พิพิธภัณฑ์วัดเกต พื้นที่ศรัทธาแห่งความทรงจำริมลำน้ำปิง ชุมชนแห่งอดีตก้าวข้ามกลิ่นอายสู่ยุคปัจจุบัน

 

 

 

 

 

Mthai Travel จะพาขึ้นเหนือเยี่ยมชมเมืองวัฒนธรรม หลบหลี้จากฝุ่นควัน ไปอิงแอบไอหมอกแห่งเมืองเชียงใหม่

จากการเดินทางจากกรุงเทพฯ เมืองแห่งสีสันกับนิยาม “มหานครไม่เคยหลับไหล” มุ่งหน้าสู่เมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม กับวิถีชีวิตที่มีวิถีเรียบง่ายและยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์และกลิ่นอายของชาวล้านนา ซึ่งแม้กาลเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปสักเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีสถานที่ที่ยังคงบ่งบอกเรื่องราวของความเป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิง “ชุมชนวัดเกตุ” หรือ พิพิธภัณฑ์วัดเกต

“ชุมชนวัดเกต” เป็นชุมชนโบราณที่เป็นที่อยู่อาศัยของคนหลายเชื้อชาติไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ชาวฝรั่ง และชาวพื้นเมือง สถาปัตกรรมที่หลงเหลืออยู่ สามารถบ่งบอกได้ถึงความเป็นศูนย์รวมของหลายๆเชื้อชาติ เมื่อสมัยก่อนที่นี่จะเป็นท่าน้ำสำคัญองการเดินทางเรือระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์มายังเชียงใหม่ ทำให้ย่านวัดเกตเป็นเมืองที่มีความสำคัญอีกเมืองหนึ่งของเมืองเชียงใหม่เลยก็ว่าได้

พิพิธภัณฑ์วัดเกต ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเกตุการามจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.พ.ศ. 2542 เดิมเป็นกุฏิเก่าของอดีตเจ้าอาวาส ซึ่งจะถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่ แต่ทางคณะกรรมการวัดเห็นว่าเป็นสถานที่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ก็เลยให้เก็บรักษาไว้และกลายมาเป็น“พิพิธภัณฑ์วัดเกต” ในปัจจุบัน

พวกที่เข้ามาชมส่วนใหญ่ 60-70% จะเป็นนักเรียนนักศึกษา ไม่เสียค่าเข้าชม เปิดให้เข้าชมกันแบบฟรีๆ ใช้เป็นสถานที่เก็บพวกสมบัติเก่าๆของทางวัด เช่นพวกช่อฟ้า ใบระกาซึ่งเป็นไม้แกะสลักลวดลายสวยงาม พวกถ้วยชามสังคโลก ถ้วยชามฝาจีบ จักรยานโบราณ วิทยุโบราณ ผ้าไหมทอมือ ฯลฯ และที่สำคัญเราได้มีโอกาสเห็นธงชาติไทยผืนแรกของเมืองสยามที่เดินเส้นด้วยทองคำ มีชื่อเรียกว่า “ธงช้างเผือก” (ช่างเป็นบุญตาจริงๆ) เป็นธงชาติเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5-6 ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นธงไตรรงค์ในสมัยรัชกาลที่ 7 ผู้ที่เก็บไว้ในตอนแรกไม่ทราบถึงคุณค่าของผืนธงจึงนำไปเก็บไว้ในกระบอกไม้ไผ่ ทำให้ผืนธงไม่สมบูรณ์เมื่อทางพิพิธภัณฑ์ได้รับมา สังเกตได้ว่าผืนธงจะไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าทราบประวัติก็มีทึ่งกันบ้างล่ะ

นอกเหนือจากนี้ยังมี อาคารโรงเรียนนักธรรมหลังเก่า 2 ชั้น งดงามด้วยลวดลายฉลุไม้ประดับหน้าจั่วและตามมุมต่างๆ ถัดมาเป็น “พระธาตุเกษแก้วจุฬามณี” พระธาตุสำหรับคนเกิดปีจอ ตามคติความเชื่อของล้านนา

