ผลงานภาพพิมพ์ชุดในหลวง คว้าแกรนด์ไพรส์ ที่แคนาดา

       ART EYE VIEW---เป็นศิลปินไทยอีกคนที่ไปสร้างชื่อในเวทีประกวดศิลปะระดับนานาชาติ สำหรับ ไกรศักดิ์ จิรชัยสกุล 
       
       เจ้าของรางวัล GRAND PRICE จาก THE 8th BIENNALE INTERNATIONALE D'ESTAMPE CONTEMPORAINE DE TROIS-RIVIERES (BIECTR)เวทีประกวดงานศิลปะประเภทภาพพิมพ์ ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปี ณ เมืองทรัวริวิแยร์ ควิเบค ประเทศแคนาดา 
       
       โดยเรื่องราวที่นำเสนอผ่านภาพพิมพ์เทคนิค Mezzotint ทั้ง 7 ภาพ ที่ได้รับรางวัลในครั้งล่าสุดนี้ เป็นภาพของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ 
       
       เป็นกำลังใจให้กับไกรศักดิ์ไม่น้อย เพราะเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดที่เคยได้รับ นับตั้งแต่ห่างหายไปจากการทำงานศิลปะเกือบ 30 ปี และเพิ่งกลับมาทำอีกครั้งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
         >>>อดีตเด็กภาพพิมพ์ 6 ปี เรียนไม่จบ
       
       ในวันที่ไปพบเขา ณ บ้านในซอยร่วมฤดี 2 ซึ่งเป็นสถานที่สร้างงานศิลปะของเขาและลูกชายอีกสองคน ที่เลือกเรียนในสาขาเดียวกับพ่อทั้งคู่ (สาขาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร)
       
       ไกรศักดิ์บอกเล่าความหลังของตัวเองว่า ด้วยความเกเรทำให้เขาต้องเข้าเรียนปี 1 ซ้ำอยู่สอง 2 ปี โดยในปีแรกเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของศิลปินดังอย่าง ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี,จิตต์สิงห์ สมบุญฯลฯและปีที่ 2 เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ,บุญกว้าง นนท์เจริญ และพัฒนะ เหลืองจรัสสุริยา (ศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนภาพล้อที่เพิ่งเสียชีวิต )
       
       มีโอกาสเรียนรู้วิธีการทำงานศิลปะภาพพิมพ์ เทคนิค Mezzotintจากรุ่นพี่ (อ.กมล ศรีวิชัยนันท์) เพราะเวลานั้นเทคนิคนี้ยังไม่การสอนในประเทศไทย
       
       (เทคนิค Mezzotint เป็นวิธีการทำภาพพิมพ์โลหะร่องลึก (intaglio) อย่างหนึ่ง ซึ่งผิวหน้าของเพลทจะถูกสลักให้หยาบเหมือนกันทั่วเพลต ด้วยเครื่องมือโยกที่มีปลายเป็นรอยฟันเล็กๆ ที่เรียกว่า rocker วิธีนี้สร้างน้ำหนักบนเพลตที่ขัดมัน เราไล่น้ำหนักจากเข้มไปอ่อนด้วยการขูดออกและขัดเงา เทคนิค mezzotint ถูกคิดค้นขึ้นโดยนายทหารชาวเยอรมัน ชื่อ Ludwig von Siegen ในปีค.ศ.1642)
       
       กระทั่งเรียนใกล้จะจบปี 5 ไม่ทันได้รับปริญญา เขาลาออกไปทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทโฆษณา พร้อมกับขายแท่นพิมพ์ที่ซื้อมาด้วยเงินรางวัลที่ได้รับจากการประกวดศิลปะเวทีกสิกรไทยให้กับศิลปินรายอื่นไป 
       
       “ตอนนั้นเคยแสดงเดี่ยวมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่คิดว่าจะทำมาหากินด้วยการทำภาพพิมพ์ได้ จึงหันหลังไปเลย และแท่นพิมพ์ก็ขายทิ้งด้วยนะครับ อาจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง เป็นคนซื้อไป”
         
         >>>ธุรกิจตุ๊กตาโมเดลถูกเผา กลับมาเป็นศิลปินอีกครั้ง
       
       ไกรศักดิ์กล่าวว่าหลังจากที่ทิ้งไปนาน การกลับมาหันหน้าให้กับศิลปะอีกครั้ง อาจจะเรียกว่าเป็นอุบัติเหตุก็ได้ 
       เพราะเมื่อสองปีที่แล้ว “โมชิ” ร้านขายตุ๊กตาโมเดล บนห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเขาเป็นเจ้าของ ได้มอดไหม้ไปพร้อมกับเหตุการณ์ทางการเมือง ของกลุ่ม นปช.
       
