สหประชาชาติ(ยูเอ็น)ชี้ว่า อินเดียจะแซงหน้าจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ภายในปี 2028
ยูเอ็นเปิดเผยในรายงานวิเคราะห์แนวโน้มประชากร โดยระบุว่า ในช่วงดังกล่าว ทั้งสองประเทศจะมีประชากรเฉลี่ยประเทศละ 1,450 ล้านคน โดยอัตราการเติบโตด้านประชากรของอินเดียจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระทั่งช่วงกลางศตวรรษนี้ ขณะที่จีนตัวเลขจะค่อยๆปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ รายงาน "World Population Prospects" ที่จัดทำทุกๆ 2 ปี ผ่านการวิจัยโดยใช้ข้อมูลด้านประชากรจากประเทศและเขตทั่วโลกกว่า 233 แห่ง
ยูเอ็นยังคาดการณ์ว่า ประชากรโลกในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 7,200 ล้านคน จะเพิ่มขึ้นสู่ 9,600 ล้านคน ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า โดยกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา จะเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตสูงสุด
ทั้งนี้ ประเทศด้อยพัฒนา 49 ประเทศแรก คาดว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จากราว 900 ล้านคนในปีนี้ ไปเป็น 1,800 ล้านคนในปี 2050 ขณะที่ประชากรในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
ยูเอ็นระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ อาทิ จีน อินเดีย และบราซิล มีอัตราเฉลี่ยทารกต่อมารดาลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ในประเทศอย่างไนจีเรีย ไนเจอร์ เอธิโอเปีย และอูกันดา อัตราการเจริญพันธุ์ยังอยู่ในระดับสูง คาดว่าประชากรของไนจีเรียจะสามารถแซงหน้าประชากรสหรัฐฯได้ภายในกลางศตวรรษนี้ และอาจเป็นคู่แข่งสำคัญของจีนภายในปี 2100 ขณะที่ประชากรจีนจะเริ่มลดลงหลังจากปี 2030
นายหวู หงโป๋ รองเลขาธิการยูเอ็นด้านเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า แม้โดยรวมประชากรโลกจะมีการเติบโตน้อยลง แต่รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ในบางประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในแอฟริกา ยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว