ชัมบาลา (Shambhala) หรือ แชงกรีลา (Shangri-La) ในภาษา ทิเบต หมายถึง ดินแดนอันบริสุทธิ์ เป็นตำนานลึกลับของโลกแห่งพุทธศาสนา ต้นกำเนิดของการสอน Kalachakra ในหนังสือประวัติศาสตร์ ทิเบต ได้มีการบันทึกเรื่องราวของ ชัมบาลา ไว้มากมาย แต่นักวิชาการทางพุทธศาสนาก็ยังตั้งข้อกังขาว่าแท้จริงแล้ว ชัมบาลา นั้นมีอยู่จริงหรือเป็นเพียงแดนสวรรค์ในนิยาย ถือเป็นความลี้ลับที่ยังไม่มีบทสรุป
มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับ อาณาจักรในฝัน ซึ่งเป็นต้นตอแห่งศิลปศาสตร์และอารยธรรมของสังคมเอเชียปัจจุบัน ตามตำนานเล่าว่า อาณาจักรแห่งนี้เป็นสถานที่แห่งสันติสุขและความรุ่งเรือง ซึ่งปกครอง โดยผู้ปกครองทรงสติปัญญาและการุณ ทั้งอาณาประชาราษฎร์ก็ล้วนรอบรู้และเมตตาปราณี ดังนั้นเองอาณาจักรนี้จึงเป็นสังคมในอุดมคติ สถานที่นี้ถูกขนานนามว่า ซัมบาลา
เล่ากันว่าพุทธศาสนาได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมซัมบาลา ตามตำนาน กล่าวว่า ศากยมุณีพุทธได้แสดงธรรมว่าด้วยตันตระขั้นสูงแก่ดาวะ สังโป ปฐมกษัตริย์แห่ง ซัมบาลา บรรดาพระธรรมเหล่านี้ได้สืบทอดกันมาเป็น "กาลจักรตันตระ" ซึ่งถือว่าเป็น ปรีชาญาณที่ลึกซึ้งที่สุดของพุทธศาสนาแบบธิเบต หลังจากองค์กษัตริย์ได้สดับพระธรรม เทศนาเหล่านี้แล้ว เล่ากันว่าบรรดาอาณาประชาราษฎร์แห่งซัมบาลาต่างพากันปฏิบัติสมาธิ ภาวนาและดำเนินชีวิตตามพุทธมรรคา ด้วยการมีเมตตาจิตและเอาใจใส่ทุกข์สุขของสัตว์ทั้ง หลาย โดยนัยนี้เอง ไม่เพียงผู้ปกครองเท่านั้น แต่บรรดาทวยราษฎร์ในอาณาจักรล้วนแล้วเป็น อริยบุคคลผู้มีใจสูงทั้งสิ้น
ในหมู่ชาวธิเบต มีความเชื่อว่าอาณาจักรซัมบาลานี้ยังดำรงอยู่ซ่อนเร้นอยู่หุบเขาอันลี้ลับใน เทือกเขาหิมาลัย ทั้งยังมีบันทึกอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนา ซึ่งบรรยายถึงสถานที่ตั้งและทิศทาง ที่จะไปสู่ซัมบาลา ทว่าข้อมูลเหล่านั้นเลอะเลือนมาก จนกระทั่งมีผู้สงสัยว่านี่จะถือเป็นจริงหรือ เป็นเพียงข้อมูลเปรียบเปรยเท่านั้น ทั้งยังมีคัมภีร์หลายฉบับซึ่งบรรยายอย่างละเอียดลออถึง อาณาจักรแห่งนี้ ยกตัวอย่างเช่นตามที่อ้างอิงอยู่ใน "มหาอรรถกถาแห่งกาลจักร" ซึ่งเขียนโดย มิฟัม คุรุ ผู้มีชื่อเสียงในสมัยศตวรรษที่สิบเก้า ดินแดนซัมบาลานี้อยู่ทางทิศเหนือของแม่น้ำสิตะ ดินแดนแห่งนี้ ถูกแบ่งออกโดยแนวเทือกเขาทั้งแปด พระราชวังของริกเดนหรือราชันผู้ปกครอง ซัมบาลานั้น สร้างอยู่บนยอดเขาทรงกลมซึ่งตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางดินแดน มิฟัมบอกต่อไปว่า ขุนเขา ลูกนี้ชื่อไกรลาส พระราชวังซึ่งมีชื่อว่ากัลปะกว้างยาวหลายร้อยเส้น เบื้องหน้าพระราชวังทางทิศ ใต้มีสวนรุกขชาติอันงดงามที่มีชื่อว่ามาลัย ตรงกึ่งกลางสวนรุกขชาตินี้มีวิหารซึ่งสร้างอุทิศถวาย แด่กาลจักรโดย ดาวะ สังโป
