นักวิทยาศาสตร์จากสำนักวิจัย Biological Cybernetics สถาบันวิจัยแม็กซ์แพลงค์ ในเยอรมนี ใช้กล้องขนาดเล็กความเร็วสูงติดตามพฤติกรรมของหนูจนค้นพบว่า หนูจะเคลื่อนไหวดวงตาในทิศทางที่ตรงข้ามกัน ทั้งในแกนนอนและแกนตั้ง
การเคลื่อนไหวของตาในทิศทางที่แตกต่างกันนี้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวของหนู และจากการวิเคราะห์ตาทั้งสองข้างก็พบว่า หนูรับรู้ข้อมูลทางภาพไม่เหมือนกับมนุษย์ และเป็นวิธีที่ทำให้หนูสามารถจ้องภาพที่อยู่เหนือตัวมันนานๆได้ น่าจะเป็นการวิวัฒนาการมาจากการปรับตัวเพื่อให้รอดพ้นจากการล่าเหยื่อของนก
หนูมีดวงตาสองข้างอยู่คนละฝั่งของศีรษะเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ พวกมันจึงมีมุมมองภาพที่กว้างซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการมองเห็นผู้ล่า แต่อย่างไรก็ตาม การจะเห็นภาพสามมิตินั้นจำเป็นจะต้องมีการช่วยเหลือกันระหว่างตาทั้งสองข้าง ดังนั้น ระบบการมองเห็นของสัตว์จำพวกนี้จึงต้องเจอกับความต้องการสองอย่างที่ขัดแย้งกัน คือ การตรวจตราด้วยสายตาอย่างคร่าวๆ กับ การมองอย่างละเอียด
งานวิจัยของสถาบันวิจัยแม็กซ์แพลงค์นี้จึงเป็นครั้งแรกที่สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของหนูได้อย่างละเอียด โดยในงานวิจัยนั้น นักวิจัยได้ใช้กล้องขนาดเล็กที่หนักเพียงประมาณหนึ่งกรัมติดไปที่ศีรษะของหนู จากนั้นก็บันทึกการเคลื่อนไหวของตาอย่างแม่นยำและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังทำการวัดตำแหน่งและทิศทางของศีรษะ จนได้ข้อมูลพฤติกรรมของหนูมาแบบละเอียด
นับว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบที่น่าแปลกใจโดยสิ้นเชิง เพราะแม้ว่าหนูจะประมวลข้อมูลจากดวงตาคล้ายๆกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ แต่การเคลื่อนไหวดวงตาของพวกมันช่างแตกต่างกับสัตว์อื่นไปโดยสิ้นเชิง
"มนุษย์จะเคลื่อนไหวดวงตาให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของศีรษะและพยายามมองรอบๆ ไปพร้อมๆ กัน การเคลื่อนไหวของเราทำให้เราสามารถติดตามวัตถุๆหนึ่งได้เสมอ แต่ในหนูนั้น ดวงตาของพวกมันจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน" เจสัน เคอรร์ นักวิจัย อธิบาย
จากการทดลองพฤติกรรมหลายๆอย่าง นักประสาทวิทยาสามารถค้นพบได้ว่า การเคลื่อนไหวของตาจะสอดคล้องกับตำแหน่งของศีรษะ
"เมื่อก้มศีรษะ ดวงตาก็จะก้มต่ำลง แต่ในหนูนั้น เมื่อหนูเงยหน้า ดวงตาของพวกมันจะยังมองไปที่ข้างหน้าเพื่อจับตาดูสถานการณ์เบื้องหน้า และถ้าหนูหันหัวไปด้านใดด้านหนึ่ง ตาข้างเดียวกับที่หันก็จะเคลื่อนไหวขึ้น ขณะที่อีกด้านจะเคลื่อนไหวลง" เจสัน เคอร์ กล่าวต่อ
ในมนุษย์นั้น ทิศทางของตาจะต้องสอดคล้องกันอย่างแม่นยำ ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถระบุตำแหน่งของวัตถุได้ ความผิดพลาดของการมองแม้เพียงองศาเดียวก็อาจจะทำให้เกิดการมองเห็นเป็นสองภาพได้
แต่ในหนูนั้น การเคลื่อนไหวของตาในทิศทางที่ตรงกันข้ามกันระหว่างตาซ้ายกับตาขวานั้นหมายความว่า หนูสามารถเห็นภาพในแนวนอนได้ถึง 40 องศา และเห็นภาพในแนวตั้งได้ถึง 60 องศา ผลของการเคลื่อนไหวของตาที่แปลกๆนี้เป็นการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของนกได้ และทำให้หนูสามารถเห็นภาพกว้างตั้งแต่เบื้องบนไปจนถึงเบื้องหน้า ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เกิดขึ้นในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ และนักวิทยาศาสตร์ก็ตั้งสมมติฐานว่า น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของหนูกลุ่มนี้ต่อการถูกล่าอย่างมีนัยสำคัญ