กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)...หนึ่งในโรคที่ต้องพึงระวัง
ในชีวิตประจำวันของหลายๆ คน ที่อาจทำงานเพลิน ติดประชุม ใช้เวลาในการเดินทางนานนับชั่วโมง เจอทั้งสภาพรถติด ไม่สามารถที่จะปัสสาวะได้ เลยต้องกลั้นปัสสาวะด้วยความจำเป็น แถมบางคนไม่ค่อยชอบดื่มน้ำระหว่างทำงาน เพราะขี้เกียจที่จะลุกไปเข้าห้องน้ำ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคในระบบทางเดินปัสสาวะได้..
กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ คือที่กรวยไต ซึ่งเป็นท่อที่รวบรวมน้ำและของเสียที่ไตกรองออกมา ส่งต่อให้กับท่อไต เพื่อส่งไปยังกระเพาะปัสสาวะ การอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ มักเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานในผู้ป่วยอัมพาต หรือมีก้อนในช่องท้อง เป็นต้น
โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 4 เท่า โดย พบในเด็กผู้หญิงหรือหญิงตั้งครรภ์, ผู้ที่เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ, ต่อมลูกหมากโต, เนื้องอก หรือมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะ, กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือผู้ป่วยที่เคยสวนปัสสาวะมาก่อน (เช่น ผู้ป่วยหนักที่นอนพักรักษาอยู่ใน รพ.) ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหรือกินสเตอร์รอยด์นานๆ ก็อาจมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ง่ายขึ้น
เชื้อที่พบบ่อย เป็นเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแกรมลบ ได้แก่ อีโคไล (E.coli), เคลบซิลลา (Klebsiella), สูโดโมแนส (Pseudomonas) นอกจากนี้ในบางรายเชื้อโรคอาจแพร่กระจายจากส่วนอื่นๆ ของร่างกายโดยทางกระแสเลือดก็ได้
อาการและอาการแสดง
1. ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ร่วมกับอาการหนาวสั่นอย่างมาก จะจับไข้ไม่เป็นเวลาและมีอาการหนาวสั่นได้วันละหลายครั้ง
2. ปวดบริเวณสีข้าง หรือเอว ด้านใดด้านหนึ่ง บางคนอาจมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อย (หัวหน่าว) ร่วมด้วย
3. ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อย แสบหรือขัด และมีปัสสาวะขุ่น
4. ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลียร่วมด้วย
หากมีอาการและอาการแสดงดังกล่าว ควรไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง
การวินิจฉัย
การเพาะเชื้อจากปัสสาวะ จะพบเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ นอกจากนี้ อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด หรือตรวจพิเศษอื่นๆ เพื่อค้นหาความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสริมให้มีการติดเชื้อ
โรคแทรกซ้อน
กรวยไตอักเสบถ้าไม่ได้รับการรักษา เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด กลายเป็นภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ ในบางรายอาจกลายเป็นโรคกรวยไตอักเสบเรื้อรัง มีการอักเสบโดยไม่ปรากฏอาการ ซึ่งหากปล่อยไว้นานปี ในที่สุดอาจกลายเป็นไตวาย หรือพิการได้
การรักษา
1. ควรให้ยาลดไข้แก้ปวด และยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ตรวจพบ ให้ยาครบตามขนาดที่แพทย์แนะนำ และถ้าพบความผิดปกติอื่นๆ ก็อาจให้การแก้ไขร่วมไปด้วย
2. หากให้การรักษา 2-3 วันแล้วยังไม่ดีขึ้น มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ช็อก ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะออกน้อย ซีด เหลือง หรือสงสัยโลหิตเป็นพิษ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล
3. ผู้ป่วยเมื่อรักษาจนอาการหายดีแล้ว ควรไปพบแพทย์เป็นระยะๆ อาจทุก 3-4 เดือน เพื่อตรวจปัสสาวะให้แน่ใจว่าไม่มีการอักเสบเรื้อรัง
ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยที่กรวยไตอักเสบ มักมีไข้สูง หนาวสั่น คล้ายไข้มาลาเรีย แต่จะมีอาการปวด เคาะเจ็บที่สีข้าง และมีปัสสาวะขุ่น ดังนั้น เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรนึกถึงโรคกรวยไตอักเสบนี้ไว้เสมอ
2. ผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้ออื่นๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ ควรจะรักษาโรค ให้หายขาด มิฉะนั้นอาจเกิดกรวยไตอักเสบแทรกซ้อนได้
3. หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาที่ถูกต้องต่อไป
การป้องกัน
1. ดื่มน้ำมากๆ วันละ 3-4 ลิตร (เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 แก้ว) ซึ่งน้ำจะช่วยขับเชื้อโรคออกจากกระเพาะปัสสาวะ
2. อย่ากลั้นปัสสาวะ ควรฝึกถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวดจนเป็นนิสัย เวลาเดินทางไกล ต้องฝึกให้เคยชินที่จะเข้าห้องน้ำนอกบ้าน ถ้ากลัวไม่สะอาด ก็ชำระล้างโถส้วมให้สะอาดเสียก่อน
3. หลังถ่ายอุจจาระ ควรชำระทวารหนักให้สะอาด การใช้กระดาษชำระควรเช็ดจากข้างหน้าไปข้างหลังจนสะอาด เพื่อป้องกันมิให้นำเชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักปนเปื้อนเข้าท่อปัสสาวะ
4. เมื่อมีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ปัสสาวะแสบขัด กะปริดกะปรอย โดยไม่มีไข้) ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อลุกลามขึ้นไปที่กรวยไต
หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการไข้จะค่อยๆ ทุเลาภายใน 2-3 วัน แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะต่อจนครบ 14 วันเป็นอย่างน้อย จึงจะกำจัดเชื้อให้หมดไปได้ ใครที่เคยคิดว่าปัสสาวะบ่อยเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว ควรเปลี่ยนความคิดเสียตั้งแต่ตอนนี้ และรีบรักษาก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป