จีวรของพระสงค์จะต้องเป็นสีเหลือง หรือสีกรัก เสมอไปหรือไม่ ..เพราะว่ามีชาวต่างชาติสงสัยถามว่าทำไม พระสงฆ์ถึงต้องห่มตัวสีเหลืองด้วย
ถ้าว่าไปแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล สีจีวรของพระโดยทั่วไป จะไม่ค่อยสม่ำเสมอ สาเหตุที่เป็น เช่นนี้ก็เพราะว่า ตั้งแต่สมัยพุทธกาลนั้น การย้อมสีจีวรพระท่านจะใช้พวกแก่นไม้ ยางไม้มาย้อม เมื่อใช้ยางจากผลไม้ จากแก่นไม้มาย้อม สีจึงไม่สม่ำเสมอ อย่าว่าแต่เป็นแก่นไม้ต่างประเภทกันเลย แม้แต่แก่นไม้ชนีดเดียวกัน สีก็ไม่สม่ำเสมอ
ตั้งแต่เด็ก ๆ สมัยประถม มัธยม อยู่ต่างจังหวัด หลวงพ่อเคยไปช่วยรุ่นน้า รุ่นอา เขาย้อม จีวรกัน สมัยโน้นเขาใช้แก่นขนุนมาย้อม พวกแก่นขนุนสีมันจะออกเข้ม ๆ แต่ว่าบางต้น บางพันธุ์ แม้อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันก็มีสีเข้มจัดจนกระทั่งคล้ำ ในขณะที่ขนุนบางต้น บางพันธุ์ สีจะออก เหลือง ๆ คล้าย ๆ ดอกจำปา ความสม่ำเสมอของสีจากแก่นไม้มันไม่มี
เพราะฉะนั้นตั้งแต่สมัยพุทธกาลท่านจึงใช้คำว่าย้อมฝาด คือ ย้อมแล้วเป็นการรักษาคุณภาพของผ้าด้วย คือ เมื่อย้อมแล้วทำให้ผ้านั้นไม่เปื่อยง่าย เพราะยางไม้บางประเภทมีคุณสมบัติเป็นยา คือ ทำให้เชื้อราไม่เจริญง่าย หรือบางประเภทก็ไม่ได้เป็นยา แต่ว่าสีเข้มก็เลยทำให้ดูแล้วไม่ค่อยเปื้อน ยางไม้บางประเภทเมื่อย้อมแล้วก็ทำให้ผ้าไม่เก็บความชื้น วัตถุประสงค์ในการย้อมผ้าอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นสบง จีวรของพระตั้งแต่สมัยพุทธกาล สีอาจจะแตกจะต่างกันไปบ้าง ท่านก็ไม่เอามา เป็นอารมณ์จนเกินไป
แต่อย่างไรก็ตาม สีจีวรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากอำนาจบุญบารมีที่พระองค์สั่งสมมา สีจีวรของพระองค์จึงเหมือนกับเปลวเพลิง คือ เหลือง ๆ ส้ม ๆ อาจจะอมแดงนิดหน่อย สีประเภทเหมือนเปลวเพลิงอย่างนั้น ใครเห็นก็จับตา จับใจ แต่ว่าก็ไม่ได้สดใสเหมือนสีแดง สีชมพู หรืออะไรทำนองนั้น จับตา จับใจ แต่ว่าไม่ยั่วยุกามให้กำเริบ แต่ทำให้ผู้เห็นเกิดความเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้น เพราะว่าไม่ได้อยู่ในลักษณะที่เป็นเครื่องตกแต่ง เรามองกันตรงนี้
พระอรหันต์บางรูปสีจีวรของท่านเหมือนอย่างสีของโครุ่น เราไปดูก็แล้วกันว่า โคไทยในท้องทุ่งก็มีสีออกน้ำตาลเข้ม หรือบางตัวก็ค่อนข้างน้ำตาลอ่อน
อย่างไรก็ตาม สรุปว่าสีจีวรนั้น ในผืนหนึ่งต้องมีลักษณะดังนี้
๑. อย่ากระดำกระด่าง ถ้ากระดำกระด่างคงไม่งาม
๒. เวลานุ่งห่ม สบงที่นุ่ง จีวรที่ห่ม สังฆาฏีที่พาดไหล่ ควรจะต้องเป็นสีเดียวกัน มีฉะนั้นไม่งาม แต่ถ้าเป็นสีเดียวกันและเป็นสีย้อมฝาดก็อนุโลมกันไป ตั้งแต่โบราณก็เป็นมาอย่างนี้
บัดนี้ เราไม่ค่อยได้ใช้สีประเภทที่มาจากแก่นไม้กันแล้ว เพราะถ้าบวชทีหนึ่ง ไปเอาแก่นไม้ มาทีหนึ่ง พระบวชมากเท่าไรสงสัยป่าคงหมดเร็วเท่านั้น เราจึงต้องใช้สีที่เขาสังเคราะห์ขึ้นมาแทน เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็อนุโลมกันพอสมควรว่า ให้มันใกล้กับสีของพวกยางไม้หรือแก่นไม้ที่โบราณมี อยู่ก็แล้วกัน ตามประเพณีนิยมในพื้นบ้านนั้น ๆ เช่น พระที่บวชอยู่ในประเทศศรีลังกา ถ้าเราสังเกตเห็นสีเข้ม ๆ ค่อนข้างออกแดง แต่ก็อมสีเลือดหมู ก็คงแสดงว่า ในสมัยโบราณประเทศ ศรีลังกาคงจะมีแก่นไม้สีนี้เยอะ ในปัจจุบันนี้ก็เลยถือเป็นสีนิยมของพื้นที่นั้นกันไปก็เป็นได้ พระที่มาจากประเทศพม่าท่านก็มีสีจีวรของท่านที่ไม่ค่อยเหมือนกับพระไทย แต่ก็เป็นสีที่ย้อมมาจากแก่นไม้
ในประเทศไทยเราเมื่อก่อนนี้พระธุดงค์ท่านก็ใช้พวกสีจากแก่นไม้ ก็ไม่มีใครมาถือเป็นอารมณ์กันว่าทำไมคล้ำไป ส่วนพระที่อยู่ในเมืองท่านไม่รู้จะไปหาแก่นไม้ที่ไหน ก็อาศัยสีย้อมที่มีอยู่ในท้องตลาด ดูสีที่พอสมควร คือ ไม่ใช่เหลืองอ๋อย ไม่ใช่แดงแจ๊ด หรือไม่ใช่หวานจ๋อยแบบสีชมพู แต่เป็นสีที่พอสมควร คือ ถ้าเหลืองก็ให้ออกเป็นเหลืองทอง ถ้าอยากจะออกเดินธุดงค์ก็ใช้ สีมอ ๆ ลงมา เอาเป็นว่าใช้สีที่ออกไปในลักษณะผสม ให้ใกล้เคียงกับสีของแก่นไม้ในสมัยโบราณอย่างนี้ก็พอสมควร เพราะว่าเมื่อสมัยโน้นก็ไม่ได้กำหนดสีที่ชัดเจนเอาไว้ เอาพอสมควรก็แล้วกัน