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ผู้ก่อตั้งตัวพิพิธภัณฑ์นั้น ประวัติน่าสนในมากทีเดียว “ปู่แจ๊ค” หรือที่ผู้คนย่านวัดเกตรู้จักปู่ในชื่อของ “ปู่จรินทร์ เบน” ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ฟื้นคืนชีพกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเดินเข้ามาใช่ว่าจะได้เจอกับปู่แจ็คทุกวันนะ ต้องเป็นเฮงจริงๆ ถึงจะได้เจอปู่ เมื่อเราย่างเท้าเข้าไปในพิพิธภัณฑ์เราก็ได้ยินเสียงทักทายอันดังฟังชัดแต่เต็มไปด้วยความแจ่มใส และเดินออกมาต้อนรับพวกเรากับไม้เท้าหนึ่งอัน ดูแล้วช่างให้ความรู้สึกว่าเหมือนได้ย้อนยุคไปเมื่อสมัยกว่า 50 ปีก่อน แล้วก็ใช่อย่างที่เราคิดจริงๆด้วยนั่นคือปู่เป็น ‘คหบดี’ เก่านั่นเอง ด้วยวัย 90 ปี (แต่ปู่บอกเราด้วยความขำๆว่า ‘ผมเพิ่งจะ 90 เอง’)ถึงร่างกายจะทรุดโทรมไปตามตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้น แต่ความทรงจำของปู่ไม่ได้ทรุดโทรมตามไปด้วยเลย

ปู่แจ๊คเล่าให้เราฟังว่า แรกๆพื้นที่บริเวณโบสถ์จะเป็นที่ซ่องสุมของพวกขี้ยา เข้ามาแรกๆจะเจอพวกกระเป๋าสตางค์ทิ้งเอาไว้เกลื่อนกลาด แต่พอปู่เข้ามาปู่ก็ได้เข้ามาบรูณะ ให้มีความสวยงามเหมือนที่เห็นในปัจจุบัน ด้วยเป็นคณบดีเก่าปู่จึงมีกำลังทรัพย์ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้กลับมีชีวิตขึ้น ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ ก็ได้จัดการแบ่งให้ลูกๆไปหมด ปู่ยังบอกแบบขำๆอีกด้วยว่า “ถ้ากรมสรรพากรมาตรวจสอบปู่ก็มีเพียงแค่กางเกง 4 ตัวเท่านั้น” เราย้อนถามปู่แจ๊คกลับไปว่า ปู่มาทำแบบนี้แล้วปู่จะได้อะไร ปู่ตอบกลับมาด้วยใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้มว่า “ได้ความสุข ได้มาคุย มาโม้กับคนที่มาชมพิพิธภัณฑ์ เท่านี้ก็มีความสุขแล้ว”

ปู่บอกกับเราว่า “ตั้งแต่ปู่เกิดมา จนถึงปัจจุบันนี้ ปู่เห็นความเปลี่ยนแปลงของเมืองเชียงใหม่ค่อนข้างเยอะมาก เป็นความเปลี่ยนแปลงในทางวัตถุ แต่เสื่อมโทรมในทางจิตใจ เมื่อมีวิทยากรจาก กรุงเทพฯ มาที่เชียงใหม่ ปู่มักจะบอกพวกเค้าว่า “คนกรุงเทพฯเห็นแก่ตัวมากกว่าคนเชียงใหม่ คนเชียงใหม่เห็นแก่ตัวมากกว่าคนบ้านนอก คนบ้านนอกเห็นแก่ตัวมากกว่าคนบนเขาบนดอย เพราะความจำเป็นของชีวิตต้องบังคับให้คุณเห็นแก่ตัว ถ้าคุณไม่เห็นแก่ตัวคุณอยู่รอดไม่ได้ คนสมัยนี้ขนาดบ้านอยู่ติดกันยังไม่รู้จักกันเลย ถ้าเป็นสมัยก่อนถามบ้านตามาอยู่ไหน ไกลก็ยังพากันไปส่ง แต่ปู่ก็ไม่ว่าพวกเค้านะ เพราะถ้าไม่เห็นแก่ตัวก็อยู่ไม่ได้”

