จากอดีตที่โลงศพใช้ไม้ เพราะหาง่าย และมีมาก แต่ปัจจุบันป่าไม้เริ่มเหลือน้อยลง ประกอบกับกระแสการรณรงค์เรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ขึ้นสู่อากาศ เพราะเป็นตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จึงทำให้ผู้คนในหลายประเทศหันมาใส่ใจเรื่องนี้ และคิดหาวิธีนำวัสดุอื่นๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาใช้แทนโลงศพไม้แบบเดิมๆ
“กระดาษ” จึงเป็นตัวเลือกต้นๆ ที่มีการหยิบมาใช้เป็นทางเลือกใหม่
“โรเจอร์ ชอร์ต” ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาการสืบพันธุ์ แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย บอกว่า การเผาศพผู้ชายออสเตรเลียคนหนึ่ง ซึ่งศพจะต้องถูกเผาในความร้อนระดับ 850 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 90 นาที จะผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากกว่า 50 กิโลกรัม โดยยังไม่รวมต้นทุนคาร์บอนที่มีอยู่ในเชื้อเพลิง หรือต้นทุนไอเสียที่จะถูกปล่อยออกมาระหว่างการผลิตและการเผาโลงที่ทำด้วยไม้
ดังนั้น จึงควรหันไปใช้วิธีซึ่งสามารถช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้ภายหลังการเสียชีวิต เป็นต้นว่า การบรรจุศพไว้ในกล่องกระดาษแข็ง แล้วนำไปฝังไว้ใต้ต้นไม้ ด้วยวิธีนี้ ศพที่ค่อยๆเน่าสลายไปจะกลายเป็นสารอาหารของต้นไม้ โดยที่ต้นไม้ก็ทำหน้าที่เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ให้กลายเป็นก๊าซออกซิเจน
ไลฟ์อาร์ต บริษัทในออสเตรเลีย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 และมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ “โลงกระดาษ” ที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล สำหรับผู้ที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม กระทั่งปัจจุบัน บริษัทแห่งนี้ขึ้นชื่อว่า เป็นผู้ผลิตโลงศพที่ได้มาตรฐานและและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นรายแรกของโลก
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์อาร์ต “นาตาลี เวอร์ดัน” บอกว่า โลงกระดาษของทางบริษัท ทำจากเส้นใยไม้รีไซเคิล ที่แข็งแรง แต่ย่อยสลายได้ รวมกับเทคโนโลยีการพิมพ์ใหม่ล่าสุด ที่นำมาช่วยในการออกแบบดีไซน์ โดยมีรูปแบบหลากหลายให้เลือก เช่น ภาพธรรมชาติ ป่าไม้ ดอกไม้ ฯลฯ หรือหากเจ้าภาพต้องการรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทางไลฟ์อาร์ตก็สามารถออกแบบให้ได้
“รอสลิน แคสซีดี้” ผู้อำนวยการ บริษัท กรีน เอนดิ้งส์ บริษัทรับจัดงานศพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศอังกฤษ บอกว่า โลงศพที่ทางบริษัทใช้นั้น เป็นโลงที่ทำจากกระดาษแข็ง ซึ่งหนาไม่แพ้ไม้ สามารถตกแต่งอย่างไรก็ได้ และย่อยสลายด้วยแบคทีเรียได้เองภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน
