รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นประกาศในวันพุธ พร้อมสู้คดีพิพาทกับออสเตรเลียอย่างถึงที่สุด หลังรัฐบาลแคนเบอร์ราร้องขอให้ศาลโลกสั่งโตเกียวยุติโครงการวิจัยวาฬในมหา สมุทรแอนตาร์กติก
ญี่ปุ่นมีกำหนดขึ้นแถลงด้วยวาจาที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮกในวัน พุธ หลังจากออสเตรเลียได้ร้องขอให้ศาลโลกสั่งญี่ปุ่นยุติโครงการวิจัยวาฬ โดยโจมตีว่า โตเกียวได้อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการล่าวาฬ
รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ กล่าวในวันอังคารว่า รัฐบาลโตเกียวจะไม่ยอมอ่อนข้อแก่แรงกดดัน
"ญี่ปุ่นจะต่อสู้คดีนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้โลกเข้าใจจุดยืนและความคิดของญี่ปุ่น การวิจัยวาฬของญี่ปุ่นเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ ดำเนินการอย่างถูกต้องตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการล่าวาฬ เราจะพูดประเด็นนี้อย่างชัดเจนในการแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลก"
@ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปดูร้านขายเนื้อวาฬ ในกรุงโตเกียว เมื่อปี 2555
ขณะที่นอร์เวย์กับไอซ์แลนด์มีการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ แต่ญี่ปุ่นอ้างว่าตนล่าเพื่อการวิจัย แม้ไม่ปฏิเสธว่า เนื้อของวาฬที่ถูกล่านั้นได้กลายเป็นอาหารของชาวญี่ปุ่น เงินที่ได้จากการขายเนื้อวาฬถูกนำมาใช้ในโครงการวิจัย และอ้างด้วยว่า การกินเนื้อวาฬเป็นเรื่องของประเพณี
รัฐบาลแคนเบอร์ราจะแถลงต่อศาลโลกว่า ญี่ปุ่นได้อาศัยช่องโหว่ของข้อตกลงระหว่างประเทศฉบับดังกล่าวในการล่าวาฬ โดยอ้างการวิจัยบังหน้า ทั้งๆที่กฎหมายปี 2529 ฉบับนี้ได้ห้ามล่าวาฬเพื่อการค้า
ออสเตรเลียได้ร้องขอต่อศาลโลกให้สั่งญี่ปุ่นระงับโครงการวิจัย JARPA II และ "ยกเลิกคำอนุญาตใดๆ" ที่เปิดทางให้มีการล่าวาฬในมหาสมุทรแอนตาร์กติก ทั้งนี้ แคนเบอร์รากล่าวหาญี่ปุ่นว่าละเมิดพันธะที่ "จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงจำกัดการจับเป็นศูนย์โดยสุจริตใจ"
@ พ่อครัวกำลังทำซูชิ เนื้อวาฬมิงกี้ ในร้านขายข้าวปั้น ที่เมืองอายุคาวาฮามะ จังหวัดมิยางิ
ฝ่ายที่ต่อต้านการฆ่าวาฬตั้งคำถามว่า ทำไมญี่ปุ่นยังจะต้องทำวิจัยเรื่องประชากรของวาฬอยู่ต่อไปอีก หลังจากได้เก็บข้อมูลมาตลอดหลายทศวรรษ นับแต่นานาชาติได้ตกลงกันที่จะยุติการล่าวาฬไปแล้ว
ญี่ปุ่นได้ฆ่าวาฬมิงกี้แอนตาร์กติกประมาณ 6,500 ตัวในช่วงปี 2530-2548 หลังจากมติพักการล่าวาฬมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ตลอดเวลา 31 ปีก่อนหน้ามติดังกล่าว ญี่ปุ่นได้ล่าวาฬรวม 840 ตัว และในช่วงปี 2548-2552 มีการล่าวาฬมิงกี้อีก 2,500 ตัว
วาฬมิงกี้ไม่ใช่สัตว์ถูกคุกคาม แต่เรือวิจัยของญี่ปุ่นได้ฆ่าวาฬหลังค่อมกับวาฬครีบ ซึ่งเป็นสัตว์ถูกคุกคามด้วย
@ เรือของกลุ่มสิ่งแวดล้อม Sea Shepherd เข้าปะทะกับเรือเติมน้ำมันของญี่ปุ่น ในแอนตาร์กติก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556
รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงเมื่อต้นปีนี้ว่า การออกล่าเที่ยวหลังสุดในแอนตาร์กติกสามารถจับวาฬได้ "น้อยตัวเป็นประวัติการณ์" เพราะถูกนักเคลื่อนไหว "ก่อวินาศกรรมอย่างไม่อาจอภัยได้" โดยได้วาฬกลับมาเพียง 103 ตัว ซึ่งไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่ล่าได้เมื่อปีก่อน และไม่ได้ตัววาฬครีบเลยหลังจากปะทะกับกลุ่มซีเชพเพิร์ด.