       “พอเขาเผาเราก็ทำธุรกิจต่อไม่ได้ ไม่รู้จะทำอะไร รู้สึกว่าเคว้งคว้าง ก็เลยเลือกกลับมาทำศิลปะ”
       
       ช่วงแรกไกรศักดิ์มันได้กลับมาทำงานภาพพิมพ์ที่เคยทำมาทันที เพราะทิ้งร้างไปนาน ความรู้ที่เคยมีก็เลยพลอยหายไปด้วย 
       
       “ไปซื้อสีน้ำซื้ออะไรมา ยังไม่ซื้อแท่นพิมพ์ เพราะเรายังไม่รู้เลยว่าเราจะทำอะไรกันแน่ ในที่สุดมันไม่ได้ดังใจเลย เหมือนเราเขียนไม่เป็น ที่สุดก็เลยสั่งแท่นพิมพ์มา”
       
       โดยมีลูกชายสองคน เป็นข้ออ้างในการสนับสนุน ความคิดที่ว่าเขาเลือกถูกแล้วที่กลับมาทำสิ่งที่เคยชอบ เคยถนัด โดยเฉพาะ ปลาวาฬ หรือ วาฬ จิรชัยสกุล ลูกชายคนโต ที่ขณะนั้นเรียนปี 2 แล้ว นั่นเอง 
       
       “ผมทำงานภาพพิมพ์ครั้งแรก ตอนปี 2 เอามาให้พ่อดู ว่าสวยไหม พ่อเขาก็เลยนึกถึงสมัยเรียน และคิดว่าควรต้องไปสั่งซื้อแท่นพิมพ์มา พ่อบอกว่า ถ้าพ่อทำแล้วไม่ได้อะไร อย่างน้อยผมกับน้องก็จะได้เรียนรู้ มีที่ทำงานไปด้วย เขาก็เลยไปสั่งมา แล้วก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง”
         >>>นับหนึ่งใหม่ด้วย “ภาพในหลวง”
       
       เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาภาพพิมพ์เทคนิค Mezzotint ของไกรศักดิ์ เรื่องราวส่วนใหญ่ที่นำเสนอผ่านภาพ คือภาพคน และเมื่อเริ่มนับหนึ่งอีกครั้งเขาจึงเริ่มต้นด้วยภาพคนอีกเช่นเคย แตกต่างที่ เป็นคนที่เขาและคนจำนวนมากต่างรักและศรัทธาร่วมกัน
       
       “ไปเจอภาพถ่ายในหลวงภาพหนึ่งถูกใจมาก หลังจากนั้นก็ทำภาพในหลวงมาตลอด ทำมาเกือบสองปีแล้ว” 
       
       ภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบางภาพซึ่งมีรวมอยู่ในภาพชุดที่ได้รับรางวัลด้วย เป็นภาพตอนเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2549 ไกรศักดิ์เล่าถึงที่มาของการคิดอยากเขียนว่า
       
       “วันนั้นเป็นวันเดียวกับวันที่พ่อผมเสีย ผมไม่ได้ดูทีวีหรอกวันนั้น แต่วันหลัง ได้ย้อนกลับมาดู คนเยอะมากเลย ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เรา ยอมรับครับว่า การแสดงออกของเรา มันเหมือนเป็นการเมืองหน่อยๆเพราะเราไม่ชอบเสื้อแดง และอยากทำภาพที่มีคนเยอะๆในภาพ ที่มาด้วยใจ ไม่ได้โดนจ้างมา 
       
       อย่างไรก็ตามเรา ผมศรัทธาพระองค์ท่านอยู่แล้วครับ ไม่ใช่แบบว่าเราแอนตี้หรือเราต่อต้านคนบางกลุ่มเราถึงค่อยทำ 
       
       ตอนเรียนผมเคยได้รับรางวัลจากภาพในหลวงสองครั้ง มีความรู้สึกว่าพระองค์ท่านทรงอยู่ในใจเรามานานมาก ความรู้สึกที่เรามีต่อพระองค์ท่านก็คงไม่ต่างจากคนอื่นๆที่รู้สึกว่า ทรงทำทุกอย่างเพื่อประชาชน เด็กสมัยนี้อาจจะได้สัมผัสในช่วงที่ท่านทรงประชวร ไม่ทันได้เห็นพระราชกรณียกิจอื่นๆ อีกมากมาย แต่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ” 
         