ก่อนกลับปู่ได้ฝากถึงข้อคิดของการอนุรักษณ์ศิลปะวัฒนธรรมไทยไว้ให้กับลูกๆหลานๆว่า “สิ่งที่ทำให้ปู่เสียใจมากที่สุดก็คือ คนที่มีของเก่าแล้วเอามาขาย ไม่รู้คุณค่าของพวกนี้ ซึ่งในสมัยก่อน ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นคนใช้ของพวกนี้ แต่ก็เอาไปโยนกันไว้ที่ใต้ถุน แบบไม่รู้คุณค่า พอมีรถของเก่ามาก็นำมาขายชิ้นละไม่กี่สิบบาท เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง อย่างกระต่ายขูดมะพร้าว ถ้าไปถามคนต่างชาติ อย่างถ้าไปซื้อที่ลอนดอน จะคิดเป็นเงินไทยมูลค่าเท่าใด 2 หมื่นบาท แต่คนไทยเราเอามาขายของเก่าแค่ 5 บาท คนรับของเก่าเอาไปขายให้ฝรั่งที่อยู่ในเมืองไทย 1,000 บาท ฝรั่งที่อยู่ในเมืองไทยก็เอาไปขายฝรั่งที่อยู่ที่เมืองนอก 2 หมื่น ฝรั่งพวกนี้เค้าซื้อไปแต่งบ้าน ช่างน่าเสียดายที่คนไทยไม่รู้จักคุณค่า ก็อยากให้อนุรักษ์รักษาของไทยกันเอาไว้ อย่างภาพจิตกรรมฝาผนังที่เห็นอยู่ มาตอนแรกๆก็มีฝุ่นจับเต็มไปหมด เราก็มาปรับปรุงทำความสะอาด จนกลับมาสวยงามแทบจะเท่าของเดิม”

ปล.ระหว่างที่เขียนเรื่องนี้ “ปู่แจ๊ค” ได้ถึงแก่กรรมโดยสงบเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขอไว้อาลัยให้กับ “ปู่แจ๊ค” ปูชนียบุคคลที่น่าเคารพ เปรียบเสมือนหนังสือประวัติศาสตร์เคลื่อนที่ หากปู่ยังมีชีวิตอยู่ เราคงได้เห็นภาพปู่คอยเดินตามอธิบายถึงเรื่องราวต่างๆของสิ่งของแต่ละชิ้น เรียกได้ว่าถ้าใครจะถามอะไร ปู่ตอบได้ เรียกรอยยิ้มได้เป็นอย่างดี และหากอยากทราบว่า “ปู่แจ็ค” ดังขนาดไหน แนะนำให้ไปอ่าน “สมุดเยี่ยม” ที่ข้อความมักจะต้องพูดถึงปู่แจ๊คอยู่แทบจะทุกบรรทัด และทุกหน้า

ฝากคำคมที่มีติดเอาไว้รอบๆวัด เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับนักท่องเที่ยว อาทิ “อย่าบอกใครว่าเราทำไม่ได้ ในเมื่อเรายังไม่ได้ทำ” และยังมีคำโดนใจอีกหลายคำ ที่อ่านแล้วได้แง่คิดมากมายกลับไป

สถานที่ชวนเที่ยว : วัดเกตการาม ตั้งอยู่เลขที่ 96 บ้านวัดเกต ถ.เจริญราษฎร์ ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่

Credit: http://travel.mthai.com/member-blog/60565.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...