“ปัจจัยแปลกๆ” ที่มีผลต่อ “ความคิด” ของคุณ

 

 

 

 

 

เรื่องของความคิด ความรู้สึกของเราแต่ละคนเป็นผลมาจากปัจจัยและสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่างหลอมรวมกันออกมา แต่ที่คุณอาจจะไม่รู้หรือ มีปัจจัยแปลกๆ บางอย่างที่มีผลต่อความคิด โดยที่คุณเองก็ไม่รู้ตัว

 

อุณหภูมิมีผลต่อรสนิยมในเลือกดูภาพยนตร์

ที่มาภาพ gizmodo

 

ถ้าคุณได้เห็นรายการของภาพยนตร์รักยอดนิยมตลอดกาล คุณอาจจะสังเกตได้ว่า ภาพยนตร์พวกนี้ครึ่งหนึ่งออกฉายในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ทั้งๆ ที่ภาพยนตร์ทำรายได้ส่วนมากจะออกฉายในช่วงฤดูร้อนมากกว่า นักวิทยาศาสตร์เองก็สังเกตเห็นเหมือนกันและตัดสินใจศึกษาแนวโน้มการเช่าภาพยนตร์ดู

ผลปรากฏว่า ภาพยนตร์รักจะเป็นที่นิยมในช่วงฤดูหนาว นอกจากนั้น ในประเทศแถบยุโรปยังมีการทำจัดอันดับว่า ภาพยนตร์แนวไหนขายดีที่สุดโดยวัดจากอุณหภูมิโดยเฉลี่ยในช่วงเวลานั้น ซึ่งผลก็ออกมาตรงกันหมด นั่นคือ คนจะชอบดูภาพยนตร์โรแมนติกกันมากขึ้นเมื่ออากาศหนาว

ที่มาภาพ winterdeer

 

ในการทดลองหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ให้แบ่งผู้เข้าร่วมเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้อยู่ในห้องที่มีอากาศเย็นและให้ดื่มชาเย็น ส่วนอีกกลุ่มให้อยู่ห้องที่มีอากาศร้อนและให้ดื่มชาร้อน หลังจากนั้นสักพัก ผู้เข้าร่วมจะถูกขอให้เลือกว่าอยากดูภาพยนตร์แนวไหนใน 4 แนว ได้แก่ ภาพยนตร์โรแมนติก ตื่นเต้นเขย่าขวัญ แอ็คชัน และตลก ผลคือ กลุ่มที่เจออากาศหนาวจะเลือกดูภาพยนตร์โรแมนติกมากกว่า

มีทฤษฎีที่อธิบายเหตุการณ์นี้อยู่ นั่นคือ เมื่อเรารู้สึกหนาวสมองเราจะสั่งให้เราพยายามหาความอบอุ่น และสำหรับพวกเราหลายๆ คนแล้ว เรื่องความรักหรือโรแมนติกเกี่ยวเนื่องไปกับความร้อน ทั้งที่จริงๆ แล้วภาพยนตร์ตื่นเต้นสยองขวัญเอาตัวรอดน่าจะทำให้ร้อนมากกว่าเรื่องความรักเสียอีก แต่สมองมนุษย์ก็เชื่อมโยงการที่เราได้มีปฏิสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนอื่นไว้ว่า นี่คือความอบอุ่น  (เหมือนกับเวลาที่ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นเราก็จะเรียกว่า เย็นชาใส่กัน) ดังนั้น ถึงแม้เราจะไม่รู้ตัวแต่สมองของเราก็สั่งให้ “หาความอบอุ่น” ทางร่างกายนั่นเอง

 

 

ถ้าได้สัมผัสอะไรก็จะอยากได้สิ่งนั้นมากขึ้น

ที่มาภาพ kootation

คนบางคนรู้ดีว่าการสัมผัสมีผลมากขนาดไหน อย่างเซลล์ขายของหรือนักการเมืองมักจะจับมือหรือตบไหล่คนอื่นเบาๆ พนักงานเสิร์ฟอาจจะแอบแตะแขน เพื่อให้ได้ทิป หรือแม้แต่คนขายรถก็ยินดีที่จะให้คุณลองขับดูก่อนซื้อ เพราะพวกเขารู้ว่า การได้สัมผัสมีผลอย่าไร เหตุผลก็เพราะสำหรับมนุษย์และ การได้จับหรือสัมผัสเหมือนกับเป็นการสะกดจิตให้เราเกิดความผูกผันกับสิ่งนั้น

ไม่เพียงแค่ผู้คนมักจะซื้อของที่พวกเขาเคยได้ลองจับดูแล้วเท่านั้น แต่คนส่วนใหญ่ยังยอมจ่ายมากกว่าที่ควรเพื่อให้ได้มา นี่คือเหตุผลที่ถึงแม้สินค้าจะบรรจุกล่องมาเรียบร้อยแล้ว ทางผู้ขายก็มักจะมีตัวอย่างให้ลูกค้าลองจับดู และแม้ว่าคุณอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะซื้อไปทำไมหรือมันมีประโยชน์อย่างไร เมื่อคุณได้สัมผัสสิ่งนั้นสมองก็จะสั่งให้คุณเกิดความผูกผัน และทำให้เกิดความผิดพลาดในการตัดสินใจอยากได้เป็นเจ้าของ

ที่มาภาพ corporeality

 

และแน่นอนว่าผิวสัมผัสของวัตถุนั้นมีผลด้วย มีการศึกษาหนึ่งพบว่า น้ำที่อยู่ในแก้วที่แข็งแรงจะรสชาติดีกว่าน้ำที่อยู่ในแก้วนิ่มๆ หรือแก้วกระดาษ ทั้งๆ ที่ทั้งสองแก้วก็เป็นน้ำธรรมดาเหมือนกัน หรือแม้แต่แค่บอกคนว่า น้ำนี้อยู่ในแก้วที่แข็งแรงกว่า คนก็จะตัดสินใจไปเองแล้วว่า น้ำนี่ต้องดีกว่า นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมน้ำแร่บางยี่ห้อถึงบรรจุมาในขวดพลาสติกหนาพิเศษ หรือกระทั่งมาเป็นขวดแก้ว

ที่มาภาพ technorati

 

อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้การสัมผัสสิ่งของเพื่อล้างสมองคือ บริษัท Sony ได้ทำการทดลองกับหุ่นยนต์ QRIO ซึ่งมีความสามารถในการจดจำใบหน้าและตอบสนองต่อการถูกสัมผัสได้ โดยการปล่อยหุ่นนี้เข้าไปในกลุ่มของเด็กวัย 2 ปี ซึ่งปกติแล้วเด็กในวัยนี้จะทำกับหุ่นยนต์อื่นเหมือนเป็นของเล่นทั่วๆ ไป ทั้งเตะ โยนไปทั่ว ก่อนที่จะเบื่อไปเองในที่สุด แต่กับหุ่น QRIO เด็กกลับมีปฏิกิริยาแตกต่างออกไป เมื่อเด็กแตะตัวหุ่นยนต์แล้ว หุ่นจะหัวเราะออกมาอย่างพอใจ ทำให้เด็กตอบสนองกับหุ่นนี้เหมือนเป็นสิ่งมีชีวิต ด้วยการจับ เล่นกับหุ่นอย่างเบามือเหมือนกันมันเป็นเด็กอีกคน และถึงกับห่มผ้าให้หุ่นยนต์ด้วย

ที่มาภาพ apartmenttherapy

 

 

