ไปรู้จักหมุดแผนที่ประเทศไทยที่อุทัยธานี

เดี๋ยวนี้จะเดินทางไปไหนมาไหนใครๆ ก็พึ่งพาแผนที่ไฮเทคที่เขาเรียกกันว่า GPS (Global Positioning System ) หรืออุปกรณ์ระบุตำแหน่งบนพื้นโลกโดยใช้เครือข่ายดาวเทียม ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่หน้าตาคล้ายโทรศัพท์มือถือ มีความแม่นยำสูง นับได้ว่าสะดวกสบายกว่าคนรุ่นก่อนที่ต้องกางแผนที่แผ่นใหญ่เท่ากระโปรงรถดูตำแหน่งก่อนออกเดินทางไปไหนมาไหนไกลๆ


พูดถึงเรื่องแผนที่แล้ว มาทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์การทำแผนที่ในประเทศไทยกันดีกว่า ประวัติศาสตร์การทำแผนที่ในประเทศไทยนั้นมีมานานนับร้อยปี ส่วนใหญ่ใช้ในกิจการเดินเรือ ล่วงมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีการทำแผนที่โลกฉบับมาตรฐาน โดยใช้ระบบการปักหมุดหลักฐานเพื่อการรังวัดจากหมุดหนึ่งไปอีกหมุดหนึ่ง ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมเพื่อใช้ในการคำนวณแบบตรีโกณมิติหาขนาดพื้นที่

ในทวีปเอเชียมีการปักหมุดหลักฐานอ้างอิงอยู่ที่เขากะเลียนเปอร์ ประเทศอินเดีย วัดข้ามประเทศพม่าเข้ามาเมืองไทยเพื่อเชื่อมกับหมุดหลักฐานบนเขาหลวง อ. เมือง จ. ราชบุรี ซึ่งเป็นจุดอ้างอิงในการทำแผนที่ประเทศไทย โดยมีกรมแผนที่ทหารเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ

ต่อมาในการทำแผนที่โดยใช้รังวัดแบบสามเหลี่ยมมีความคลาดเคลื่อน กรมแผนที่ทหารจึงเปลี่ยนมาใช้ระบบการรังวัดแบบ WGS 84 (World Geodetic System 1984) ที่อ้างอิงเส้นสมมุติลองติจูด (เส้นแวง) เส้นสมมุติละติจูด (เส้นรุ้ง) และความสูงโดยใช้เครือข่ายดาวเทียมวัดจากหมุดหลักฐานที่ปักอยู่บนพื้นดินในปี 2534 แต่ปรากฎว่าการวัดจากหมุดหลักฐานแผนที่บนเขาหลวง จ. ราชบุรีนั้นเกิดความคลาดเคลื่อน กรมแผนที่ทหารจึงหันมาใช้หมุดหลักฐานแผนที่บนเขาสะแกกรัง อ. เมือง จ. อุทัยธานี เป็นหมุดเริ่มต้นของการทำแผนที่สมัยใหม่ด้วยดาวเทียม ทั้งเป็นหมุดหลักในการปักหมุดในพื้นอื่นๆ ด้วย

หมุดแผนที่ตั้งอยู่บนเขาสะแกกรัง จ. อุทัยธานี ห่างจากวัดสังกัสรัตนคีรีประมาณ 500 ม. แม้หมุดแผนที่จะไม่สวยงามแต่ก็มีความสำคัญในการรังวัดทำแผนที่ของไทย นอกจากนี้บริเวณโดยรอบยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ของเมืองอุทัยธานีได้อย่างกว้างไกลสุดสายตา

Credit: http://travel.sanook.com/1386846/%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9
3 มิ.ย. 56 เวลา 05:31 4,886 1 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...