พีระมิดในประเทศอียิปต์ที่เราเห็นกันทุกวันนี้ เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ทำมาจากก้อนหินสีน้ำตาลวางต่อกันขึ้นไปเป็นขั้นบันได ความยิ่งใหญ่และเทคนิคในการสร้างอันน่าทึ่งทำให้พีระมิดนั้นมีเสน่ห์ดึงดูดผู้คนมาหลายยุคหลายสมัย แต่คุณรู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วเมื่อก่อนพีระมิดมีพื้นผิวเรียบ และเป็นสีขาวสว่างไสว แบบที่เราคิดไม่ถึงมาก่อน
พีระมิดที่เราเห็นเป็นหินก้อนใหญ่ๆ สีน้ำตาลนั้น จริงๆ แล้วเป็นส่วนโครงสร้างภายในของพีระมิด ส่วนภายนอกของจริงนั้นเป็นหินปูนสีขาวที่เรียกว่า Tura limestone วางซ้อนบนชั้นหินเอาไว้
ชาวอียิปต์โบราณนั้นให้ความสำคัญกับคนตายมาก โดยเฉพาะพีระมิดที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บพระศพของฟาร์โรห์ที่เป็นคนสำคัญที่สุด จะต้องสร้างให้ใหญ่โตและเด่นชัดยิ่งกว่าสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ดังนั้น พีระมิดสีขาวนี้จะถูกขัดจนเงาวับสะท้อนแสงแดดโด่ดเด่นอยู่กลางทะเลทราย ว่ากันว่า พีระมิดนี้สว่างจ้าเสียจนสามารถเห็นได้จากระยะทางไกลหลายไมล์ แม้แต่ตอนกลางคืนก็ยังสามารถสะท้อนแสงดวงจันทร์จนสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในความมืด
ภาพจำลองพีระมิดแห่งกิซ่าในสมัยก่อน
ที่มาภาพ skyscraperpage , bookofcels
หินปูนสีขาวที่ใช้วางบนพื้นผิวหน้าของพีระมิดเป็นหินขนาดประมาณ กว้าง 5 ฟุต ยาว 5 ฟุต และลึก 6 ฟุต และหนักประมาณ 15 ตัน ด้านของหินที่หันออกนั้นจะถูกตัดให้เรียบเสมอกันเพื่อที่เวลาเอามาวางต่อๆ กันแล้วจะได้ดูเหมือนเป็นชิ้นเดียวกัน และจะได้สามารถสะท้อนแสงได้ดีที่สุด นอกจากนั้น บนส่วนยอดสุดของพีระมิดก็จะห่อหุ้มไว้ด้วยทองคำ หรือโลหะสีทอง
ภาพแสดงการวางหินปูนสีขาวซ้อนทับโครงสร้างหินภายใน
ที่มาภาพ ancientegypt
สาเหตุที่พีระมิดมีสภาพเหลืออยู่แค่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ก็เพราะยุคหลังจากนั้นพื้นผิวหินปูนส่วนใหญ่ถูกตัดออกไปใช้ทำสิ่งก่อสร้างอื่น เช่น ในยุคของสุลต่าน An-Nasir Nasir-ad-Din al-Hasan (Bahri Sultan An-Nasir Nasir-ad-Din al-Hasan) ก็มีการนำหินปูนจากพีระมิดแห่งกิซ่าไปใช้ในการสร้างมัสยิดในกรุงไคโร ส่วนหินปูนที่เหลืออยู่บนพีระมิดก็สึกกร่อนไปตามเวลา อีกทั้งเคยมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นก็ยิ่งทำให้ผิวหน้าของพีระมิดกร่อนอย่างหนักกลายเป็นเศษฝุ่นกองอยู่ที่พื้นรอบๆ พีระมิด และถูกลมพัดพาไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนของหินปูนสีขาวหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้างตรงพื้นส่วนฐานของหมู่พีระมิดแห่งกิซ่า
ยังมีเศษหินปูนสีขาวหลงเหลือที่ฐานของพีระมิดอยู่บ้าง
ที่มาภาพ famouswonders