บีโธเฟน อัจฉริยะด้านดนตรี คีตกวีหูหนวก

บีโธเฟน อัจฉริยะด้านดนตรี คีตกวีหูหนวก เพื่อนๆ หลายคนก็คงจะรู้จักกันในฐานะที่เขาเป็น อัจฉริยะด้านดนตรี สร้างสรรค์เพลงสุดคลาสสิคกึกก้อง เป็นเพลงอมตะไปทั่วโลก แต่สิ่งหนึ่งที่มหัศจรรย์คือ บีโธเฟน อัจฉริยะด้านดน...ั้น เป็นคีตกวีที่ช่วงกำลังรุ่งเรืองเขากลับหูหนวกสนิท

ชีวิตวัยเด็ก บีโธเฟน อัจฉริยะด้านดนตรี คีตกวีหูหนวก 

ลุดวิก แวน บีโธเฟน (Ludwig Van Beethoven) บุรุษผู้เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์อันอัจฉริยะในเชิงดนตรี แต่ความยิ่งใหญ่ของเขาไม่ได้หยุดอยู่แค่สามารถในการรังสรรค์ตัวโน๊ตบนบรรทัดห้าเส้น เรียงร้อยถักทอ จนเสียงที่เล่นออกมาบรรเจิดล้ำโลกเพียงเท่านั้น แต่คีตกวีรายนี้มีความยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่งอยู่ที่ความไม่ย่อท้อต่อเคราะห์กรรมที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเขา บีโธเฟ่นผู้ที่ไม่เคยตายจากวงการดนตรีคลาสสิคสร้างเสียงเพลงอมตะประดับโลกใบนี้เอาไว้ให้งดงามแม้หูขอองเขาจะหนวกสนิทในตอนหลัง บีโธเฟน เกิดที่กรุงบอนน์ (อดีตเมืองหลวงประเทศเยอรมนีตะวันตก) เมื่อปลายปี ค.ศ.1770 เป็นบุตรของนักร้องประจำราชสำนักแห่งกรุงบอนน์ นามว่า โยฮานน์ (Johann) มารดานาม Maria Magdalena ชีวิตในวัยเด็กของบีโธเฟน นั้นแสนขมขื่น ท่ามกลางความอัตคัด ขัดสนของครอบครัว พ่อนักร้องขี้เมา พยายามปั้นบีโธเฟนให้เป็น “โมสาร์ท สอง” โดยหวังจะให้ทำเงินหาเลี้ยงครอบครัว (บีโธเฟนเกิดหลังโมสาร์ท 15 ปี) พ่อสอนดนตรีบีโธเฟนน้อยวัย 4-5 ขวบ ด้วยการบังคับให้ฝึกหัดบทเรียนเปียโนที่ยาก ซึ่งถ้าเล่นไม่ได้ก็ทำโทษ เป็นที่คาดเดาในภายหลังว่า ที่บีโธเฟนยังรักดนตรีอยู่ได้ก็เพราะภาพลักษณ์ของคุณปู่ซึ่งเป็นนักร้องประจำราชสำนักที่ประสบความสำเร็จ โยฮานน์พยายามโปรโมตบีโธเฟนน้อย (อายุ 8 ขวบ) ให้เป็นเด็กนักเปียโนมหัศจรรย์อายุ 6 ขวบ แต่ผู้คนไม่ได้ให้ความสนใจนัก พอแผนการไม่ประสบผล โยฮานน์จึงเปลี่ยนจุดหมายให้บีโธเฟนเป็นนักดนตรีอาชีพให้เร็วที่สุด โดยจัดหาคนมาสอนดนตรีเพิ่มเติม

 

ภาพวาด ลุดวิก ฟาน เบโธเฟ่น ใน ค.ศ.1783

ภาพวาด ลุดวิก ฟาน เบโธเฟ่น ใน ค.ศ.1803

 

บีโธเฟน ทำงาน(ครั้งแรก)เลี้ยงงครอบครัวตั้งแต่อายุ 11 ขวบ!

อายุ ได้ 11 ขวบ บีโธเฟน ได้เข้าทำงานเป็นนักออร์แกน ผู้ช่วยประจำราชสำนัก อัจฉริยภาพของ บีโธเฟนน้อยได้ฉายแววให้เห็น ขณะที่บีโธเฟนทำงานเป็นนักดนตรีประจำราชสำนัก ก็ได้พยายามศึกษาเล่าเรียนดนตรีไปจนมีความสามารถด้านการประพันธ์เพลง ขณะเดียวกันก็พยายามศึกษาหาความรู้และพัฒนาความคิดอ่าน จากพื้นฐานความรู้เพียง ป.4 (Grade 4) ที่ได้เรียนมา เพื่อให้สามารถเข้าสังคมกับปัญญาชนและผู้มีอันจะกิน และเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต

 

บ้านเกิดของเบโธเฟ่นที่เมืองบอนน์

บีโธเฟน เล่นเครื่องเปียโนสดให้ โมสาร์ท ฟังเป็นครั้งแรกและทำให้เขาต้องตะลึง!

