กัน ชาว Sentinelese มีลักษณะเหมือนคนดำจากแถบแอฟริกามากกว่าคนทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีผิวดำเข้ม และมีผมหยิกขอด และยังมีความสูงมากกว่าชนเผ่าบนเกาะใกล้เคียงกันอย่างเห็นได้ชัด ชาว Sentinelese ไม่สวมใส่เสื้อผ้า แต่สวมใส่ใบไม้แทน และผู้ชายจะสวมใส่เครื่องตกแต่งศีรษะที่ทำมาจากเถาวัลย์
เชื่อกันว่า ชนกลุ่มนี้สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากกลุ่มคนที่เดินทางมาจากแอฟริกามายังทวีปเอเชีย และอาจจะอาศัยอยู่บนเกาะนี้มากว่า 60,000 ปีแล้ว ภาษาที่ใช้กันก็แตกต่างจากภาษาของชนเผ่าที่อยู่บนเกาะอื่นๆ ในแถบนั้น ทำให้เห็นว่าชาวเกาะนี้คงไม่ได้ติดต่อสื่อสารกับภายนอกมาเป็นเวลานานหลายพันปีแล้ว ชาว Sentinelese ใช้หาอาหารด้วยการล่ากันเป็นกลุ่ม ตกปลา และเก็บพวกพืชป่า ไม่มีหลักฐานแสดงว่ามีการทำเกษตรกรรมหรือมีการสร้างไฟ ส่วนเครื่องมือและอาวุธก็ทำมาจากหิน กระดูกสัตว์ หรือโลหะจากเศษซากเรือที่ไปเกยตื้นอยู่ที่ชายฝั่ง
ภาพถ่ายชาว Sentinelese จากตอนที่มีความพยายามจะผูกมิตร
ที่มาภาพ projectavalon , SeaThos
ชาว Sentinelese เป็นชนกลุ่มเดียวในบริเวณหมู่เกาะอันดามันที่ยังคงอยู่อย่างโดดเดี่ยว ในขณะที่ชนกลุ่มอื่นบนเกาะต่างๆ ของหมู่เกาะอันดามันยอมให้คนภายนอกเข้าไปในชุมชนได้แล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ.1967 รัฐบาลมีความพยายามในการจะผูกมิตรกับชาว Sentinelese พร้อมๆ กับการทำวิจัยไปด้วย การผูกมิตรกับชาวเกาะเริ่มจากการส่งของขวัญเช่น มะพร้าว ไปให้โดยวางเอาไว้บนชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นธนูและหินที่ชาวเกาะยิงมาใส่ การผูกมิตรจึงไม่ประสบความสำเร็จ และโครงการนี้ก็ล้มเลิกไปในช่วงปลายปี ค.ศ.1990
สาเหตุที่ชาวเกาะต่อต้านคนภายนอกมาก น่าจะมีสาเหตุมาจากในปี ค.ศ.1879 รัฐบาลได้ลักพาตัวคนบนเกาะ ซึ่งได้แก่คนแก่ 2 คน และเด็กอีกจำนวนหนึ่งไปยังเกาะหลัก มีบันทึกเอาไว้ว่า คนกลุ่มนี้ป่วยลงอย่างรวดเร็ว (เนื่องจากการที่เกาะนี้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ทำให้ชาวเกาะไม่มีภูมิต้านทานโรคเหมือนคนทั่วไป) คนแก่ทั้ง 2 คนเสียชีวิต และเด็กอีก 4 คน ถูกปล่อยกลับไปยังเกาะตามเดิมโดยไม่มีการแสดงความรับผิดชอบใดๆ ตามมา
ประชากรของชนกลุ่มนี้มีประมาณ 250 คน แต่หลังจากเกิดภัยพิบัติซึนามิในปี ค.ศ.2004 ก็มีความเป็นห่วงกันว่าชาว Sentinelese อาจจะโดนซึนามิพัดพาไปจนหมด แต่หลังจากใช้เฮลิคอปเตอร์บินสำรวจก็ยังคงมีชาวเกาะวิ่งเอาธนูมายิงเฮลิคอปเตอร์เหมือนเดิม จึงสรุปได้ว่าชาวเกาะคงจะยังอยู่ดี ไม่ได้รับผลกระทบอะไร
ภาพถ่ายจากบนเฮลิคอปเตอร์ปี ค.ศ.2004 หลังเหตุการณ์ซึนามิ
ที่มาภาพ Africa is a Country
จนในปี ค.ศ.2006 ชาว Sentinelese ได้ยิงธนูใส่ชาวประมงที่หาปลาอย่างผิดกฏหมายและเข้ามาใกล้เกาะมากเกินไปจนเสียชีวิต 2 คน เฮลิคอปเตอร์พยายามนำศพกลับมาจากเกาะแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะชาวเกาะเมื่อเห็นเฮลิคอปเตอร์ก็จะยิงธนูและหินมาใส่ตลอดเวลา
ภาพถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ปี ค.ศ.2006 ชาว Sentinelese กับเรือของชาวประมงที่ถูกฆ่า
ที่มาภาพ Telegraph
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะไม่มีการเข้าไปติดต่อหรือนำความเจริญเข้าไปให้ ภาพถ่ายชาวเกาะในช่วงปี ค.ศ.1990 ก็แสดงให้เห็นว่าทุกคนดูจะมีสุขภาพแข็งแรงดี และดูตื่นตัวตลอดเวลา ต่างจากชาวเกาะอื่นๆ ที่ยอมติดต่อกับโลกภายนอก ทำให้ประชากรบนเกาะลดลงอย่างรวดเร็ว และหลังจากนั้นก็ไม่สามารถหาเลี้ยงตนเองได้ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐบาลแทน
ปัจจุบัน ทางรัฐบาลของอินเดียก็มีนโยบายในการปล่อยคนบนเกาะเอาไว้ตามเดิม ไม่มีนโยบายจะเข้าไปติดต่อกับชาวเกาะอีก และบริเวณของเกาะ North Sentinel Island ก็เป็นเขตหวงห้ามประชาชนเข้าไปโดยเด็ดขาด