“รอยเตอร์ส” ระบุเศรษฐกิจไทยกำลังบูมที่ ‘ภาคอีสาน’ แทนที่ ‘กรุงเทพฯ’
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2556 สำนักข่าวรอยเตอร์ส เปิดเผยเผยแพร่บทความเชิงวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศไทยที่ระบุว่า ใน ยุคที่เศรษฐกิจไทยโดยรวมเริ่มชะลอตัวลงขณะนี้ เศรษฐกิจภาคอีสานของไทยกลับกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นที่สนใจของนักลงทุนและธุรกิจทั้งหลาย อันเนื่องมาจากรัฐบาลยุคยิ่งลักษณ์ที่เดินหน้าพัฒนาภาคอีสาน ในฐานะที่เป็นฐานของคนเสื้อแดง
บทความดังกล่าวเขียนโดย พอล คาร์สเทน และไพรัตน์ เต็มไพโรจน์ ระบุว่า ทุก วันนี้เศรษฐกิจภาคอีสาน ซึ่งเป็นภาคที่มีประชากรมากที่สุดและจนที่สุดในประเทศ กำลังก้าวเข้าสู่ยุคเฟื่องฟู เศรษฐกิจกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้จากศูนย์การค้า อาคาร สิ่งก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรม เริ่มจะผุดขึ้นเคียงข้างพื้นที่เกษตรกรรมในภาคอีสาน ชนชั้นกลางรุ่นใหม่ ๆ เริ่มปรากฏตัวให้เห็นมากขึ้น ซึ่งนั่นทำให้นักลงทุนและบริษัทต่าง ๆ ให้ความสนใจ
สำหรับสถิติการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2007-2011 โดยรวมแล้วเติบโต 23 เปอร์เซ็นต์ กรุงเทพ 17 เปอร์เซ็นต์ แต่หากพิจารณาเฉพาะภาคอีสาน มีการเติบโตสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว นอกจากนี้ จำนวนโครงการลงทุนจากเอกชนในภาคอีสานในปี 2012 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 49 เปอร์เซ็นต์
ด้านนายราหุล บาโจเรีย นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัหลักทรัพย์บาร์เคลย์ แคปิตอล ได้เปิดเผยว่า หากโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ สามารถ เดินหน้าต่อไปโดยไร้ซึ่งอุปสรรคต่าง ๆ มันก็จะไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งหมดของภาคอีสาน และหากภาคอีสานสามารถเชื่อมต่อไปถึงจีนได้แล้ว ภาคอีสานก็จะเป็นจุดเข้าประเทศไทยของนักลงทุนและธุรกิจต่าง ๆ ไม่ใช่กรุงเทพมหานครอีกต่อไป
นอกจากนี้ รอยเตอร์สยังชี้ให้เห็นปัจจัยทางการเมืองที่ทำให้เศรษฐกิจภาคอีสานเติบโตอย่างรวดเร็วว่า ส่วน หนึ่งเป็นเพราะภาคอีสานเป็นฐานของประชาชนเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาลยิ่ง ลักษณ์ และคนกลุ่มนี้ล้วนได้รับประโยชน์จากหลาย ๆ นโยบายของรัฐ โดยเฉพาะนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ได้ทำให้ประชาชนภาคอีสานมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถทำงานในถิ่นที่อยู่ของตัวเองได้ โดยได้รับค่าแรงเทียบเท่ากับทำงานในกรุงเทพฯ
จากข้อมูลของธนาคารโลก สัดส่วนคนจนในประเทศไทยในปี 2011 ลดลงมาเหลือเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนทั้งประเทศ จากปี 1990 ที่สถิติคนจนในประเทศไทยมีสูงถึง 58 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนทั้งหมด แต่จีดีพีต่อหัวในปี 2011 ยังคงอยู่ในระดับไม่ถึง 1 ใน 8 ของตัวเลขนี้ในกรุงเทพฯ ซึ่งเท่ากับ 1,600 ดอลลาร์ (ราว 49,600 บาท) ต่อปี
ด้านนายอุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทแสนสิริ ได้กล่าวว่า เมื่อเราเปลี่ยนนักการเมือง เราก็เปลี่ยนนโยบาย ถ้ายิ่งเปลี่ยนนโยบาย ก็ยิ่งสร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจ ตอนนี้แสนสิริกำลังดำเนินโครงการสร้างคอนโดมิเนียม 2 แห่งในจังหวัดขอนแก่น และวางแผนที่จะขยายแห่งที่ 3 ในปี 2014
นอกจากนี้ เหตุการณ์น้ำท่วมที่สร้างความเสียหายในพื้นที่กรุงเทพและพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อปี 2011 ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญนอกเหนือจากปัจจัยด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้บริษัทหลายแห่งย้ายฐานการผลิตไปยังภาคอีสานด้วย ดังนั้น หากนโยบาย 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลสามารถดำเนินไปตามแผน รวมถึงการขยายตัวเมือง นำความเจริญเข้าสู่ภาคอีสาน ก็จะสนับสนุนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต
ขณะที่นายแพทริก ชาง หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์อาเซียน จากบีเอ็นพี พาริบาส อินเวสต์เมนท์ พาร์ทเนอร์ ได้เปิดเผยว่า ถ้าหากลองมองดูบริษัทธุรกิจทั้งหลาย ตอนนี้พวกเขาไม่ได้พูดถึงกรุงเทพฯ อีกต่อไปแล้ว พวกเขาให้ความสนใจในต่างจังหวัดของประเทศไทย
ที่มา : postjung