พออายุได้ 17 ปี ได้รับการสนับสนุนจากผู้หลักผู้ใหญ่และ เพื่อนผู้มีอันจะกิน ให้มีโอกาสไปเยือนกรุงเวียนนาเป็นครั้งแรก มีคำบอกเล่าว่า บีโธเฟนได้แสดงฝีมือด้านเปียโนสดให้โมสาร์ทฟัง จนโมสาร์ทบอกกับคนรอบข้างให้จับตาดูคนนี้ไว้ และว่า วันหนึ่งเขา จะสร้างผลงานให้คนทั้งโลกกล่าวถึง บีโธเฟนอยู่ที่เวียนนาได้ไม่ถึง 2 อาทิตย์ก็ต้องรีบเดินทางกลับกรุงบอนน์เพราะได้รับข่าวว่าแม่ป่วยหนัก หลังจากที่แม่สิ้นชีวิตลง เขาต้องทำงานหนักเพื่อดูแลครอบครัว ซึ่งมีทั้งพ่อและน้องอีก 2 คน

 

บีโธเฟน โชว์ผลงานการประพันธ์ดนตรี ครั้งแรก และเริ่มฝึกวิทยาศิลป์

ปี ค.ศ.1792 ระหว่างทางที่โยเซฟ ไฮเดน (Joseph Haydn) ปรมาจารย์ทางดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งยุค เดินทางกลับจากอังกฤษ ได้แวะเยี่ยมเยียนราชสำนักกรุงบอนน์ เป็นโอกาสที่บีโธเฟน ได้เข้าพบ และโชว์ผลงานการประพันธ์ดนตรี ไฮเดนทึ่งในความสามารถและเห็นแววอัจฉริยะของบีโธเฟน ได้เสนอให้ไปเรียนดนตรีที่กรุงเวียนนากับเขา ซึ่งแผนการนี้ก็เป็นจริงจากการสนับสนุนของหลายฝ่ายเมื่อปลายปี สัมพันธภาพระหว่างอาจารย์และศิษย์ต่างวัยเป็นไปได้ไม่ดีนัก ด้วยศิษย์เป็นหนุ่มไฟแรงอารมณ์ร้อน หยิ่ง และดื้อรั้น ตัวบีโธเฟนเองก็ไม่พอใจการสอนของไฮเดน แต่ก็ยังเกรงใจอาจารย์ผู้อาวุโส เขาจึงแอบย่องไปเรียนกับนักดนตรีผู้มีชื่อเสียงหลายคน โดยระหว่างนั้น บีโธเฟนเองก็มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักเปียโนที่มีความสามารถด้านเปียโนสดได้เก่งที่สุดแห่งยุค ต่อจากโมสาร์ท ซึ่งสิ้นชีวิตไปแล้ว ชื่อเสียงและความสามารถในการเล่นเปียโนของ บีโธเฟน ทำให้ฐานะทางการเงินดีขึ้น แต่เขายังไม่ได้แสดงผลงานเพลงออกสู่สาธารณะ เพราะอยู่ระหว่างฝึกวิทยาศิลป์

ผลงานการประพันธ์ของ บีโธเฟน  ออกสู่สายตาประชาชนเป็นครั้งแรก

หลังจากจบการศึกษาดนตรีกับอาจารย์ ไฮเดนและอื่นๆ ในปี 1795 เขาได้แสดงผลงานเพลงและเริ่มสร้างชื่อเสียงในฐานะนักประพันธ์ดนตรีอย่างเต็มตัว ผลงานเพลงยุคแรกของบีโธเฟน จะมีรูปแบบคล้ายคลึงกับดนตรีของไฮเดน และโมสาร์ท แต่ก็ยังแฝงความเป็นบีโธเฟนอยู่ด้วย และได้รับการยอมรับจากสาธารณชนอย่างรวดเร็ว ผลงานช่วงนี้ของบีโธเฟนที่น่าสนใจ ได้แก่ เปียโนทรีโอ 1 เปียโนโซนาตา 2 เปียโนโซนาตา 7 เปียโนโซนาตา 13 (Pathetique) เป็นต้น บีโธเฟนเป็นคนที่มีความทะเยอ ทะยานสูง หยิ่ง เจ้าอารมณ์ และรักเสรีภาพเป็นชีวิตจิตใจ สาเหตุอาจมาจากความเก็บกดจากสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก และบีโธเฟนมีชีวิตอยู่ในช่วงเดียวกับนโปเลียน เชื่อว่าเขาได้รับอิทธิพลจากเรื่องราวของนโปเลียนเป็นอย่างมาก

บีโธเฟน เริ่มแต่งเพลงแหกกฎเกณฑ์ทางดนตรี และออกนอกรีตนอกรอยมากขึ้น จึงเกิดเป็น ยุคโรแมนติก (Romantic Period)