ชื่อมีผลต่อทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต

ที่มาภาพ bizjournals

ถ้าให้ลองดูว่า มีคนชื่อ Jack ในเมือง Jacksonville กี่คน มีคนชื่อ Virgil ในรัฐ Virginia กี่คน และมี Fred ในเมือง Fresno กี่คน คุณอาจจะได้พบเรื่องประหลาดว่ามีคนชื่อซ้ำๆ กันอยู่ในเมืองที่ชื่อคล้ายๆ ตัวเองอยู่เยอะ นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า  “name-letter effect” ซึ่งมีผลลึกลับกันทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต

ตัวอย่างเช่น ชื่อของคุณมีผลต่อการเลือกข้างทางการเมือง อย่างในปี ค.ศ.2000 ที่มีการเลือกตั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า คนที่ชื่อขึ้นต้นด้วยตัว B จะโหวตให้กับ Bush มากกว่า ในขณะที่คนชื่อขึ้นต้นด้วย G จะโหวตให้กับ Al Gore มากกว่า

นอกจากนั้นยังพบว่า ชื่อของคุณอาจจะมีผลต่อเส้นทางอาชีพอีกด้วย มีผลทางสถิติอยู่ว่า มีทันตแพทย์จำนวนมากที่ชื่อขึ้นต้นด้วย D ในขณะที่อาชีพทนายมีคนชื่อ Larry กับ Laura เป็นจำนวนมาก

ทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายเหตุการณ์นี้คือ สมองเราจะสั่งให้เราเห็นตัวหนังสือที่ตรงกับชื่อขึ้นต้นของเราพิเศษกว่าตัวอักษรอื่นๆ ส่วนนักจิตวิทยาก็เชื่อว่าเรื่องนี้เชื่อมโยงกับปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “implicit egotism” คือ เราจะตอบสนองที่ทางบวกกับอะไรก็ตามที่ทำให้เรานึกถึงตัวเอง ถึงแม้ว่าจะดูไม่มีเหตุผลเลยก็ตาม

 

 

การแสดงออกของมือควบคุมจิตใจคนอื่นได้

ที่มาภาพ jeffwerner

ก่อนหน้านี้มีการพบว่า คนที่ถนัดมือขวามักจะเลือกสิ่งของที่อยู่ทางด้านขวามือของตัวเองมากกว่าทางซ้ายโดยสัญชาตญาณ ทฤษฎีที่อธิบายเรื่องนี้ก็คือ ถึงแม้เราจะคิดโดยใช้สมอง แต่เป็นมือของเราที่ได้มีปฏิกิริยากับสิ่งรอบข้างภาพนอก ดังนั้น สมองจึงมักถูกชักจูงให้ชอบของที่อยู่ทางเดียวกับมือข้างที่ถนัดมากกว่า อีกกรณีหนึ่งก็คือ พบว่าเราจะจดจำใบหน้าของคนอื่นได้ดีกว่าถ้าเราได้มีปฏิสัมพันธ์กับเขาด้วยการแสดงออกทางมือ ดังนั้น นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมบางคนเวลาเล่าเรื่องจะต้องทำท่าทางออกทางมือเยอะกว่าปกติ

ที่นี้มาถึงคำถามที่ว่า คนอื่นสามารถควบคุมคุณโดยใช้เพียงสัญญาณมือและการแสดงออกทางมือโดยที่คุณไม่รู้ตัวได้หรือไม่? คำตอบก็คือ ได้

ในการทดลองโดยมหาวิทยาลัย Hertfordshire มีการเปิดวิดีโอให้ผู้เข้าทดลองดูแล้วหลังจากนั้นนักวิจัยจะมาทำการสัมภาษณ์ โดยระหว่างสัมภาษณ์นั้นก็จะทำท่าที่ชักจูงให้เข้าใจผิดไป เช่น ระหว่างที่ถามว่าคนในวิดีโอมีเคราหรือไม่นักวิจัยก็จะทำท่าจับคางตัวเอง หรือตอนที่ถามว่าคนในวิดีโอใส่นาฬิกาหรือไม่ก็ทำท่าจับไปที่ข้อมือ ผลปรากฏว่า ผู้ถูกทดลองมีโอกาสที่จะเชื่อว่าคนในวิดีโอมีหนวดและใส่นาฬิกามากกว่าปกติถึง 3 เท่า

