ชะตากรรมที่เลวร้ายของลูกชายสตาลิน “ตายในค่ายเชลยศึก”

 

 

 

 

 

 

โซเวียตมีผู้นำจอมโหดอยู่คนหนึ่ง โลกรู้จักเขาดี เขาคนนั้นก็คือสตาลิน ผู้นำหนวดเฟิ้มจากจอร์เจีย แต่ใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ สตาลินคนนี้นี่เองที่เป็นคนที่ทำให้โซเวียตพลิกกลับมาเอาชนะเยอรมันได้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

ในสงครามครั้งนั้น โซเวียตเสียทหารและพลเรือนไปมากกว่า 20 ล้านคน และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือลูกชายแท้ๆของสตาลินเอง

ลูกชายของสตาลินมีชื่อว่า ยาคอฟ โยซิโฟวิช จูกัชวิลลี่ เกิดเมื่อ 18 มีนาคม 1907หรือก่อนการปฏิวัติของเลนิน 10 ปี 

 

 

สตาลินยังมีลูกอีก 2 คน ชื่อสเวียตลาน่า ส่วนอีกคนก็คือวาสิลี่

ยาคอฟ ถือได้ว่าเป็นพี่ชายคนโต เขาเป็นลูกที่เกิดกับภรรยาคนแรกของสตาลิน ชื่อเยคาเตริน่า ที่ป่วยตายในปลายปี 1907 หรือหลังจากที่คลอดยาคอฟไม่กี่เดือน สตาลิน เคยบอกเอาไว้ว่า นอกจากแม่ของเขาแล้ว ผู้หญิงคนนี้คือผู้หญิงที่เขารักจริง  

แต่ชะตากรรมการตายของยาคอฟนั้นเป็นอะไรที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก หลังจากที่ได้รู้เรื่องราว และรู้สึกเห็นใจสตาลินอยู่ไม่น้อย เพราะถ้าอยู่ในสถานะเดียวกับสตาลิน ก็คงต้องทำเช่นเดียวกับเขา

 

 

ยาคอฟเกิดที่จอร์เจีย ซึ่งสมัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และเขาก็อยู่ที่จอร์เจียจนอายุ 14 ก่อนจะถูกส่งมาเรียนต่อที่มอสโกเพื่อเรียนต่อ และที่นี่เขาก็ต้องมาเริ่มต้นด้วยการเรียนภาษารัสเซียเพราะเขาพูดภาษาหลักของประเทศไม่ได้เลย

ยาคอฟกับสตาลิน เข้ากันไม่ได้สักเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะว่า สตาลินมัวแต่ง่วนอยู่กับการปฏิวัติ มีอยู่ครั้งหนึ่งยาคอฟพยายามยิงตัวตาย แต่ไม่ตาย เพียงแต่ได้รับบาดเจ็บ ปรากฏว่าผู้เป็นพ่อ ไม่สนใจที่จะดูแลอาการบาดเจ็บของลูก แต่กลับบ่นกับภรรยาใหม่ของเขา ซึ่งก็คือแม่เลี้ยงของยาคอฟว่า “แค่ยิงให้ถูก มันยังทำไม่ได้”

 

 

โดยอาชีพแล้ว ยาคอฟเป็นทหาร เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 มาถึงสหภาพโซเวียต ยาคอฟซึ่งเป็นทหารปืนใหญ่ และมีครอบครัวแล้ว โดยมีลูก 2 คน ได้นำทหารออกสู้รบเช่นเดียวกับทหารของโซเวียตทั้งหลาย แม้จะเป็นถึงลูกของผู้นำก็ตามที แต่ยาคอฟโชคร้าย เขาถูกข้าศึกจับเป็นเชลย 

 

 

ยาคอฟถูกจับเป็นเชลยเมื่อ 16 กรกฎาคม 1941 ในการสู้รบที่เมืองสมาเลนส์ค ซึ่งเป็นในช่วงต้นๆของสงคราม ระหว่างการบัญชาการรบของหน่วยรถถังหน่วยหนึ่ง ว่ากันว่าเขารบได้แค่อาทิตย์เดียวเท่านั้นก็ถูกจับเสียแล้ว

หลังจากนั้น เยอรมันก็ออกโฆษณาชวนเชื่อ ให้ทหารกองทัพแดงยอมแพ้แต่โดยดี เพราะแม้ลูกชายสตาลินก็ยังยอมแพ้ และได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี

แต่จริงๆแล้วมีรายงานว่ายาคอฟ ก็ไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีประการใด สภาพของเขาก็ผอมโซเหมือนเชลยศึกทั่วไป และที่สำคัญ เขาไม่ได้ให้ความร่วมมือกับฝ่ายศัตรูแต่อย่างใด จึงไม่มีการออกมาพูดทางวิทยุ เรียกร้องให้ทหารกองทัพแดงยอมจำนนแต่อย่างใด

