เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับการอดหลับอดนอน ทำให้เกิดอาการนอนไม่พอโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อร่างกายและจิตใจ
เบื้องต้นเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะอดนอน มันจะส่งสัญญาณพื้นฐานเตือนให้เรารู้ด้วยการหาวบ่อยๆ แต่ยังมีอีก 10 สัญญาณร้ายบอกเหตุ และช่วยเตือนให้รู้ว่า “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้านอนไม่พอ”
1. มีอารมณ์แปรปรวน
คนทั่วไป เมื่อรู้สึกเหน็ดเหนื่อย บางครั้งอาจหงุดหงิด อารมณ์เสีย แต่สักพักก็ควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติได้ ซึ่งต่างจากคนอดนอน ที่แม้ในสภาพปกติ ก็ไม่อาจควบคุมได้ จะมีอารมณ์แปรปรวนตลอดเวลา
อีกทั้งการอดนอนยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะรู้สึกซึมเศร้า เหนื่อยล้า และขาดความเห็นใจผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีอาการเหล่านี้อยู่แล้ว การนอนไม่พอจะทำให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้น
งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า เด็กที่นอนน้อยกว่าวันละ 10 ชม. มีโอกาสสูงกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ที่จะแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม
2. กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวน้อยลง
บรรดานักวิจัยค้นพบว่า การไม่ได้นอนทั้งคืน มีผลเท่ากับการดื่มสุราจนมึนเมา เพราะเมื่ออดนอน คุณจะขยับปากพูดลำบาก พูดอ้อแอ้ ตะกุกตะกัก และพูดไม่มีเสียงสูงต่ำ รวมถึงการเดินชนโน่นชนนี่
อีกทั้งยังทำให้มีปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งเร้าช้าลงเป็นลำดับแรก ต่อมาจะเป็นเรื่องความถูกต้อง คือ ยิ่งอดนอนนานเท่าไหร่ ยิ่งโต้ตอบช้าและผิดมากขึ้นนั่นเอง
3. มีปัญหาสุขภาพ
สำหรับคนปกตินั้น การนอนไม่พอทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อุณหภูมิร่างกายต่ำลง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง จำนวนเม็ดเลือดขาวลดลง และมีอาการเฉื่อยชา
ส่วนคนที่เป็นเบาหวานและนอนไม่พอ ร่างกายจะเผาผลาญน้ำตาลลดลง ทำให้การโต้ตอบอินซูลินลดน้อยลงไปด้วย ส่งผลให้ร่างกายไม่อาจควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
อย่างไรก็ตาม เมื่ออดนอนสะสมสักระยะ ร่างกายจะมีกลไกบังคับให้ต้องนอนหลับ ก่อนที่จะต้องเสียชีวิต เพราะนอนไม่พอ มีข้อมูลของมูลนิธิการนอนหลับแห่งสหรัฐอเมริกา เผยว่า การนอนหลับน้อยกว่า 4 ชม.ในแต่ละคืน อาจทำให้เสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ภายใน 6 ปีข้างหน้า
4. การตัดสินใจผิดพลาด
มีงานวิจัยชี้ว่า คนที่อดนอนมักเสี่ยงที่จะตัดสินใจผิดพลาดในสถานการณ์ต่างๆ เพราะสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและควบคุมสิ่งเร้า ต้องทำงานหนักเกินไปในยามที่อดนอน เช่น คุณอาจจะทุ่มเงินจนหมดตัวขณะเล่นการพนัน ซื้อของเกินงบที่มี แสดงความก้าวร้าวเพื่อเอาชนะ ฯลฯ แต่เมื่อได้นอนหลับเต็มอิ่ม คุณจะสามารถประเมินความเสี่ยงได้ดีกว่า
5. มีปัญหาการมองเห็น