         >>>ภาพในหลวง สไตล์ไกรศักดิ์ 
       
       “ผมก็เหมือนกับคนอื่นๆ ครับ ที่มักจะเลือกนำเสนอภาพที่ตัวเองเคยชอบเวลาเห็นผ่านภาพถ่ายก่อน ภาพในหลวงที่ตรงใจผม มักจะเป็นภาพที่ทรงอยู่ท่ามกลางประชาชนเยอะๆ
       
       เมื่อผมนำเสนอผ่านภาพ ก็จะไม่ใช่ภาพที่ปล่อยให้มีสเปซมากๆ แบบที่มีพระพักตร์โผล่มานิดนึง 
       
       ศิลปินบางคนที่ทำภาพพิมพ์เทคนิคเดียวกับผม มักจะปล่อยให้ภาพมีสเปซ มีน้ำหนักดำๆ เข้มๆ ทั้งภาพ หรือมีการจัดองค์ประกอบวางพระพักตร์ไว้มุมนั้นมุมนี้ แต่ของผมก็จัดองค์ประกอบเหมือนกัน แต่จะมีรายละเอียดเยอะ แทบทุกส่วนของภาพ บน ล่าง ซ้าย ขวา แม้กระทั่งทำภาพเล็กๆ ก็ยังมีคนในภาพเยอะๆนะ”
       
       ไกรศักดิ์ยังมีผลงานที่เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เก็บไว้เป็นจำนวนมาก และวางแผนว่าจะจัดแสดงเดี่ยว ในช่วงปลายปีนี้
       
       นอกจากนี้ยังมองการณ์ไกลด้วยว่าจะพยายามส่งภาพเข้าประกวดในเวทีต่างๆ ทั่วโลกให้มากที่สุด แม้ภาพจะไม่ชนะใจกรรมการ หรือได้รับรางวัลใดๆ แต่อย่างน้อยขอเพียงให้ภาพได้มีโอกาสร่วมแสดงไปตามสถานที่ต่างๆ 
       
       “เราก็ไม่ได้บอกหรอกครับว่าภาพเราดีหรือไม่ดี แต่เราอยากทดสอบสายตาคณะกรรมการดู เพราะบางที่ที่เราส่งไปประกวด เขาก็แอนตี้ไปเลย เพราะเขาตั้งข้อสงสัยว่า ยูจะใช้เวทีของไอเพื่อการเมืองหรือเปล่า บางครั้งก็เลยถูกคัดออกให้ตกรอบไปเลย หรือบางที่ก็ตั้งคำถามว่า เฮ้ย..ยังมีคนทำงานแบบนี้อยู่อีกเหรอ เก่ามากเชยมาก งาน Veryเชย 
       
       รู้อย่างนี้ผมก็เลยมีแผนจะส่งภาพในหลวงไปประกวดหลายๆประเทศ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยๆ เพื่อให้ภาพในหลวงได้มีโอกาสไปปรากฏตามหอศิลป์ทั่วโลก
       
       และถ้าเกิดมีสูจิบัตร หรือมีภาพถ่ายส่งกลับมา เราก็สามารถจะนำเอาทั้งหมดมานำเสนอไว้ในนิทรรศการเดียว เพื่อบอกกับผู้ชมว่า ครั้งหนึ่งนะ ภาพในหลวงเคยแสดงที่แคนนาดา หรือครั้งหนึ่งนะ ภาพในหลวงเคยแสดงที่เวียดนามฯลฯ หลายๆที่ต่อกันไปเป็นจิ๊กซอร์ จนกลายเป็นคล้ายๆงานคอนเซ็ปต์ชวลอาร์ตนั่นเอง”
         >>>ผมเขียนหน้าคนที่ผมไม่ชอบไม่ได้
       
       ผลงานศิลปะใดๆ ก็ตามที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ย่อมซื้อง่ายขายคล่องอยู่แล้ว เพราะทรงเป็นผู้ที่คนจำนวนมากต่างเคารพรักและศรัทธา บางคนอาจตั้งข้อสังเกตเช่นนี้ 
       
       แล้วเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไกรศักดิ์เลือกที่จะเขียนภาพพระะองค์ท่านด้วยหรือไม่ เจ้าตัวตอบว่า
       
       “ผมจะตอบแบบนี้ ในระหว่างที่ผมทำ ผมได้บำบัดตัวเองนะ ตอบโต้ และอยู่กับความดี ผมเขียนหน้าคนที่ผมไม่ชอบไม่ได้ อย่างเช่นนักการเมืองบางคน 
       
       หรือบางคนบอกว่าไม่เบื่อเหรอใครๆ ก็เขียนกันทั่วประเทศ แต่นี่เป็นในหลวงที่ผมเขียน สำคัญตรงนี้มากๆ เลย ไม่มีใครรู้สึกเหมือนตอนที่ผมเขียน ไม่มีใครรู้สึกแบบเดียวกันได้เลย คุณอาจจะรู้สึกที่ดีกว่า แย่กว่า หรือลอกรูปไป ไม่รู้สึกอะไรก็ได้ ก็แล้วแต่คุณ
       
       ผมคิดว่าผมตอบได้พอสมควร เพราะถ้าเราต้องการขายได้จริงๆ เราจะไม่เขียนภาพแบบนี้ เพราะหลายคนถ้าเสียเงินแล้วได้ภาพดำๆ แบบนี้ เขาเอาเงินไปซื้อภาพสีสวยๆดีกว่า ถูกกว่า เพราะภาพผมขายภาพนึง 4-5 หมื่น บางคนให้นิยามด้วยนะครับว่า Mezzotint ก็คือภาพพิมพ์อะไรที่มันดำๆ ได้รางวัลเพราะมันดำหรือเปล่าไม่รู้(หัวเราะ)”
       
       ไกรศักดิ์มองว่า น่าจะต้องเป็นคนที่รู้จักภาพพิมพ์เทคนิค Mezzotint ดีพอสมควร เข้าใจว่ามีขั้นตอนการทำยากง่ายเพียงใด งานมีความงามอย่างไร จึงคิดอยากซื้อผลงานของเขาไปครอบครอง
       
       “นึกภาพออกไหม ถ้าเราคิดแต่จะขายให้ได้ เราจะเขียนในหลวงที่เป็นภาพพอร์ทเทรตตรงๆ เป็นราชินีสวยๆ ปากแดงๆ จะต้องไปนั่งเขียนภาพคนอื่นๆ อีกหลายคนในภาพอีกทำไม ซึ่งเป็นคนที่ไม่ได้ซื้อภาพเราด้วยนะ ไม่ใช่ว่าฉันยืนอยู่ตรงนี้ในภาพด้วย ฉันจะซื้อคุณ ไม่ใช่แบบนั้นเลย 
       
       เพื่อนๆ ศิลปินเหมือนกันทำภาพในหลวงได้สวยกว่า ใหญ่กว่าด้วย แต่สุดท้าย มันก็ไม่ใช่เราทำ ใครทำก็ทำไป เราอยากทำแบบนี้ สำหรับบางคน การสร้างงานในแบบผม มันอาจจะเป็นความพยายามที่สูญเปล่า แต่ผมจะเรียกว่าเป็นความพยายามที่ไม่หวังผลมากกว่า”
       
       สรุปคือ เขาอยากนำเสนอคนที่ศรัทธาด้วยเทคนิคที่ตัวเองชอบ ผลที่ตามมาเป็นอีกเรื่อง
         >>>นักล่ารางวัล ไม่ห่วงอัตตา
       
       ตลอดสองปีที่กลับมาทำงานศิลปะ ในขณะเดียวกันไกรศักดิ์ยังพยายามส่งผลงานเข้าประกวดตามเวทีต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศนั้น ส่วนหนึ่งนั้นเพราะเขาต้องการอาศัยเวทีประกวด เปิดตัวกับผู้ชมงานศิลปะด้วย
       
       “ไล่ส่งไปทั่ว เพราะผมหายไปเกือบ 30 ปี เราเข้าใจว่าคนชอบ brandname กัน เราก็พยายามทำ brand ทำ name ด้วยการที่ส่งประกวด เหมือนกับเป็นการโปรโมทตัวเอง แต่มันก็ยุ่งยากกว่าการนำงานไปลง facebook ให้คนชมหน่อย
       
       และในเมื่อเราส่งเมืองไทยแล้วส่วนใหญ่โดนคัดออก เราก็เลยพยายามส่งเมืองนอก เราไม่ได้ปฏิเสธว่าเมืองไทยดีหรือไม่ดีนะครับ
       
       และรูปแบบของงาน ดูเป็นงานที่โอด์ลแฟชั่นมากสำหรับผู้ชมชาวไทย แต่สำหรับฝรั่งอาจจะโดนใจก็ได้ อย่างฝรั่งที่ชอบผู้หญิงไทย แต่ผู้ชายไทยมองไม่รู้ว่าสวยตรงไหน แต่ฝรั่งชอบ หรือเพลงบางเพลงที่เราฟังจนเบื่อหน่ายแล้ว พอให้คนเมืองนอกฟังเขาอาจจะเต้นแร้งเต้นกาก็ได้”
       
       อีกทั้งยังทิ้งอัตตา ไม่กลัวเสียหน้า ด้วยการร่วมประชันขันขันแข่งกับรุ่นลูก เพราะอยากรู่ว่างานของตัวเองอยู่ในระดับไหน
       
       “ตอนแรกผมก็ท้อนะ ไม่อยากแข่ง เปิดเวทีให้เด็กๆเขาส่งๆไป เพื่อนฝูงก็บอกเขาเลิกแข่งกันแล้ว
       
       แต่สำหรับผมคิดว่า คุณไม่อยากรู้หรือว่าคุณอยู่ในระดับไหน งานที่คุณก้มหน้าก้มตาทำ ไม่เห็นจะมีอะไรเสียหายเลย งานผมโดนเด้งกลับมา ตกรอบแรก ก็บ่อย ส่วนใหญ่ร่วมแสดงไม่ได้รับรางวัล แต่ผมก็ยังอยากรู้เสมอ” 
       
       ที่แน่ๆ การกลับมามุ่งมั่นทำงานศิลปะอีกครั้งของไกรศักดิ์ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกชายไปโดยไม่ตัว 
       
       “จริงๆเป็นปีๆเลยครับที่พ่อเขาทำไปเรื่อยๆแล้วไม่ได้อะไร ช่วงเดียวกับที่ผมทำมาสองปีแล้ว พอผมได้รางวัลจากการประกวดที่ญี่ปุ่น พ่อก็พูดว่า เฮ้ย... น่าเจ็บใจ แต่ความจริงพ่อก็ยินดีกับผมนะ 
       
       ผมมีความรู้สึกว่างานพ่อดี แต่สำหรับรสนิยมของคนตัดสิน ของการให้รางวัล งานของพ่อมันอาจจะยังไม่เข้าพวก ผมก็จะบอกพ่อว่า
       
       ป๊าเป็นผู้ใหญ่แล้ว งานป๊ามันมีความขึงขังนะ แต่ว่าผู้ตัดสินเขาอาจจะอยากเห็นอะไรที่เป็นความคิดใหม่ ผมก็เลยบอกว่า ป๊าเดี๋ยวเราไปหาที่แสดงงานดีกว่า เราลองเป็นศิลปิน โดยที่ไม่ต้องส่งประกวดกันไหม เพื่อนป๊าก็ดังๆตั้งหลายคน 
       
       พ่อก็เชื่อผม แต่ก็ยังส่งประกวดอยู่ ถ้าลูกแนะนำอะไรมา เขาจะไม่ตัดอะไรออก แค่จะเพิ่มเข้าไป และยังส่งประกวดอยู่ดี บางครั้งส่งแล้วไม่เข้ารอบ ได้แค่ร่วมแสดงไม่ได้รางวัล สักพักหนึ่งจึงมาได้บางรางวัลที่เวียดนาม และศิลปกรรมช้างเผือกของไทย
       
       แต่พอมาได้ที่หนึ่งที่แคนนาดาก็ช็อคเลย เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า งานทุกอย่างของทุกคนผมคิดว่ามันดีหมด เพียงแต่ว่ามันอยู่ที่รสนิยมของคนตัดสิน
       
       การทำงานของพ่อ จะว่าไปแล้วเหมือนพ่อกึ่งจะแข่งกับผม แต่ขณะเดียวกันก็กึ่งกดดันผมไปด้วย คือพ่อเป็นคนที่ทำงานเยอะกว่าผม สมมุติว่าผมทำเสร็จชิ้นนึง พ่อเสร็จไปแล้วสามชิ้นแล้ว และจะคอยบอกว่า เนี่ยกูทำเยอะขนาดนี้ พวกมึงไม่ทำเหรอ ตอนแรกเราอยากจะประชดเขาด้วยซ้ำ ไม่อยากทำแล้ว เริ่มไม่ชอบ ไม่อยากเรียน เป็นช่วงที่ทะเลาะกันด้วย พอมามองอีกมุมก็รู้ว่าเขาให้อะไรเราเยอะ ก็เลยต้องทำต่อไป
       
       ถ้าถามว่าพ่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอย่างไร ผมรู้สึกว่า ไม่ว่าวันไหนผมจะล้มอย่างไร ผมก็ไม่เจ็บ ”
       
       ปลาวาฬหนุ่มที่กำลังฝึกแหวกว่ายในท้องทะเลกว้างใหญ่ที่เรียกว่า "ศิลปะ" ไปพร้อมกับพ่อ กล่าว
       
       Text : ฮักก้า  Photo : ธัชกร กิจไชยภณ
Credit: http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9560000069516
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...