ตามปกติแล้วพวกแมลงจะใช้แสงอาทิตย์หรือแสงจันทร์ในการนำทางให้มันบินไปเป็นเส้นตรง และไม่หลงทาง แต่ล่าสุดมีการค้นพบว่าตัวด้วงขี้วัว (dung beetle) สามารถใช้ทางช้างเผือกในการอ้างอิงทิศทางได้ด้วย
ด้วงขี้วัว คือด้วงที่ขนมูลสัตว์ไปเก็บไว้ที่รังของมันโดยการทำให้เป็นก้อนกลม ๆ แล้วกลิ้งไปเหมือนลูกบอล มารี แดคเก้ (Marie Dacke) นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน แปลกใจที่มันสามารถกลิ้งมูลสัตว์ให้ตรงทางได้อย่างรวดเร็วแม้แต่ในคืนเดือนมืด แสดงว่ามันสามารถใช้จุดอ้างอิงอื่นนอกจากดวงจันทร์ เธอจึงเริ่มทำการทดลองเพื่อทดสอบว่าเจ้าตัวกลิ้งขี้นี้ทำอย่างไรถึงกลิ้งขี้ได้ตรงทางขนาดนั้น
เริ่มต้นจากการทดลองง่าย ๆ โดยการนำตัวด้วงใส่ในกระบอกที่เปิดด้านบน แล้ววางไว้กลางแจ้งในตอนกลางคืน ให้ตัวด้วงสามารถมองเห็นท้องฟ้าได้ ผลการทดลองพบว่า ในคืนที่มีพระจันทร์เต็มดวง ด้วงใช้เวลาเฉลี่ย 20 วินาที ในการคลานขึ้นมาจากกระบอก แต่ในคืนที่ไม่มีดวงจันทร์มีแต่แสงดาว ด้วงใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 40 วินาที แต่ถ้าหากบังไม่ให้ด้วงมองเห็นท้องฟ้า มันจะใช้เวลามากกว่า 2 นาทีเลยทีเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เฉพาะดวงจันทร์เท่านั้นที่ด้วงใช้เป็นเครื่องนำทาง
ดังนั้น เธอจึงทำการทดลองเพื่อหาว่าด้วงใช้อะไรในการนำทางได้บ้างในยามค่ำคืน โดยการทำการทดลองซ้ำในห้องที่เป็นท้องฟ้าจำลองที่เหมือนท้องฟ้าธรรมชาติมากที่สุด จากนั้นก็ลองเปิดและปิดแสงของดวงดาวต่าง ๆ รวมทั้งแถบสีขาวของทางช้างเผือก แล้วสังเกตการเคลื่อนที่ของตัวด้วง ซึ่งจากผลการทดลองชี้ให้เห็นว่า ทางช้างเผือกมีผลอย่างชัดเจนต่อการเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงของตัวด้วง
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลสรุปที่แน่ชัดว่า จริง ๆ แล้วตัวด้วงอาศัยดวงจันทร์นำทาง เพื่อให้เคลื่อนที่ได้เป็นเส้นตรงด้วยหรือไม่ หรือถ้าหากมองเห็นทั้งดวงจันทร์และทางช้างเผือก ตัวด้วงเลือกที่จะใช้อะไรนำทาง นอกจากนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่า หากด้วงใช้ทางช้างเผือกในการนำทางได้ ผีเสื้อกลางคืน และแมลงกลางคืนอื่น ๆ ก็น่าจะใช้ประโยชน์จากทางช้างเผือกได้ด้วยเช่นกัน เป็นการปฏิวัติความเชื่อเดิมที่เคยคิดว่าพวกมันใช้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เป็นจุดอ้างอิงในการเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงเท่านั้น
reference : http://www.theverge.com/2013/2/1/3940208/study-says-dung-beetles-use-stars-to-navigate