กองทัพบกสหรัฐหนุนเงินวิจัย ทีมมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์พัฒนาหุ่นยนต์นก บินโฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียนได้เหมือนตัวจริง ถึงขนาดเหยี่ยวจู่โจมหวังจับกิน เล็งใช้ในงานจารกรรม
นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ได้ประดิษฐ์ 'หุ่นยนต์นกกา' หรือ 'Robo-Raven' ซึ่งดูไกลๆคล้ายนกทั่วไป ทำให้เหมาะแก่การใช้ในภารกิจเฝ้าตรวจ ลาดตระเวนหาข่าว
@ โรโบ-เรเวน บินได้คล้ายนกจริง จึงเหมาะกับงานลาดตระเวนหาข่าว
เจ้านกหุ่นยนต์ตัวนี้มีน้ำหนักเบาแค่ 9.7 กรัม วงปีกกว้าง 34.3 ซ.ม. ทำด้วยวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์, พลาสติกทนความร้อน ฟอยล์ และโฟม
ปีกแต่ละข้างสามารถกระพือได้อย่างเป็นอิสระจากกัน ช่วยให้มันบินผาดแผลงได้อย่างแคล่วคล่อง
ระหว่างการบินทดสอบ พวกนกนางนวลและอีกาพยายามบินเกาะกลุ่มเข้าใกล้เจ้าโรโบ-เรเวน ชะรอยคิดว่าเป็นพวกเดียวกัน แต่นกอินทรีกับเหยี่ยวทำท่าจะโฉบเข้าจับกิน
@ หุ่นยนต์นกกาตัวนี้ สร้างด้วยวัสดุพิเศษ ใช้เทคนิคการผลิตขั้นสูง ทำให้มีน้ำหนักเบา
ในเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยได้ใช้ตัวขับ 2 ตัวสำหรับควบคุมการทำงานของปีก กับอุปกรณ์ควบคุมบนตัวหุ่นยนต์อีก 1 ตัว จึงต้องใช้แบตเตอรีขนาดใหญ่ ทำให้มันหนักเกินกว่าจะบินได้
วิศวกรได้ลดน้ำหนักเหล่านี้ ด้วยการหันไปใช้กระบวนการผลิตชั้นสูง เช่น การพิมพ์ 3 มิติ และการตัดด้วยเลเซอร์
หุ่นยนต์นกทำงานได้เงียบเชียบกว่าเฮลิคอปเตอร์ หรือเครื่องบินใบพัด และสามารถเข้าใกล้ข้าศึกโดยไม่ถูกสงสัยได้มากกว่า
@ ปีกแต่ละข้างทำงานเป็นอิสระแยกจากกัน ช่วยให้บินฉวัดเฉวียนได้อย่างคล่องแคล่ว
กองทัพบกสหรัฐได้เล็งเห็นศักยภาพของหุ่นยนต์นกแบบนี้ จึงให้ทุนสนับสนุน เพื่อสร้างนกขนาดจิ๋วที่สามารถบินเองโดยอัตโนมัติ
ทีมวิจัยยังกำลังพัฒนาปีกเซลล์สุริยะด้วย เพื่อให้โรโบ-เรเวนสามารถลงจอดเพื่อชาร์จไฟ แล้วออกบินต่อไปได้
@ ในอนาคต หุ่นยนต์นกตัวนี้จะมีปีกเป็นโซลาร์เซลล์ สามารถประจุพลังงานได้ด้วยตัวมันเอง
โครงการนี้สานต่อจากผลงานของดร.เอสเค คุปตะ อาจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ซึ่งได้เริ่มคิดค้นหุ่นยนต์นกที่กระพือปีกได้เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน
คุปตะบอกว่า หุ่นยนต์นกจะเป็นประโยชน์ทั้งในงานด้านการเกษตร การติดตามสภาวะแวดล้อม และการเฝ้าตรวจ.