โคเคดามะ…ศิลปะมีชีวิต

เมื่อแทบทุกๆ วัฒนธรรมในโลกต่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรีบร้อน จนทำให้แนวคิด อุดมคติ รวมถึงคุณค่าต่างๆ ทางวัฒนธรรมค่อยๆ เลื่อนหายหรือแม้แต่ถูกหลงลืม แต่ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็อาจสร้างความน่าสนใจและโอกาสใหม่ที่จะได้มองเห็นการเปลี่ยนผ่านของคุณค่า รูปแบบ และวิธีการ ที่ถูกปรับไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับศิลปะการรังสรรค์ “โคเคดามะ [Kokedama]” ที่ไม่เคยหยุดอยู่กับที่

  

คำว่า “โคเคดามะ” นั้นหมายถึงมอสส์สีเขียวที่ปกคลุมอยู่บนก้อนดิน มีประวัติความเป็นมาย้อนไปได้ถึงยุคเอโดะ (ปี 1603-1868) ซึ่งเป็นยุคที่นิยมปลูกบอนไซแบบ “เนอาไร (Nearal)” ที่เริ่มปลูกในกระถางก่อนจะนำออกมาและปล่อยให้เติบโตภายนอก ทั้งนี้ก่อนที่จะนำบอนไซและดินออกจากกระถาง ศิลปินผู้รังสรรค์จะต้องมั่นใจว่าบอนไซต้นนั้นๆ เติบโตและหยั่งรากลงดินแน่นแล้ว เพื่อว่าเมื่อนำออกมา รากที่อยู่ในดินจะยังคงรักษารูปฟอร์มของตัวเองและเติบโตได้ต่อไป


หลังความนิยมเลี้ยงเนอาไรเริ่มอิ่มตัว ก็ได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงบอนไซมากขึ้น โดยมีการนำต้นมอสส์มาปลูกยึดเกาะรอบๆ ก้อนดินที่ใช้ปลูก กระทั่งมีการนำเอามอสส์มาพันจนรอบก้อนดินและบัญญัติศัพท์ไว้ใช้เรียกเนอาไรที่มีมอสส์สีเขียวปกคลุมทั่วแล้วว่า “โคเคดามะ” ลักษณะเด่นของโคเคดามะอยู่ที่การเตรียมดินให้เป็นก้อนกลมคล้ายลูกบอล ด้วยการผสมดินพีทร้อยละ 70 กับดินอาคาดามะที่มีลักษณะเหมือนดินเหนียวร้อยละ 30 เพื่อให้ดินจับตัวกันได้ดี ส่วนไม้ที่ใช้ปลูกอาจเป็นไม้กลุ่มบอนไซหรือไม้ประดับประเภทอื่น และเมื่อนำต้นไม้ลงในดินเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายก็คือการนำต้นมอสส์สีเขียวที่รดน้ำจนชุ่มมาพันให้สนิท ใช้ด้ายพันทับให้แน่นอีกครั้ง รดน้ำให้ทั่ว ก่อนนำไปประดับตกแต่งได้ตามต้องการ

ปัจจุบัน โคเคดามะกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในแวดวงคนรักบอนไซทั่วโลก ทั้งในญี่ปุ่นเอง เนเธอร์แลนด์ ไปจนถึงสหรัฐฯ และอังกฤษ โดยมักได้รับการกล่าวขานในแง่ความคิดสร้างสรรค์ในการปรับเปลี่ยนบอนไซในกระถางให้เป็นประติมากรรมจากธรรมชาติที่สวยงามและน่าทึ่งผ่านกรรมวิธีและกระบวนการใหม่ๆ เช่น ผลงานของชาร์ลอตต์ แคเธอรีน (Charlotte Catherine) ที่นะศาสตร์แห่งการวางจัดวางแท่นบูชามาใช้โคเคดามะจนเป็นผลงานแปลกตาและให้ความรู้สึกที่หรูหรารวมถึงการเลือกพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจอย่างดอกไซคลาเมน กล้วยไม้ และดอกหน้าวัวมาผสมผสานกับศิลปะการปลูกโคเคดามะได้อย่างลงตัวจนกลายเป็นกระแสความนิยมในการนำบอนไซออกจากกระถางเพื่อรังสรรค์ความงามจากธรรมชาติในรูปแบบที่แตกต่าง แต่ยังคงรักษาคุณค่าในฐานะศูนย์กลางแห่งความสงบและพลังจากธรรมชาติไว้ อันเปรียบเสมือนการรังสรรค์ศิลปะที่มีชีวิตอย่างแท้จริง

ที่มา: http://vcharkarn.com/varticle/56323
Credit: http://board.postjung.com/684395.html
14 มิ.ย. 56 เวลา 00:28 1,013 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...