ตามตำนานอื่นๆ กลับกล่าวว่า อาณาจักรซัมบาลานี้ได้สาปสูญไปจากโลกหลายร้อยปีแล้ว มาถึง จุดหนึ่งเมื่อทั้งราชอาณาจักรได้บรรลุถึงการตรัสรู้ จึงได้สูญสลายไปดำรงอยู่ในมิติอื่น ตามตำนาน กล่าวว่า กษัตริย์ริกเดนแห่งซัมบาลายังคงเฝ้าดูกิจกรรมทั้งมวลของมุนษย์โลกอยู่ แล้วสักวันหนึ่ง จะลงมาช่วยมนุษย์ชาติให้รอดพ้นหายนะ ยังมีชาวธิเบตอีกไม่น้อยที่เชื่อว่าราชันนักรบผู้ยิ่งใหญ่ กษัตริย์เกซาร์ แห่งหลิง ทรงได้รับแรงบันดาลใจและได้รับการชี้นำจากกษัตริย์ริกเดน และปรีชา ญาณแห่งซัมบาลานี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่ว่าอาณาจักรซัมบาลาดำรงอยู่ในมิติอื่น เพราะ เชื่อกันว่าเกซาร์ก็ไม่เคยเดินทางไปซัมบาลา ดังนั้นสายสัมพันธ์แห่งซัมบาลาจึงเป็นเรื่องของ การเชื่อมโยงทางภาวะธรรม ราชันเกซาร์มีชีวิตอยู่ประมาณศตวรรษที่สิบเอ็ด และได้ปกครอง แว่นแค้วนหลิง ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดคัมธิเบตตะวันออก จากรัชสมัยนี้เอง จึงอุบัติเรื่องราวมากมาย เกี่ยวกับปรีชาสามารถทั้งในแง่ของการศึกษาและการปกครอง เล่าขานกันไปทั้งธิเบต กลายเป็น มหากาพย์อันยิ่งใหญ่ของวรรณกรรมธิเบต บางตำนานก็กล่าวว่าเกซาร์จะปรากฎขึ้นมาอีกครั้ง จากซัมบาลา นำทัพมาปราบมารและพลังมืดดำของโลก
เมื่อไม่นานมานี้ มีนักวิชาการตะวันตกบางคนได้สันนิษฐานว่า อาณาจักรซัมบาลาอาจจะเป็น อาณาจักรโบราณแห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งมีบันทึกอยู่เอกสารทางประวัติศาสตร์ ดังเช่น อาณาจักร ชางชุงในเอเชียกลาง อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการหลายคนที่เชื่อว่าเรื่องราวเกี่ยวกับซัมบาลา เป็นเพียงเรื่องเล่าขานที่ไม่เป็นจริง แต่ในขณะที่อาจสรุปกันง่าย ๆ ว่าอาณาจักรนี้เป็นเรื่อง โกหกทั้งเพนั้น เราก็อาจเห็นได้ชัดถึงร่องรอยของความปรารถนาของมนุษย์ อันฝังรากแน่น อยู่ในสิ่งสูงและชีวิตอันดีงาม ซึ่งแสดงออกผ่านตำนานนี้ ที่จริงแล้วในบรรดาคุรุธิเบตหลาย ท่านมีประเพณีซึ่งถือว่าอาณาจักรซัมบาลามิใช่สถานที่ซึ่งดำรงอยู่ภายนอกหากเป็นรากฐาน ของสภาวะการหยั่งรู้และการประจักษ์แจ้ง อันเป็นศักยภาพที่ดำรงอยู่ภายในตัวมนุษย์ทุกคน จากทัศนะนี้เอง จึงไม่สำคัญว่าอาณาจักรณ์ซัมบาลาเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ หากควรที่เราจะเห็น คุณค่า และดำเนินตามอุดมคติของสังคมอริยะซึ่งแสดงนัยอยู่
อีกตำนานเล่าว่า เรื่องราวของชางกรีลา สืบเนื่องมาจากความกว้างใหญ่ไพศาลแห่งขุนเขาหิมาลัย ซึ่งนอกจากจะสูงลิบลิ่วแล้ว ก็ยังมีหิมะปกคลุม จนยากที่มนุษย์จะบุกบั่นเข้าไปถึง จึงเกิดมีตำนานเล่าขานว่า ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งภายในขุนเขานี้ มีอาณาจักรสวรรค์นาม ชางกรีลา ปรากฏอยู่ และมีนครหลวงชื่อชัมบาลา (SHAMBALA) ผู้คนเมืองนี้มีจิตใจสดใสบริสุทธิ์ ปราศจากความอาฆาตคิดร้ายต่อกัน มีความเฉลียวฉลาดผิดมนุษย์ธรรมดา และที่น่าอัศจรรย์ก็คือ แม้รอบด้านจะเต็มไปด้วยหิมะอันหนาวเย็น แต่พื้นแผ่นดินของอาณาจักรนี้กลับเขียวขจีด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร
จากตำนานดังกล่าวนี้เอง ทำให้มีคนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน นักบวช นักเผชิญโชค ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์ ในซีกโลกที่เจริญวิทยาการ พากันเดินทางมาค้นหา อาณาจักรชางกรีลากันมากมาย
บุคคลหนึ่งซึ่งลงทุนลงแรง ค้นคว้าอย่างจริงจัง ได้แก่ นาย นิโคลาส โลเอริก ชาวรัสเซียในอเมริกา เขาเดินทางมายังลาซา เมืองหลวงของทิเบต และตระเวนสำรวจหาชางกรีลา ในดินแดนหลังคาโลกแห่งนี้ในช่วงปี ค.ศ. 1925-1928 เป็นระยะทางกว่า 15,000 ไมล์ แม้เขาจะมิได้ยืนยันเป็นถ้อยคำแน่นอนว่า ได้ค้นพบสวรรค์บนดินแห่งนี้ แต่เขาก็ได้เขียนภาพที่อ้างว่าเขียนขึ้นจากตาเห็น เป็นจำนวนหลายภาพ เป็นรูปทิวทัศน์และอาคารที่มีสีสันเฉิดฉายแปลกตา และมีอยู่ภาพหนึ่งที่น่าตื่นใจเป็นพิเศษ นั่นคือนิโคลาส ได้เขียนภาพมนุษย์ที่ดูราวกับผุดออกมาจากภูผา โดยนิโคลาสเรียกมนุษย์เหล่านี้ว่า "มหาตมะ" หรือผู้ทรงความรู้ มหาตมะคนหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นหัวหน้าได้ถือกล่องเงินเป็นประกาย ซึ่งอาจมีสิ่งสำคัญลํ้าค่าอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ภายใน ภาพนี้ ชื่อว่า การเผาผลาญความมืดมน (Burning of Darkness)
นิโคลาสได้ไปพบกับพลเมืองของอาณาจักรชางกรีลาจริงหรือ?
ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั่วโลกตก อยู่ในสภาพเศรษฐกิจตกตํ่า ผู้คนอดอยากจนเป็นแรงดลใจ ให้นาย เจมส์ ฮิลตัน ประพันธ์เรื่อง ขอบฟ้าไม่ปรากฏ (Lost Horizon) ออกมา กล่าวถึงนักเดินทางคณะหนึ่ง เครื่องบินตกแถวๆ ทุ่งหิมะ และได้พบกับนครลี้ลับแห่งหนึ่ง ซึ่งประชากรของนครนี้ไม่แก่ไม่เฒ่า แต่เมื่อพาประชากรคนหนึ่ง ออกมาพ้นจากนครไม่กี่วัน ร่างกายของเขา ก็ชราลงอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตไปในที่สุด
คัมภีร์พุทธของทิเบตนั้น ยืนยันเรื่องของนครชางกรีลา โดยได้อ้างว่าเป็นพุทธวัจนะ ซึ่งพระพุทธองค์เคยตรัสว่า ดินแดนชัมบาลาอยู่ในแถบมณฑล เทียนซาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลทรายโกบี!