ที่มาภาพ footage

 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เมื่อนักการเมืองหรือทนายยืนขึ้นแล้วทำสัญญาณมือต่างๆ (เช่น ชี้ไปทางคนดู) จะทำให้คนดูถูกชักจูงไปได้ง่ายกว่า และถ้าคุณอยากจะขายอะไร อย่าลืมไปให้ทำมือ ทำท่าไปด้วย แล้วคนดูจะมีแนวโน้มยอมจ่ายให้คุณมากกว่า

 

 

การคิดมากเกินไปอาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาด

ที่มาภาพ omghub

คุณอาจจะไม่เชื่อ แต่ในหลายกรณีการคิดวิเคราะห์มากเกินไปก็ทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาดมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น สมมุติว่าคุณไปดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งซึ่งสนุกมาก แต่หลังจากนั้นคุณมาคุยกับเพื่อนๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นมีแต่ช่องโหว่เต็มไปหมด คุณจะเริ่มรู้สึกไม่มั่นใจแล้วว่ามันสนุกจริงๆ และเมื่อคุณคิดกลับไปถึงตอนที่ดูภาพยนตร์เรื่องนั้น คุณก็จะนึกออกแต่เรื่องช่องโหว่ในเนื้อเรื่อง

คุณอาจจะเข้าใจว่า การคิดเยอะจะช่วยนำไปสู่บทสรุปที่ถูกต้อง แต่มีผลการศึกษาออกมาว่า การคิดมากไปทำให้แทนที่จะได้คำตอบที่ถูก อาจจะได้เป็นคำตอบที่ผิดไปอย่างง่ายดาย

นักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองให้กลุ่มตัวอย่างออกความเห็นเกี่ยวกับสิ่งทั่วไป เช่น วิชาที่ชอบ หรือแยมยี่ห้อไหนอร่อยที่สุด แต่มีการแบ่งว่า กลุ่มหนึ่งจะถูกถามอย่างเร็วๆ แล้วไปยังหัวข้อถัดไป ในขณะที่อีกกลุ่มจะถูกขอให้คิดให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเลือก กลุ่มที่สองนี้เองที่มีแนวโน้มจะเลือกแตกต่างไปจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หรืออีกทางหนึ่งก็คือ ยิ่งให้คิดมากยิ่งเลือกผิดๆ

ที่มาภาพ selmaala

 

เหตุผลที่อธิบายสถานการณ์นี้คือ เมื่อให้คุณคิดว่าทำไมคุณถึงชอบอะไรบางอย่าง สมองจะสั่งให้คุณโน้มเอียงไปหาสิ่งที่อธิบายเป็นเหตุเป็นผลได้ เช่น สมมุติคุณได้ลองกินแยม 5 ชนิด แล้วตัดสินใจว่า เบอร์ 4 อร่อยที่สุด เพราะในขณะนั้นคุณได้รับรสชาติมากมายซึ่งสมองไม่ได้หาเหตุผลอะไรมารองรับ แต่เมื่อให้คิดว่าชอบเพราะอะไร สมองจะสั่งให้คุณหาสิ่งที่สามารถอธิบายได้ คุณอาจจะนึกจะขึ้นได้ว่าจริงๆ แล้วแยมเบอร์ 2 มีผลไม้ผสมเยอะกว่า หรือเบอร์ 1 สีสวยกว่า ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว 2 เหตุผลนี้ไม่ได้มีผลอะไรกับความพึงพอใจที่ได้รับแต่แรกด้วยซ้ำ
 

Credit: http://board.postjung.com/686259.html
23 มิ.ย. 56 เวลา 16:46 1,961 2 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...