นางพญาผ้าซิ่น
หมายถึงของสุดยอดหรือซิ่นของซิ่นทั้งมวล และแน่นอนเป็นของแพงหายากในวงการผ้าโบราณนั้นมีอยู่ ๕ ชนิด เทียบเท่าพระเครื่องเบญจภาคีในวงการพระเครื่องเลยทีเดียว ว่ากันว่าหากมีครบทั้ง ๕ ผืน ก็จะดึงดูดผ้าโบราณทั้งหลายให้เข้ามา (เป็นความเชื่อนะครับ)
๑. ซิ่นไหมคำเมืองเชียงตุง
ซิ่นไหมคำเมืองเชียงตุงหรือเรียกอีกอย่างว่า ซิ่นบัวคำ
เป็นซิ่นชนิดเดียวในผ้าซิ่นทั้ง 5 ที่ไม่ได้มีแหล่งกำเนิดในเมืองไทย เป็นซิ่นของราชสำนักไทเขิน นอกจากจะมีความสวยงามและความโดดเด่นแล้วยังมีมูลค่าหลายแสนบาทด้วยเพราะซิ่นชนิดนี้หาได้ยากมาก เชื่อกันว่าซิ่นชนิดนี้มีอาถรรพ์โดยเป็นซิ่นชนิดเดียวที่เลือกผู้เป็นเจ้าของ เนื่องด้วยเมืองเชียงตุงเป็นเมืองการค้าระหว่างล้านนา จีน พม่า จึงรับเอาวัฒนธรรมของชาติต่างๆ มาผสมผสานผ่านผืนผ้าได้อย่างลงตัว
ตัวซิ่นจะทอยกมุกด้วยไหมคำโดยนำเอาทองคำหรือเงินหรือกาไหล่ทองมารีดเป็นเส้นแบนยาวแล้วเอามาตีเกลียวกับเส้นใยส่วนมากเป็นฝ้ายแล้วนำมาทอ ต่อกับส่วนล่างของซิ่นคือผ้าไหมจีนหรือกำมะหยี่สีเขียว ด้านบนของตีนซิ่นจะปักลายบัวคำด้วยเส้นไหมหรือโลหะมีค่า ส่วนล่างสุดของซิ่นจะติดด้วยแถบไหมของจีน
เจ้านางเชียงตุง
สตรีไทเขิน
๒. ซิ่นตีนจกไหมเงินไหมคำราชสำนักเชียงใหม่
ซิ่นตีนจกแบบเชียงใหม่
นั้นเรียกได้ว่าเป็นซิ่นที่เป็นมาตรฐานของซิ่นล้านนา ลวดลายที่แน่นอนมีแบบแผนชัดเจน ซิ่นชนิดนี้มักมีผู้สั่งทอมากเช่นเจ้านายลำพูน ลำปาง และพวกคหบดีมีเงิน
ลักษณะของซิ่นตีนจกแบบเชียงใหม่นั้น มีลวดลายเหมือนซิ่นจกที่อื่นๆ คือจกอยู่บนเชิงและปล่อยที่ว่างด้านล่างซิ่นที่เป็นสีแดงเรียกว่า เล็บซิ่น ลวดลายมีหลากหลายแต่ที่นิยมมากคือคือลาบโคมภายในมีรูปนกกินน้ำร่วมต้น ขนาบด้วยห้องนกสามเหลี่ยมซ้อน ๒ ชั้นด้านบน ด้านล่างซ้อนชั้นเดียว หางสะเปามีสีเดียวคือดำล้วน และสลับสี โดยปกติที่ตีนจะทอด้วยฝ้ายแต่ถ้าเป็นของเจ้านายหรือผู้ดีมีเงินจะทอด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง ต่อกับตัวซิ่นลายขวาง ในพระตำหนักของเจ้าดารารัศมี มีการต่อตัวซิ่นด้วยผ้าลุนตยาอชิคของพม่า
ตีนซิ่นที่ทอจกด้วยไหมคำนั้นไม่จำกัดเฉพาะในราชสำนักเชียงใหม่อย่างเดียว พวกผู้ดีมีเงินก็สามารถที่จะใส่ได้เช่นกัน ในปัจจุบันจะหาแบบเต็มผืนยากส่วนมากจะเหลือแต่ตีนซิ่นที่เป็นโลหะมีค่า