เขามีแนวความคิดเป็นนักปฏิวัติทั้งในด้านดนตรีและความคิดทางสังคม เขามักได้รับการตำหนิจากปรมาจารย์อาวุโส ว่า แต่งเพลงแหกกฎเกณฑ์ทางดนตรีและออกนอกรีตนอกรอย บีโธเฟนไม่ฟังคำตำหนิเหล่านั้น ยังคงพัฒนาดนตรีไปตามแนวทางของตนอย่างเอาจริงเอาจัง โดยมีความใฝ่ฝันจะสร้างผลงานดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์พึงสร้างได้ สิ่งที่บีโธเฟนกำลังทำอยู่คือการสอดแทรก ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของตนลงในดนตรี ซึ่งถือเป็นสิ่งผิดวิสัยในยุคนั้น (ที่เรียกว่า Classical period) ดนตรีขั้นสูงคือรูปแบบทางศิลปที่สมบูรณ์ สูงส่ง และอยู่เหนือความเป็นมนุษย์ แต่สิ่งที่บีโธเฟนกำลังทำอยู่นั้นกลับเป็นการพลิกโฉมหน้าของโลกศิลปการดนตรี และทำให้นักวิชาการด้านดนตรี ต้องตั้งชื่อยุคของดนตรีขึ้นใหม่ ที่เรียกว่า ยุคโรแมนติก (Romantic Period) การปฏิบัติตัวในสังคม บีโธเฟน ปฏิเสธการเป็นนักดนตรีในฐานะคนรับใช้ ของผู้มีอันจะกิน ทุกครั้งที่เขารับจ้างไปแสดงดนตรีในสถานที่ส่วนตัว เขาจะต้องได้รับการปฏิบัติดังเช่นแขกผู้ได้รับเชิญ ได้ร่วมโต๊ะอาหารกับเจ้าบ้าน ค่าจ้าง คือ สิ่งตอบแทนด้วยมิตรภาพ เขาจะแสดงความไม่พอใจออกมาอย่างไม่เกรงใจ ถ้าไม่ได้รับการปฏิบัติต่อเขาอย่างเหมาะสม

บีโธเฟน ประสบความสำเร็จแต่เริ่มมีอาการหูหนวก

บีโธเฟนประสบความสำเร็จในด้านการงานได้ไม่นาน เคราะห์กรรมก็กลับมาเยี่ยมเยือน เขาได้รับของขวัญส่งท้ายศตวรรษเก่าเข้าสู่ศตวรรษใหม่เป็นอาการหูหนวก เป็นเคราะห์กรรมที่น่าเกลียดยิ่ง สำหรับนักดนตรีที่กำลังฉายแววความยิ่งใหญ่ หลังจากที่บีโธเฟนตระหนักว่า อาการหูหนวกของเขาไม่สามารถจะรักษาได้และมีอาการรุนแรงจนถึงหนวกสนิท วันที่ 6 ตุลาคม ปี ค.ศ.1802 เขาได้เขียนจดหมายกึ่งลาตายกึ่งพินัยกรรม ถึงน้องชายทั้งสองของเขา แต่อีก 4 วันต่อมาก็เขียนอีกฉบับมีใจความล้มเลิกความคิด บีโธเฟนค่อยๆ รักษาแผลในใจ ที่เกิดจากเคราะห์กรรมที่ได้เผชิญ จนจิตใจเขาแข็งแกร่งกว่าที่เคย ดนตรีของเขาในช่วงนั้นจึงแสดงถึงเรื่องราวของฮีโร่ ความรู้สึกต่อชัยชนะ ธรรมชนะอธรรม และความยิ่งใหญ่ของความเป็นมนุษย์ ซึ่งก็ตรงกับชีวิตจริงของเขาที่แต่งเพลงสู้กับหูหนวก และยังได้ผลงานที่ยอดเยี่ยมฝากไว้ให้ชาวโลกสมความตั้งใจ

ผลงานอันโด่งดังในช่วงนี้ได้แก่ ซิมโฟนีหมายเลข 5 ที่เบโธเฟ่นถ่ายทอดท่วงทำนองออกมาเป็นจังหวะ สั้น - สั้น - สั้น - ยาว อาการไม่ได้ยินรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และ ซิมโฟนีหมายเลข 9 ที่เขาประพันธ์ออกมาเมื่อหูหนวกสนิทตั้งแต่ปี ค.ศ. 1819 เป็นต้นมา รวมทั้งบทเพลงควอเต็ตเครื่องสายที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขาก็ประพันธ์ออกมาในช่วงเวลานี้เช่นกัน

ภาพวาด ลุดวิก ฟาน เบโธเฟ่น ใน ค.ศ.1823 ก่อนเสียชีวิต 4 ปี

26 มีนาคม ค.ศ. 1827 เบโธเฟ่นก็เสียชีวิตลง พิธีศพของเขาจัดขึ้นอย่างอลังการในโบสถ์เซนต์ ตรินิตี โดยมีผู้มาร่วมงานกว่า 20,000 คน ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่สุสานกลางในกรุงเวียนนา

เพิ่มเติมโดย  พรชัย  สังเวียนวงศ์ (mata)

ขอบคุณภาพจาก http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Beethoven_Waldmuller_1823.jpg

ที่มา: http://teen.mthai.com/variety/59511.html
Credit: http://board.postjung.com/681970.html
3 มิ.ย. 56 เวลา 16:08 1,605 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...