และถ้าหากเรา มีโอกาสได้ไปเยือนมณฑลนี้ ก็จะได้เห็นภูผาหลายแห่ง ที่จะเป็นโพรง หรือเป็นถํ้ามากมาย อันเป็นที่ผู้แสวงบุญ ที่จาริกมาในถิ่นนี้ ได้ใช้อาศัยเป็นที่อยู่หลับนอน โบราณสถานที่โด่งดังที่สุด ก็คือถํ้า ซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ถึง 1,000 องค์ นอกจากนี้ก็ยังมีการ ค้นพบคัมภีร์โบราณ ที่จัดว่าเป็นเอกสารพุทธ ของทิเบตที่เก่าแก่ที่สุด เขียนขึ้นใน ค.ศ.1868 สันนิษฐานกันว่าเป็นเสมือนลายแทง ที่ชี้บอกเส้นทางเข้าสู่เมือง ชัมบาลา หากทว่าขณะนี้ ยังไม่มีผู้ใดสามารถอ่านอักษรดังกล่าวออก
พุทธศาสนานั้น แพร่มาถึงทิเบตราวศตวรรษที่ 17 และพอถึงศตวรรษที่ 20 ก็ปรากฏว่า มีวัดพุทธศาสนาในทิเบตถึง 6,000 วัด ในขณะที่วัดคริสต์ในยุโรปมีอยู่เพียง 2,000 กว่าวัด โดยพลเมืองทิเบตก็มีเพียงราว 8 ล้านคนเท่านั้นเอง จะเห็นได้ว่า พุทธศาสนาได้ขัดเกลาเปลี่ยนนิสัยดุร้าย ของชนทิเบตให้หันมารักความสงบสุข และศรัทธาในศาสนาได้อย่างไม่น่าเชื่อเพียงใด พระสงฆ์ทิเบตจะเพียรสวดมนต์ภาวนานั่งฌาน ชักลูกประคำ และหมุนวงล้อ ที่ภายในมีพระธรรมคำสอน บรรจุอยู่อย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย
เป็นไปได้ไหมว่า เป้าหมายแห่งศรัทธาแรงกล้านี้ อยู่ที่ความหวังว่าจะได้เข้าถึงซึ่งดินแดนสวรรค์บนดิน
ตำแหน่งดาไลลามะนั้นสืบทอดกันมา โดยเมื่อองค์ใดสวรรคต ทีมงานก็จะออกค้นหาองค์ใหม่ โดยสืบค้นหาเด็กที่สามารถระลึกชาติได้ว่า ในชาติก่อนนั้น ตนได้เป็นดาไลลามะ พร้อมทั้งระบุเครื่องมือเครื่องใช้ของดาไลลามะองค์เดิมได้ อย่างถูกต้องแม่นยำอย่างน่าอัศจรรย์ใจ
ดาไลลามะองค์ปัจจุบัน นับเป็นองค์ที่ 14 และเคยมีผู้พยากรณ์ ไว้ว่าตำแหน่งดาไลลามะ จะสิ้นสุดลงที่องค์ที่ 14 นี่เอง! ขณะนี้พระองค์ทรงลี้ภัยการเมือง ไปอาศัยอยู่นอกทิเบตตลอดกาล ถ้าหากพระองค์รู้ถึงหนทางเข้าสู่ชางกรีลา และหากสวรรคต ไปพร้อมกับความลับนี้ กุญแจไขเข้าสู่ดินแดนสวรรค์บนดิน ก็จะสูญสิ้นไปด้วยฉะนั้นหรือ?
พระภารกิจประการหนึ่งที่องค์ดาไลลามะที่ 14 ทรงลงมือปฏิบัติเองโดยมีผู้ช่วย 2-3 คน ก็คือสร้างผังภูมิพุทธมณฑล ซึ่งมีลักษณะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมขนาดกว้างยาวราวหนึ่งเมตร ทรงใช้ทรายสีต่างๆโรยเป็นรูปเรขา ประกอบด้วยเส้นสายและสัญลักษณ์หลายรูปแบบ
สิ่งนี้เปรียบประดุจลายแทงแผนที่เข้าสู่ดินแดนชางกรีลาใช่ไหม? “มีผู้นำคำถามนี้ไปทูลถามองค์ดาไลลามะ”
พระองค์ทรงแย้มสรวลเล็กน้อย และตรัสว่า ผู้ใดที่หมั่นเพียรชำระจิตใจให้สะอาด มีฌานและศรัทธาอันแน่วแน่ ในพระศาสนา สักวันหนึ่งเขา จะได้เข้าถึงซึ่งชางกรีลา อย่างแน่นอน..