ซ้าย ซิ่นแบบดั้งเดิมของเชียงใหม่ ขวา ซิ่นลุนตยาอชิคต่อตีนจก
๓. ซิ่นน้ำถ้วม
ซิ่นน้ำถ้วม (เขียนตามอักขระล้านนา) หรือซิ่นน้ำท่วม (ตามภาษาไทยกลาง)
เป็นชื่อของผ้าซิ่นไทยวนชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในบริเวณพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมในคราวสร้างเขื่อนภูมิพล จ.ตาก จึงเป็นที่มาของชื่อ ในอดีตเป็นชุมชนโบราณที่ความเจริญมากแต่ประวัติศาสตร์ของเมืองต้องมลายหายไปเมื่อมีการสร้างเขื่อน ทำให้ผู้คนหนีย้ายไปยังที่ต่างๆ ว่ากันว่ามีคนหนีตายจำนวนมากเพราะดื้อดึงที่จะอยู่ที่เดิม บางคนหนีทันก็นำเอาข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นติดตัวมาเท่านั้น หอบเอาผ้าซิ่นไม่กี่ผืนติดตัวมา กระจัดกระจายกันไป เมื่อมาอยู่ที่ใหม่วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปและยิ่งนานวันก็ไม่มีผู้สืบทอด
ซิ่นชนิดนี้มีลวดลายและองค์ประกอบคล้ายคลึงกับซิ่นที่ใช้กันในราชสำนักเชียงใหม่ แต่ไม่ใช้ดิ้นเงินดิ้นทองแบบราชสำนัก จึงมีความงามแบบพอดีๆ ซิ่นชนิดนี้มีความหลากหลายในตัวลายมาก
แต่ลักษณะเด่นคือหางสะเปาเป็นสีดำล้วนและขนาดไม่ยาว
ซิ่นน้ำถ้วม
๔ .ซิ่นวิเศษเมืองน่าน
เมืองน่านหรือเมืองนันทบุรีซึ่งแปลว่าเมืองแห่งความสุขรื่นรมณ์ เมืองน่านนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของผ้าซิ่นที่สวยงามหลากหลายชนิด ความงามของผ้าซิ่นเมืองน่านนั้นเป็นการเอาสุดยอดเทคนิคของชนชาติต่างๆอย่าง ยวน ลื้อ ลาว มาหลอมรวมจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ซิ่นวิเศษ หรือเรียกอีกอย่างว่า ซิ่นหล่ายน่าน
โดยปกติความงามของซิ่นเมืองเหนือจะอยู่ที่ลายจกในส่วนตีนแต่ซิ่นชนิดนี้มีความงามอยู่ทั่วผืนผ้า ทั้งตัวซิ่น ตีนซิ่น และสีของซิ่น เป็นซิ่นเย็บ ๓ ตะเข็บ (ปกติซิ่นที่ใช้ในปัจจุบันจะมี ๑ หรือ ๒ ตะเข็บ) และใช้เทคนิคหลากหลาย ทั้งจก การเกาะล้วง ขิด และแซมด้วยมัดหมี่ อันเป็นที่มาของชื่อซิ่นวิเศษเมืองน่าน
ความหายากของซิ่นชนิดนี้ที่มีการผสานเทคนิคอย่างที่กล่าวนั้นมีประมาณ ๒๐ ผืน ซึ่งกระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์และนักสะสม ว่ากันว่าซิ่นชนิดนี้ไม่ปรากฏร่องรอยการใช้ แต่ที่เก่าก็เพราะการเก็บรักษา เป็นซิ่นที่ตกทอดไว้ขึ้นหิ้งบูชา ใน1ปีเมื่อมีพิธีกรรมจึงนำออกมาใช้ นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่พบน้อยผืน เพราะไม่ค่อยใช้จึงไม่มีการทอเพิ่ม
ซ้าย ภาพวาดจิตรกรรมวัดภูมินทร์ น่าน ขวา ซิ่นจกวิเศษ
๕ . ซิ่นน้ำปาด-ฟากท่าอุตรดิตถ์
เดิมทีนั้นชาวน้ำปาดมีถิ่นฐานอยู่แถบประเทศลาว ต่อมาจึงมีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณอ.น้ำปาด และขยายเมืองไปยังอ.ฟากท่า
ซิ่นน้ำปาด ฟากท่านั้นได้กลิ่นอายจากผ้าลาว ลื้อ และยวน อย่างครบถ้วน มีความประณีตในการออกแบบลายและเลือกสีสัน ลักษณะจะคล้ายซิ่นลาวครั่ง ตัวซิ่นจะมัดหมี่เป็นลายแบบลาว บางผืนจะใช้เทคนิคเกาะล้วงแบบลื้อ เชิงซิ่นใช้วิธีจกแบบไทยวน(ล้านนา) ลวดลายการมัดหมี่นั้นมีไม่ซ้ำแบบ บางผืนนำเอาผ้าต่างชาติอย่างจีนและอินเดียมาทำตัวซิ่น
ซิ่นชนิดนี้เป็นซิ่นพิเศษคือไม่ได้ทอใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ทอเป็นซิ่นมูนมัง มรดกประจำตระกูล ด้วยเหตุนี้ซิ่นน้ำปาด ฟากท่าจึงหายากแสนยาก
แบบที่ใช้ผ้าต่างประเทศ
แบบที่ใช้เทคนิคเกาะล้วงตามแบบไทลื้อ
แบบที่ใช้เทคนิคมัดหมี่แบบไทลาว
เกร็ดความรู้ครับ
* ผ้าซิ่นก็คือผ้านุ่งของสตรี มีขนาด ลวดลาย สีสัน ลักษณะการนุ่งห่มต่างออกไปในแต่ละท้องที่
* โดยคร่าวๆซิ่นไทยวนประกอบด้วย ๓ ส่วนสำคัญ คือ หัวซิ่นหรือเอวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่นครับ
ภาพซ้ายเป็นซิ่นไทเขิน ภาพขวาเป็นซิ่นไทยวนเอามาเปรียบเทียบกันครับ
โดยส่วนที่สวยที่สุดของซิ่นมักเป็นส่วนตีนซิ่นซึ่งส่วนมากมักจะทอด้วยวิธีการจก (เป็นกรรมวิธีปักผสมทอทำให้ได้ลวดลายนูนเด่นออกมาครับ ) สำหรับซิ่นชาวไทยวนและขิดสำหรับซิ่นไทลาวแต่ก็อาจมีซิ่นบางประเภทที่ไม่ได้ผลิตด้วยกรรมวิธีดังกล่าว
ตีนซิ่นไทยวนประกอบด้วย
ทั้งหมดนี้คือ ๕ นางพญาผ้าซิ่น จะสังเกตุว่าทั้ง ๕ ผืนเป็นของหายากและส่วนใหญ่ไม่มีผลิตอีกแล้วในปัจจุบัน (ยกเว้นของทำเทียมนะครับ) ถึงแม้บางผืนยังมีผู้พยายามรื้อฟื้นใหม่แต่ตัวลายบางลายก็ไม่สามารถทอได้อีกหรือสูญหายไปแล้ว ผมจึงอยากให้คนในยุคนี้ช่วยกันรักษามรดกของชาติที่เหลืออยู่ให้อยู่คู่กับประเทศเราไปนานๆครับ อย่าให้มันกลายเป็นตำนานเหมือนผ้าซิ่น ๕ ผืนนี้เลยครับ
ขอบคุณที่มา ODIA จาก http://pantip.com/topic/30613810