สพภ. ทำการจัดลงนาม “ปฏิญญาว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” ณ ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ร่วมกับ 28 ภาคีเครือข่าย
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. จัดพิธีลงนาม “ปฏิญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” ณ ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ร่วมกับ 28 ภาคีเครือข่าย อาทิผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร, องค์กรบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร, ส่วนตำบลกุดบาก, อำเภอกุดบาก, กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มจังหวัดสกลนคร, หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ตลอดจนเยาวชน มหาวิทยาลัยและ โรงเรียนในพื้นที่
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เผยว่า “สพภ. ได้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับชุมชนทุกภูมิภาคกว่า 60 ชุมชน ทั้งด้านส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้ความรู้ต่อยอดทางธุรกิจ สร้างรายได้ให้ชุมชนและนำรายได้ส่วนหนึ่งไปฟื้นฟูพื้นที่ให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน ตลอดจนปลูกจิตสำนึก หวงแหน อนุรักษ์และฟื้นฟู ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาร่วมกัน ในรูปแบบของ “ปฏิญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” โดยทีผ่านมา ในปี 2555 สพภ.ได้จัดทำ“ปฏิญญาคุ้งบางกระเจ้า”, ปฏิญญากระบี่ ณ ตำบลคลองประสงค์ จังหวัดกระบี่ ในปีงบประมาณ 2556 สพภ. ได้ขยายพื้นที่การจัดทำ ”ปฏิญญา” ในระดับภูมิภาคเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายดำเนินการลงนามปฏิญญา 7 แห่ง โดยวิเคราะห์และพิจารณาพื้นที่ที่มีศักยภาพจากผลการทำงานของกลุ่มแผนงานชุมชนของ สพภ. ดังนี้ “ปฏิญญาเพื่อนห้วยขาแข้ง” ณ ตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี และ “ปฏิญญาน่าน” ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน”
ซึ่ง ชุมชนตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่นในด้านศิลปะการทอและย้อมผ้าคราม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของภาคอีสานที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เป็นกลุ่มชุมชนที่รวมตัวกันผลิตผ้าย้อมคราม เพื่อใช้นุ่งห่มในชีวิตประจำวัน และจำหน่ายเป็นผ้าผืนเพื่อสร้างรายได้แก่ครัวเรือน และทางด้านสิ่งแวดล้อมทางชุมชนได้ดำเนินการผลิตโดยยึดแนวคิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยการนำรายได้ส่วนหนึ่งกลับไปฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ชุมชุนนั้น
โดย สพภ. ได้ทำการส่งเสริมให้ชุมชนรู้จักการนำทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพ มาตรฐาน ในรูปแบบของการฝึกอบรมและการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ นอกจากนี้ สพภ. ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคีเครือข่าย ในการอบรมเสริมความรู้ด้านการผลิต ตั้งแต่การก่อหม้อคราม การย้อมสีให้ส่ำเสมอ รวมถึงความรู้ด้านการตลาด การออกแบบลวดลายบนผ้า และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น หลายปีมานี้ผ้าย้อมครามได้ถูกพัฒนาจนเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ทาง สพภ. เชื่อมั่นว่า “ผ้าย้อมคราม” ประณีตศิลป์แห่งอีสานมีศักยภาพทางการตลาดเพียงพอที่จะเติบโตได้ในระดับโลก
เพื่อเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะดำเนินการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ชุมชนกุดบาก ร่วมกับ 28 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร, องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร, มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสกลนคร, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนคร, พัฒนาการจังหวัดสกลนครสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร, สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนคร, ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสกลนคร, ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร, นายอำเภอกุดบากเกษตรอำเภอกุดบาก, สาธารณสุขอำเภอกุดบาก, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาสกลนคร, อุทยานแห่งชาติภูพาน, ศูนย์ส่งเสริมวนศาสตร์ชุมชนที่ 3, เทศบาลตำบลกุดแฮดเทศบาลตำบลกุดบาก, โรงเรียนกุดบากพัฒนาศึกษา, โรงเรียนบ้านกุดแฮดวัฒนราษฎร์ผดุง,กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มจังหวัดสกลนคร, ศูนย์อินแปง บ้านบัว ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร, วิสาหกิจชุมชนบ้านกุดแฮด ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร, วิสาหกิจชุมชนบ้านเชิงดอย ตำบลนาม่อง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร, วิสาหกิจชุมชนบ้านอูนดง ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม และสพภ. จึงมาลงนามปฏิญญาร่วมกัน โดยประกาศเจตนารมณ์ เป็นภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ในการดำเนินกิจกรรม เพื่ออนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขยายแนวคิดเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
อนึ่ง ในปลายปีงบประมาณนี้ สพภ.จะจัดกิจกรรมสมัชชา รวบรวมชุมชนที่มีปฏิญญา จากพื้นที่ตำบลระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี, ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน และ 4 พื้นที่ของโครงการ GEF4 อันประกอบด้วย ต.ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี, ต.ดงบัง อ.ประจันตคาม
จ.ปราจีนบุรี, ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง และ ต.บางวัน อ.คุระบุรี จ.พังงา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้านการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรชีวภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
“ให้ ปฏิญญาว่าด้วยอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนอย่างยั่งยืน” ณ ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร เป็นต้นแบบและพัฒนาภาคีเครือข่ายเพื่อขยายผล ตลอดจนสื่อสารและสร้างกระแสให้สังคมรับรู้ และตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนต่อไป” นายวีระพงศ์ มาลัย กล่าวทิ้งท้าย