ปัญหาการมองเห็นที่เกิดจากการอดนอน เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆจนกระทั่งถึงกับเสียชีวิตได้ เช่น หกล้ม ตกบันได ขับรถชน ฯลฯ เพราะเมื่อไม่ได้นอนมาทั้งคืน จะทำให้สายตาพร่ามัว เพ่งมองลำบาก หรือมองเห็นภาพหลอน
นักวิจัยได้อธิบายเรื่องนี้ว่า มีสาเหตุจากการทำงานที่อ่อนล้าของเซลล์ประสาทที่ส่งข้อมูลรอบๆตัวไปยังสมอง ได้ไม่เต็มที่ จึงเกิดภาพบิดเบือนจากความเป็นจริง
6. กินไม่หยุด
มีงานวิจัยระบุว่า คนที่ไม่ได้นอนทั้งคืน สมองจะหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความอยากอาหารเพิ่มขึ้น และจะหลั่งฮอร์โมนที่เตือนว่าอิ่มพอแล้ว ลดน้อยลง
เพราะเมื่ออดนอน ร่างกายจะเผาผลาญน้ำตาลช้าลง ผลก็คือ นอกจากจะอยากกินอาหารจำพวกแป้งแล้ว ยังอยากกินพวกของหวานและของเค็มด้วย เรียกว่ากินได้เรื่อยๆ
ดังนั้น คนอดนอนมีความเสี่ยงที่จะอ้วนเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับคนที่นอนหลับปกติ หากใครอยากลดน้ำหนักให้ได้ผล ก็ต้องนอนหลับให้เพียงพอ
7. ความจำแย่
การนอนหลับลึกมีส่วนสำคัญต่อความจำ เพราะมันช่วยเชื่อมโยงเซลล์ประสาท แต่หากนอนหลับๆตื่นๆ การเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทจะลดน้อยลง ดังผลที่ได้จากการทดสอบในคนและสัตว์ พบว่า ความจำจะแย่ลงเมื่ออดนอน
ดังนั้น หากต้องทำงานที่ใช้ความจำอย่างแม่นยำ คุณอาจเตรียมตัวเองด้วยการนอนหลับให้เต็มที่ก่อนวันทำงาน เช่น นักเรียนที่อยู่ระหว่างการสอบ ไม่ควรอดนอนอ่านหนังสือตลอดทั้งคืน ขอให้อ่านจนรู้สึกเพลีย แล้วรีบเข้านอน เพื่อจะตื่นนอนอย่างแจ่มใสในวันรุ่งขึ้น
8. ขาดสมาธิ
งานวิจัยบอกว่า คนที่อดนอน นอกจากจะทำคะแนนทดสอบเรื่องการมีสมาธิได้น้อยแล้ว ยังคาดหวังสูงเกินไปว่าตัวเองจะทำได้ดี และคนที่นอนหลับวันละ 5 ชม. นาน 1 สัปดาห์ จะทำงานที่ต้องใช้สมาธิได้ดีกว่าคนที่นอนวันละ 4 ชม. นาน 1 สัปดาห์
และการที่บางคนหันมาดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพื่อช่วยให้มีสมาธินั้น ขอบอกว่า มันจะออกฤทธิ์ได้ผลเพียงแค่ชั่วโมงแรกที่ดื่มเท่านั้น
9. รับมือกับความเครียดไม่ได้
ถ้าคุณรู้สึกเครียดสั่งสมมาโดยตลอด นั่นอาจไม่ได้เกิดจากสถานการณ์ที่คุณต้องเผชิญ แต่อาจเกิดจากการนอนไม่พอก็ได้ เพราะการอดนอนทำให้ประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นแต่ ละวัน ลดน้อยลง รวมทั้งทำให้ความเครียดเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่อง คือ ทำให้นอนไม่หลับ โดยเฉพาะในผู้ชายวัยกลางคน เพราะฮอร์โมนที่ทำให้เกิดอาการเครียดจะถูกหลั่งออกมากในช่วงค่ำ
ส่วนคนที่นอนหลับได้สนิทในยามที่เครียด จะมีสมาธิในการทำงานมากกว่าคนที่นอนไม่หลับเมื่อเครียด
10. เกิดปัญหาในครอบครัว
การที่คนใดคนหนึ่งในครอบครัวมักเปิดไฟอยู่จนดึกดื่นเป็นประจำ ย่อมส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆในบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น สามีภรรยาที่ต้องนอนห้องเดียวกัน หากอีกฝ่ายนอนหลับไม่สนิทหรือนอนไม่พอ ทำให้เมื่อตื่นนอนตอนเช้า จึงรู้สึกอ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย จนนำไปสู่การทะเลาะมีปากเสียงกันในที่สุด
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556 โดย มนตรา)