นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานก่อนยุคไดโนเสาร์ 50 ล้านปี เผยมีขนาดลำตัวเท่าวัว
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานก่อนยุคไดโนเสาร์ 50 ล้านปี เผยมีขนาดลำตัวเท่าวัว ส่วนหัวเต็มไปด้วยโหนกนูนตะปุ่มตะป่ำ ใช้ชีวิตในทะเลทรายในห้วงเวลาที่พื้นดินบนโลกยังเป็นผืนเดียว
เจ้าตัวนี้มีชื่อว่า บูนอสเตกอส เป็นสัตว์เลื้อยคลานกินพืชในสกุล พาเรียซอร์ เคยมีชีวิตบนแผ่นทวีปแพนเกียเมื่อ 250 ล้านปีก่อน ซากของมันถูกค้นพบที่ประเทศไนเจอร์ในแอฟริกา
สัตว์ตัวขนาดเท่าวัวชนิดนี้ เคยท่องอยู่ในยุคเพอร์เมียน ก่อนไดโนเสาร์ถือกำเนิดขึ้นบนโลกราว 50 ล้านปี กินพวกเฟิร์นกับสน
ลินดา ซูจี แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันในซีแอตเติล อธิบายเกี่ยวกับเจ้า Bunostegos ในวารสาร Journal of Vertebrate Paleontology ว่า ปุ่มปมตะปุ่มตะป่ำบนหัวของมัน ไม่ใช่หูดขนาดยักษ์ แต่เป็นกระดูกที่โปนขึ้นบนกะโหลก มีผิวหนังที่เป็นเกล็ดแบบสัตว์เลื้อยคลานห่อหุ้มปุ่มงอกเหล่านี้ไว้
เข้าใจว่า ปุ่มปมอย่างที่เห็นในภาพวาด มีไว้เพื่อช่วยให้พวกพาเรียซอร์ด้วยกันจดจำกันเองได้ว่า ตัวไหนเป็นตัวไหน
@ บูนอสเตกอส เคยมีชีวิตบนโลกเมื่อกว่า 250 ล้านปีก่อน
เธอบอกว่า ในช่วงเวลาที่พวกมันมีชีวิตอยู่ ภูมิอากาศมีความแห้งแล้งมาก มีฝนตกหนักแค่ฤดูกาลเดียวในรอบปี แต่ก็สามารถหล่อเลี้ยงพืชที่เป็นอาหารของสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้ได้
แม้นักบรรพชีวินวิทยาได้ค้นพบฟอสซิลของบูนอสเตกอสหลายตัวในที่เดียวกัน แต่ก็ไม่แน่ใจว่า พวกมันอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง หรือซากเหล่านี้เพียงแต่ถูกกระแสน้ำพัดพาให้มากองรวมกัน
สัตว์เลื้อยคลานหน้าตาพิลึกชนิดนี้ได้หมดไปจากโลกในปรากฎการณ์ของการสูญ พันธุ์ครั้งใหญ่ ที่ปิดฉากยุคเพอร์เมียนเมื่อราว 248 ล้านปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่า สาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในรอบนั้น เกิดจากอะไร อาจเป็นภูเขาไฟระเบิด อาจเป็นน้ำทะเลท่วม หรือภาวะโลกร้อน.