ยาคอฟถูกเยอรมันย่ายไปโน่นมานี่อยู่เป็นระยะ เพื่อป้องกันการชิงตัว โดยระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 1942 เขาถูกส่งไปกักตัวอยู่ที่ค่ายกักกันในเมือง Hommelsburg และพอเดือนมีนาคม 1943 ก็ถูกส่งตัวมาที่ค่าย Sachsenhausen

 

 

และในช่วงต้นปี 1943 จอมพลฟริดริค เปาลุส ของเยอรมัน ก็สร้างประวัติศาสตร์ กลายเป็นนายทหารยศจอมพลคนแรกของเยอรมัน ที่ยอมจำนนต่อฝ่ายศัตรู ในการสู้รบที่เมืองสตาลินกราด ทางเยอรมันก็จึงเสนอแลกตัวยาคอฟกับเปาลุส  แต่สตาลินปฏิเสธ โดยบอกว่า “ฉันจะไม่แลกร้อยโทกับจอมพล”

นอกจากนั้นก็ยังมีข้อมูลว่าฮิตเลอร์เสนอแลกตัวยาคอฟ กับ ลีโอ เราบัลหลานของฮิตเลอร์ ที่ถูกโซเวียตจับได้ในการรบที่สตาลินกราด แต่เรื่องนี้ก็ไม่มีการตกลงกันเช่นกัน โดยสตาลินบอกว่า “สงครามต้องเป็นสงคราม”

บางคนบอกว่าที่ท่าทีของสตาลินเป็นเช่นนี้ ก็เป็นเพราะยาคอฟไม่ใช่ลูกคนโปรดของเขา แต่ในฐานะผู้นำประเทศ เรื่องแบบนี้ก็ตัดสินใจได้ยากมากอยู่เหมือนกัน

ทหารโซเวียตที่ตกเป็นเชลยศึกมากมายก็ตกอยู่ในชะตากรรมเหมือนตายทั้งเป็นหลังจากที่ได้รับอิสรภาพกลับมา เพราะสตาลินมองว่าพวกเขาเป็นคนทรยศต่อชาติ แล้วเขาจะทำอย่างไรกับยาคอฟ อดีตเชลยศึก หากว่าได้ตัวกลับมา

หลังสงคราม ทั้งเปาลุสและเราบัล ต่างก็ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน แตกต่างจากยาคอฟ ที่ไม่มีข่าวคราวยืนยันใดๆเกี่ยวกับเขาออกมาอีกเลย แต่มีการสรุปตรงกันว่า เขาตายแล้วในค่ายกักกันเยอรมัน และก็มีการนำภาพศพของเขาออกเผยแพร่ด้วย แต่ก็ไม่มีการระบุว่าเขาตายเมื่อใดและอย่างไร 

บ้างก็ว่าเขาเดินไปเหยียบรั้วไฟฟ้าของค่ายกักกัน Sachsenhausen บ้างก็ว่าเขาฆ่าตัวตาย บ้างก็ว่าเขาถูกฆ่า บ้างก็ว่าเขาตายระหว่างการรบช่วงปลายสงคราม โดยผู้ที่เชื่อในทฤษฎีสุดท้ายนี้บอกว่า ที่ผิดสังเกตก็คือ ภาพของเขาที่เยอรมันนำออกเผยแพร่นั้นมีน้อยมาก ซึ่งผิดธรรมดาของคนที่จับลูกชายของฝ่ายศัตรูได้ ที่จะต้องโหมการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนัก 

 

 

เมื่อเร็วๆนี้ รัสเซียก็เปิดเผยเอกสารชั้นความลับ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับยาคอฟ หลังจากที่ถูกจับตัวไป

เอกสารบอกว่า ยาคอฟถูกยามยิงตายเมื่อปลายปี 1943 ที่ค่ายกักกันSachsenhausen หลังไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง

นักประวัติศาสตร์ระบุว่า แม้จะถูกจับ แต่ยาคอฟ ก็เป็นคนที่ไม่เกรงใจใคร เขาทำตัวเป็นอิสระ และดูถูกฝ่ายผู้บริหารค่ายกักกันอย่างเปิดเผย

ในวันเกิดเหตุ ยาคอฟเดินไปรอบๆค่าย และยามสั่งให้เขากลับเข้าที่พัก แต่ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ เขายิ่งเดินเข้าไปใกล้รั้วมากขึ้นไปอีก รวมทั้งตะโกนให้ยามยิงเขาด้วย และยามก็ทำจริงๆ โดยยิงไปที่หัว
บางคนบอกว่าที่เขาออกอาการเพี้ยนก็เพราะเครียดกับคำพูดของสตาลิน“ฉันจะไม่แลกร้อยโทกับจอมพล”

เท่ากับปิดตำนานลูกชายคนโตของผู้นำประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง (ลูกชายที่ไม่เคยได้รับความรักจากพ่อเลย)


Credit: http://board.postjung.com/682353.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...