บริษัท ครีเอทีฟ คอฟฟิน ในอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ดีไซน์ความแปลกใหม่ด้วยรูปแบบทันสมัยให้กับโลงกระดาษ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมาก บอกว่า โลงศพของครีเอทีฟทำจากกระดาษแข็งอย่างดีที่ผลิตจากเยื่อกระดาษที่ผ่านการฟอกสีของกระดาษรีไซเคิล ใช้กาวที่ทำจากแป้งตามธรรมชาติ มีน้ำหนักเพียง 10 กก. ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ทางด้าน “ยูกิฮิโระ มาซูดะ” ผู้บริหาร บริษัท ไทร-วอลล์ ซึ่งผลิตโลงศพกระดาษในญี่ปุ่น และกำลังเป็นที่สนใจของชาวญี่ปุ่นที่รักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นเรื่อยๆ บอกว่า “โลงศพกระดาษเป็นการท้าทายการจัดพิธีศพแบบดั้งเดิม ที่ส่วนใหญ่ใช้โลงไม้อัด เราต้องการสร้างตัวเลือกให้กับผู้เสียชีวิตและบรรดาญาติๆ"
สำหรับกระดาษแข็งที่ใช้ทำโลงศพ เรียกว่า "ไทร-วอลล์ แพ็ก" ผลิตจากไม้ที่ตรงกับมาตรฐานรักษ์สิ่งแวดล้อม เมื่อเปรียบเทียบกับโลงศพไม้อัดแล้ว โลงศพกระดาษแข็งใช้ไม้น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง สร้างไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ตัวการสร้างมลพิษในอากาศเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น
ส่วนที่ประเทศไทย “อรุณ เหล่าการกิจกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอ แอนด์ เอช ฮันนี่คอมป์เปเปอร์ จำกัด ซึ่งเริ่มต้นด้วยธุรกิจกระดาษลูกฟูก ได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งที่เขาใหญ่ และได้เห็นสัจธรรมของการตัดไม้ทำลายป่าที่ก่อให้เกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ และรับรู้ถึงภาวะโลกร้อน ประกอบกับเจ้าอาวาสแนะให้ลองทำโลงกระดาษ
จนกระทั่งเมื่อเขาได้พบกับกระดาษรังผึ้ง ที่มีประสิทธิภาพดี สามารถรับน้ำหนักและแรงกระแทกได้ดี และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความสนับสนุนช่วยลดปัญหาดังกล่าว เขาจึงได้เริ่มผลิตโลงกระดาษขึ้น ซึ่งสามารถย่อยสลายได้เร็วกว่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โลงกระดาษรังผึ้งให้ความแข็งแรงเท่าเทียมโลงศพไม้ รับน้ำหนักได้ประมาณ 200 กก. สามารถติดไฟและเผาได้ง่ายกว่าไม้มาก ทำให้สะดวกแก่ญาติผู้เสียชีวิตหรือวัดที่ทำการเผา เพราะลดการใช้พลังงานในการเผาและไม่ทำให้เกิดเศษไม้มาปนเปื้อนกับเถ้ากระดูก
โลงกระดาษจึงนับเป็นทางเลือกใหม่ของคนรักโลก รักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างแท้จริง
นอกจากโลงกระดาษแล้ว ยังมีการนำวัสดุตามธรรมชาติอื่นๆ เช่น ผักตบชวา ไม้ไผ่ มาทำเป็นโลงศพรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีดีไซน์คลาสสิคสวยงาม อย่างเช่น บริษัท ดีวอนคราฟท์ ยูเค ในอังกฤษ ซึ่งเริ่มธุรกิจจากการทำโกศบรรจุเถ้ากระดูก มาตั้งแต่ปี 2005 ได้เริ่มทำโลงศพจากวัสดุธรรมชาติ 100% ได้แก่ หวาย เชือกกล้วย ผักตบชวา ไม้ไผ่ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ ในชื่อ “เดซี่ คอฟฟิน” เพื่อเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแต่ละโลงออกแบบในสไตล์ดั้งเดิมอย่างมีเอกลักษณ์ แต่แฝงด้วยความงามและความแข็งแกร่ง
ตัวอย่างคนดังที่ใช้บริการโลงรักษ์โลก ก็คือ เชฟชื่อดังของอังกฤษ มร.คีธ ฟลอยด์ (KEITH FLOYD) เจ้าของภัตตาคารและผู้จัดรายการอาหารทางโทรทัศน์กว่า 20 รายการ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2009 ก็ใช้โลงศพเดซี่ที่ทำจากเชือกกล้วยของบริษัทแห่งนี้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556 โดย กองบรรณาธิการ)
ที่มา http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9560000067051