นักเลงรถที่หลงใหลความหรูหรา โฉบเฉี่ยว และความแรง ของรถยนต์ประเภทซุปเปอร์คาร์คงลอบถอนใจแอบเสียดายลึกๆ กับเหตุการณ์รถพ่วงบรรทุกเก๋งสปอร์ต 6 คันจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่เป้าหมายตามออเดอร์ลูกค้าจังหวัดศรีสะเกษ จู่ๆ ก็ประสบเพลิงไหม้ เผาผลาญบีเอ็ม ดับเบิลยู เบนท์ลีย์ ลัมโบร์กีนี และเฟอร์รารี รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท วอดไปกับเปลวไฟ ทิ้งปริศนาไว้หลายประการ เพราะขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีใครแสดงตัวเป็นเจ้าของ เอกสารประกอบตัวรถยนต์ที่มีอยู่น้อยนิด รวมไปถึงสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ และที่ฉงนยิ่งกว่า รถยนต์ระดับซุปเปอร์คาร์ทั้ง 4 คันติดตั้งก๊าซแอลพีจี!!!ผู้อยู่ในแวดวงนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศอธิบายเพื่อให้ภาพชัดเจนมากขึ้นว่า พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น คล้ายกับที่เคยทำกันมาตลอดก่อนหน้านี้ ของกลุ่มพ่อค้านำเข้ารถยนต์หรูเพื่อจำหน่ายให้กับคนมี "รถนิยม" ประเภทเร็ว แรง แซงไม่เห็นฝุ่น แต่ราคาถูกกว่าท้องตลาด โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายหลีกเลี่ยงจ่ายภาษีในอัตราสูง ที่เรียกว่า "จดประกอบ" และมักจะมีเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานร่วมเกี่ยวข้องด้วย แต่ภาครัฐสูญเสียรายได้จากภาษี 25-30% ต่อรถหนึ่งคัน
ขบวนการนำเข้ารถสปอร์ตเหล่านี้ จะใช้วิธีการไปประมูลรถยนต์ดังกล่าว ซึ่งเป็นรถมือ 2 จากต่างประเทศ จากนั้นจะสำแดงการนำเข้าว่าเป็นอะไหล่ แต่จริงๆ แล้วเป็นการนำเข้ารถทั้งคัน เพียงแต่มีการถอดเครื่องยนต์ ล้อรถยนต์ หรือชิ้นส่วนบางอย่างออกไปเท่านั้น เมื่อมีการขนส่งมาถึงเมืองไทยก็จะไปขอออกใบอินวอยซ์แสดงรายการสินค้าจากศุลกากร โดยเฉพาะหมายเลขโครงแชสซีส์ของรถเพื่อเสียภาษีศุลกากร จากนั้นจะนำใบอินวอยซ์ที่ได้ ไปยื่นแจ้งประกอบรถยนต์ขึ้นมาใหม่ หรือที่เรียกว่ารถจดประกอบ ซึ่งจะเสียภาษีสรรพสามิตในอัตราต่ำ ส่วนขั้นตอนที่ต้องเข้าตรวจมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งมีการตรวจวัดมาตรฐานเข้มงวด ก็มีช่องทางให้หลบเลี่ยง ด้วยการสำแดงว่าเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนเป็นเชื้อเพลิง หรือรถที่ใช้ก๊าซแอลพีจี เอ็นจีวี เมื่อการซิกแซ็กเป็นอันเสร็จสมบูรณ์ จึงนำเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปยื่นขอจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกในแถบปริมณฑล หรือจังหวัดในภูมิภาค ถอดอุปกรณ์ติดตั้งก๊าซออก และจะขอให้มีการล้างเล่ม (สมุดจดทะเบียนรถ) ใหม่ ไม่ให้มีการระบุในท้ายเล่มว่าเป็นรถที่ใช้พลังงานทดแทน เพื่อให้แนบเนียนในการจำหน่ายต่อให้ผู้ชื่นชอบรถราคาแพงในราคาต่ำกว่าท้องตลาด
วิธีการที่ขบวนการนำเข้าใช้นี้ ทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้มหาศาลนับสิบๆ ล้านบาท และรถที่หลีกเลี่ยงด้วยวิธีการจดประกอบเหล่านี้ มีสิทธิถูกเจ้าหน้าที่สรรพสามิต หรือตำรวจยึดไปตรวจสอบได้ โดยผู้ซื้อที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจต้องน้ำตาตกในเพราะถูกย้อมแมวจากผู้ขาย อาจถูกปรับให้เสียภาษีย้อนหลัง หรือถึงขั้นถูกยึดรถก็มี จากข้อมูลพบว่าในปัจจุบัน น่าจะมีรถสปอร์ตที่หลีกเลี่ยงภาษีด้วยการจดประกอบ ไม่ต่ำกว่า 1 พันคัน ทุกฝ่ายน่าจะช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังในเรื่องนี้ แม้ตำรวจมีหน้าที่กวดจับหลังเกิดเหตุ แต่หน่วยงานที่ป้องปรามไม่ให้เกิดเรื่องขึ้น ควรประสานการทำงานอย่างใกล้ชิด รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของขบวนการนี้ ในอนาคตอาจต้องมีการตรวจสอบรถสปอร์ตที่แจ้งติดก๊าซอย่างจริงจัง ว่ามีการติดถังก๊าซจริง ไม่ใช่อ้างลอยๆ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ด้วยเหตุนี้ พอจะเป็นคำตอบอย่างคร่าวๆ ได้ว่า เหตุใดรถซุปเปอร์คาร์จึงชอบดมก๊าซ และเหตุใดจึงออกไปจดทะเบียนในต่างจังหวัด